ประเทศไหนที่มีผู้บริหารประเทศไร้วิสัยทัศน์ ขาดภาวะผู้นำ และไม่มีความรู้ความสามารถในการจัดการกับวิกฤตต่างๆ ที่รุมล้อมประเทศชาติ ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตการเมือง นับเป็นปมสำคัญทำให้ประเทศต้องย่ำอยู่กับที่ อยู่ไปวันๆ แบบไร้ทิศทาง และจมอยู่ในวังวนของปัญหาเดิมๆ
โดยเฉพาะในยุคที่โลกปั่นป่วน สถานการณ์โลกมีความไม่แน่นอนสูง ผู้บริหารประเทศต้องเลิกมองสั้น ควรเรียนรู้ศาสตร์แห่งการเป็นผู้นำให้มากกว่านี้ และควรเติมอาหารสมองเรียนรู้ประสบการณ์ในการแก้ปัญหาวิกฤตชาติของผู้นำในประเทศอื่นด้วย ควรเรียนรู้ว่า ทำไมผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ มียุทธศาสตร์ในการบริหารประเทศ และมีการวางแผนระยะยาว รวมทั้งการลงมือทำอย่างจริงจัง จะสามารถนำพาประเทศฝ่าฟันวิกฤตและจัดการปัญหาต่างๆ ของชาติบ้านเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บทความนี้จึงขอแนะนำหนังสือที่ผู้นำรัฐบาลไทยควรอ่าน และมีหลายส่วนของหนังสือนี้ที่น่าจะนำไปปรับประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการบริหารประเทศ โดยคำนึงถึงบริบทภายในด้วย (ไม่ใช่การลอกเลียนแบบหรือก๊อปปี้ไปใช้ทั้งหมด เพราะระบบการปกครองและบริบทภายในของแต่ละประเทศย่อมมีความแตกต่างกัน)
ดิฉันได้มีโอกาสอ่านหนังสือ ‘Xi Jinping: The Governance of China’ ที่ได้รับการแปลมากกว่า 40 ภาษาทั่วโลก รวมทั้งเวอร์ชั่นที่แปลเป็นภาษาไทย ภายใต้ชื่อหนังสือว่า ‘สีจิ้นผิง ยุทธศาสตร์การบริหารประเทศ’ ซึ่งมี 2 เล่ม คือ เล่มแรก ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน เมื่อมิถุนายน 2014 และเล่มที่สอง โดยศูนย์วิจัยหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางไทย-จีน ตีพิมพ์เมื่อตุลาคม 2017 เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้มีหลายประเด็นที่ผู้นำรัฐบาลไทยควรเรียนรู้ สรุปดังนี้
ประเด็นแรก จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ คือ การชี้ให้เห็นว่า ผู้บริหารประเทศจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ และมีการวางแผนระยะยาวอย่างเป็นระบบ กรณีของผู้นำจีน ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งแรกในปี 2013 สีจิ้นผิงก็ได้ประกาศ ‘ความฝันของจีน’ (Zhong Guo Meng) และเป้าหมายในการ ‘ฟื้นฟูชาติ’ (Fuxing) ให้จีนกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง
ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และสามารถเชื่อมโยงกับเป้าหมายระยะยาว รวมทั้งมีแผนปฏิบัติที่ต่อเนื่อง ไม่มีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามผลประโยชน์ของกลุ่มการเมือง ย่อมจะทำให้ประเทศสามารถเดินหน้าพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีผลงานเป็นรูปธรรมจับต้องได้
ประเด็นที่สอง ความกล้าหาญที่จะปรับโครงสร้างประเทศแบบยกเครื่องหรือการปฏิรูปเชิงระบบ แล้วลงมือทำอย่างจริงจัง ในกรณีของจีน สิ่งที่สีจิ้นผิงลงมือทำ คือ ‘การปฏิรูปเชิงลึกรอบด้าน’ (comprehensive deepening reform) ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ เช่น การลดการพึ่งพาภาคต่างประเทศ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี การขจัดความยากจน การมุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียว การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนระบบราชการ และภาคการศึกษา เป็นต้น โดยจีนจะใช้วิธีทดลองในระดับท้องถิ่นก่อนจะขยายผลไปทั่วประเทศ ในหนังสือเล่มนี้ มีการบอกเล่าถึงกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริงในหลายท้องถิ่นของจีน
ดังนั้น บทเรียนสำหรับผู้นำรัฐบาลไทย คือ ต้องมีเป้าหมายอย่างชัดเจน ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการปฏิรูปเชิงระบบในลักษณะ structural reform แบบยกเครื่อง ไม่ใช่เป็นเพียงการปรับปรุงเล็กน้อย หรือการปรับแก้เฉพาะหน้าไปวันๆ ต้องไม่เป็นเพียงการลูบหน้าปะจมูก ทำงานแบบไร้ทิศทาง
ทั้งนี้ ภายใต้ระบบที่แตกต่างกับระบบแบบจีน หากภาครัฐของไทยจะปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของประเทศ จำเป็นต้องมีการสร้างความเข้าใจร่วมกับสังคมผ่านการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ มากกว่าการใช้อำนาจสั่งการเท่านั้น
ประเด็นที่สาม ด้านการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Transition) เนื้อหาในหนังสือยกตัวอย่างกรณีของจีนที่มีการขับเคลื่อน Green Transition ใช้นโยบายที่รัฐเป็นผู้นำและลงมือทำอย่างจริงจัง จึงเป็นอีกตัวอย่างของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ไทยควรเรียนรู้ และควรกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวระดับประเทศ ไม่ใช่แค่แผนระดับกระทรวง รวมทั้งการเน้นสร้างความเป็นเอกภาพในการดำเนินการ
หนังสือเล่มนี้ถ่ายทอดมุมมองเชิงยุทธศาสตร์ของผู้นำจีนในการมุ่งส่งเสริมการพัฒนาแบบ ‘ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม’ และผลักดันให้ชุมชนสามารถสร้างรายได้จากการอนุรักษ์ธรรมชาติ เช่น คาร์บอนเครดิต การสร้างพลังงานหมุนเวียนระดับหมู่บ้าน เป็นต้น แนวคิดที่จีนได้ขยายผลอย่างเป็นระบบ และบรรจุในนโยบายระดับชาติและมีตัวชี้วัดเชิงบังคับให้ต้องทำให้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ เช่น เป้าหมาย Carbon Neutrality และการสร้าง Green Development Zones เป็นต้น
หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาหลายบทที่เน้นว่า “ประเด็น Green Transition ไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เป็นยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศอย่างครบวงจร” สีจิ้นผิงผลักดันให้มีการสร้าง ‘อารยธรรมเชิงนิเวศ’ (Ecological Civilization) เป็นหนึ่งในเป้าหมายของจีนยุคใหม่ เน้น ‘การเติบโตที่ไม่ก่อมลพิษ’ และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเป็นหัวใจของการพัฒนา ในการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสะอาด ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง รวมทั้งการร่วมมือระหว่างประเทศ
สีจิ้นผิงพูดถึงบทบาทของจีนในฐานะประเทศมหาอำนาจที่ต้องร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลก โดยกล่าวว่า “จีนจะดำเนินนโยบายที่รับผิดชอบต่อโลก ปกป้องสิ่งแวดล้อมร่วมกันกับนานาชาติ เพื่อให้โลกนี้น่าอยู่สำหรับคนรุ่นหลัง”
ประเด็นที่สี่ การดำเนินนโยบายต่างประเทศเชิงรุก ในกรณีของจีน สีจิ้นผิงได้เดินเกมใช้เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือทางการทูตในเชิงรุกภายใต้ข้อริเริ่ม ‘Belt and Road Initiative: BRI’ หนังสือเล่มนี้รวบรวมคำกล่าวของสีจิ้นผิง แนวคิดและแนวนโยบายที่สีจิ้นผิงใช้สร้างเครือข่ายทางเศรษฐกิจและการทูตในมิติต่างๆ เพื่อสร้างพันธมิตรใหม่ๆ ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกอย่างเป็นระบบ ทำให้จีนมีความโดดเด่นในฐานะประเทศมหาอำนาจใหม่ของโลกเคียงคู่มหาอำนาจเดิมอย่างสหรัฐฯ ได้อย่างชัดเจน
บทเรียนสำหรับไทย แม้ว่าไทยจะเป็นประเทศขนาดกลาง แต่ก็เป็นประเทศแถวหน้าในกลุ่มอาเซียน จึงสามารถเรียนรู้แนวทางหลายด้านจากหนังสือเล่มนี้ โดยเฉพาะการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก และเน้นนโยบายสร้างเพื่อนใหม่ (Make Friends) ให้ครอบคลุมมากกว่านี้ ไม่จำกัดเพียงแค่ความร่วมมือในระดับภูมิภาคหรือระดับอนุภูมิภาคกับประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น แต่ควรขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มโลกขั้วใต้ (Global South) ให้มากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสในการกระจาย (diversify) การส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ ผู้นำไทยสามารถเรียนรู้ประสบการณ์ของจีนด้านการต่างประเทศได้จากหนังสือเล่มนี้
ประเด็นสุดท้าย ข้อสังเกตจากหนังสือเล่มนี้ ในด้านการเมือง มีบางประเด็นที่ถูกตั้งคำถามจากนักวิชาการตะวันตก โดยเฉพาะในเรื่องการกระชับอำนาจบริหาร แต่ผู้นำจีนก็พยายามสร้างความชอบธรรมผ่านผลงานที่เป็นรูปธรรม ทำให้ประชาชนจีนจำนวนมากยังคงให้การสนับสนุนผู้นำของตน
ตัวอย่างเช่น ความแน่วแน่ในการขจัดความยากจนในประเทศจีนได้สำเร็จ ช่วยให้ผู้ยากไร้ในชนบท 98.99 ล้านคนมีรายได้พ้นเส้นแบ่งความยากจน และรัฐบาลจีนก็ไม่ได้หยุดภารกิจเพียงแค่นี้ ยังคงเดินหน้าดำเนินการแก้ปัญหาระยะต่อไป ด้วยการใช้นโยบาย ‘ฟื้นฟูชนบท’ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างความกินดีอยู่ดีให้กับชาวจีนในชนบท เพื่อไม่ให้กลับไปยากจนอีก ทั้งหมดนี้สะท้อนความพยายามในการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพื่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
หนังสือเล่มนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่า ผู้นำสามารถสร้างความชอบธรรมด้วยการสร้าง ‘ผลลัพธ์ที่ประชาชนจับต้องได้’ ผลงานที่ทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง จะช่วยให้ผู้นำได้รับศรัทธาและการยอมรับจากประชาชนมากขึ้น
โดยสรุป หนังสือเล่มนี้ คือ ศาสตร์ในการบริหารประเทศที่ผู้นำรัฐบาลควรเรียนรู้ และปรับประยุกต์นำไปใช้ ในกรณีของจีน การมีเป้าหมายชาติที่ชัดเจน ประเทศจะไปทางไหน และการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง สามารถระดมพลังจากทั้งสังคมได้ แต่ขอย้ำว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ตำราสำหรับลอกเลียนแบบ แต่เป็นกรณีศึกษาประสบการณ์ของผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และปฏิบัติจริง จนเห็นผลที่เป็นรูปธรรม ผู้นำรัฐบาลไทยสามารถเลือกเรียนรู้ในมุมที่เหมาะกับบริบทภายในของประเทศ หนังสือเล่มนี้เป็นอาหารสมองชั้นเลิศ ช่วยชี้แนวทางในการสร้างภาวะผู้นำ และเรียนรู้ว่า ศาสตร์ในการบริหารประเทศอย่างมีประสิทธิภาพควรเป็นอย่างไร
หนังสือ ‘สีจิ้นผิง ยุทธศาสตร์การบริหารประเทศ’ เล่มแรกเป็นการรวบรวมวาทะสำคัญของสีจิ้นผิง ในการกล่าวสุนทรพจน์ ปาฐกถา ถ้อยแถลง บทสัมภาษณ์ โอวาท จดหมายอวยพร ฯลฯ ระหว่างวันที่ 15 พฤศจิกายน ปี 2012 ถึงวันที่ 13 มิถุนายน ปี 2014 และหนังสือเล่มที่สอง เป็นการรวบรวมข้อมูลฯ ในช่วงระหว่างวันที่ 18 สิงหาคม ปี 2014 ถึงวันที่ 29 กันยายน ปี 2017