×

จับตาเลือกตั้งประธานาธิบดีตุรกี 14 พฤษภาคม ‘โอกาส’ หรือ ‘จุดจบ’ อำนาจ 20 ปี แอร์โดอัน

11.05.2023
  • LOADING...
Recep Tayyip Erdoğan

ตุรกีเตรียมจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภาในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ซึ่งตรงกับวันจัดการเลือกตั้ง ส.ส. ของไทย โดยการเลือกตั้งของตุรกีครั้งนี้ถูกจับตามองจากผู้สังเกตการณ์ ที่คาดว่าจะเป็นบททดสอบที่ยากที่สุดของประธานาธิบดีเรเจป ไตยิป แอร์โดอัน หลังจากครองอำนาจผู้นำประเทศมายาวนานถึง 20 ปี ตั้งแต่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (2003-2014) จนมาถึงตำแหน่งประธานาธิบดี (2014 – ปัจจุบัน)

 

ความยากและท้าทายสำหรับแอร์โดอันคือการเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังย่ำแย่และภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูง ในขณะที่ผู้สมัครจากพรรคคู่แข่งใช้ประโยชน์จากความตื่นตระหนกของประชาชน ด้วยการให้คำมั่นสัญญาว่าจะปรับปรุงสภาพเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม แอร์โดอัน และพรรค AK ของเขายังคงได้รับการสนับสนุนอย่างหนักแน่นจากกลุ่มผู้รักชาติและกลุ่มอนุรักษนิยมทางศาสนาที่มีจำนวนมาก และเชื่อว่าชัยชนะของพรรคฝ่ายค้านนั้นอาจเป็นการนำพาประเทศกลับไปสู่ยุคที่พวกเขารู้สึกถูกกดขี่

 

และนี่คือรายละเอียดที่น่าสนใจสำหรับการเลือกตั้งใหญ่ครั้งสำคัญของตุรกี และข้อมูลของผู้สมัครตัวเต็งจากพรรคต่างๆ ที่จะมาท้าชิงเก้าอี้ผู้นำของแอร์โดอัน

 

ระบบเลือกตั้งตุรกี

 

  • การเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภาตุรกี ปกติจะจัดขึ้นในวันเดียวกันทุกๆ 5 ปี โดยในปีนี้เดิมทีการเลือกตั้งกำหนดไว้ในวันที่ 18 มิถุนายน แต่ถูกเลื่อนมาให้เร็วขึ้นเป็นวันที่ 14 พฤษภาคม

 

  • ในเดือนกรกฎาคม 2018 ตุรกีเปลี่ยนจากระบบบริหารแบบรัฐสภามาเป็นการรวมอำนาจทางการเมืองเกือบทั้งหมดไว้ที่ประธานาธิบดี ซึ่งภายใต้ระบบใหม่นี้ ประชาชนจะได้ใช้สิทธิในการลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีโดยตรง และยกเลิกบทบาทของนายกรัฐมนตรี

 

  • ขณะที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีต้องได้คะแนนเสียงมากกว่า 50% ของทั้งหมดจึงจะชนะ แต่หากไม่มีใครได้คะแนนถึง 50% ผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุด 2 อันดับแรกจะได้ไปเผชิญหน้ากันในการลงคะแนนรอบ 2 ในอีก 2 สัปดาห์ต่อมา

 

  • นอกจากนี้ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะได้ลงคะแนนเลือกสมาชิกสภาแห่งชาติจำนวน 600 คน ผ่านระบบสัดส่วนแบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์

 

ผู้สมัครตัวเต็งมีใครบ้าง และมีแนวโน้มอย่างไร?

 

เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน (Recep Tayyip Erdogan) 69 ปี

 

  • ในการเลือกตั้งครั้งนี้แอร์โดอันที่แม้จะเป็นผู้นำพรรค AK แต่ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัยในนามตัวแทนของพรรค People’s Alliance ซึ่งเป็นแนวร่วมของพรรค AK และพรรคฝ่ายขวาอีกหลายพรรค

 

  • โดยจุดที่เชื่อว่ายังสามารถดึงดูดคะแนนเสียงให้แอร์โดอันได้รับเลือกคือ บทบาทผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและหน่วยงานต่างๆ ของตุรกีในช่วงยุคทศวรรษ 2000 และช่วงต้นทศวรรษ 2010 ซึ่งประชาชนจำนวนมากมองว่าเป็นผลงานที่ทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น และมองว่าแอร์โดอันได้สร้างความแข็งแกร่งให้กับตุรกีในเวทีระหว่างประเทศ ตลอดจนเพิ่มบทบาทและอิทธิพลของประเทศ

 

  • อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ท้าทายคือภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำของตุรกีในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งบั่นทอนความนิยมของเขา

 

  • นอกจากนี้เขายังถูกกล่าวหาในการปราบปรามกลุ่มต่อต้าน แม้ว่าฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลของเขาจะโต้แย้งว่าการเคลื่อนไหวและปราบปรามฝ่ายต่อต้านดังกล่าวมีความจำเป็น เนื่องจากแอร์โดอันเคยเผชิญกับเหตุการณ์ความพยายามก่อรัฐประหารในปี 2016 และยังเผชิญการคุกคามจากกลุ่มก่อการร้ายด้วย

 

คำมั่นสัญญาที่ให้ประชาชน: ความต่อเนื่องของระบบประธานาธิบดีคุมอำนาจบริหาร, อัตราดอกเบี้ยที่ลดลง, ตุรกีจะเข้มแข็ง มีอิสระและมีอิทธิพลไปทั่วภูมิภาค

 

เคมัล คิลิกดาโรกลู (Kemal Kilicdaroglu) 74 ปี

 

  • คิลิกดาโรกลูเป็นหัวหน้าพรรคกลางซ้าย CHP และผู้ท้าชิงหลักของแอร์โดอัน โดยลงสมัครชิงประธานาธิบดีในฐานะตัวแทนกลุ่มพันธมิตรพรรคการเมือง Nation Alliance ที่ประกอบด้วย 6 พรรคฝ่ายค้าน

 

  • เขานิยามตัวเองว่าเป็น ‘นักประชาธิปไตย’ และเป็นที่รู้จักจากวาทศิลป์ต่อต้านการคอร์รัปชัน แต่ถูกกล่าวหาจากฝ่ายตรงข้ามว่าใกล้ชิดกับตะวันตกมากเกินไป

 

  • อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์มองว่าความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งของเขากว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าเขาไม่แข็งแกร่งพอที่จะเอาชนะแอร์โดอันและเป็นผู้นำตุรกี

 

  • บทบาทของคิลิกดาโรกลูก่อนเริ่มงานการเมือง เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญกระทรวงการคลัง จากนั้นได้เป็นประธานหน่วยงานประกันสังคมของตุรกีในช่วงทศวรรษ 1990 

 

คำมั่นสัญญาที่ให้ประชาชน: พาตุรกีกลับสู่ ‘ระบบรัฐสภาที่เข้มแข็ง’, แก้ปัญหาชาวเคิร์ด, ส่งผู้ลี้ภัยชาวซีเรียกลับบ้าน, ขยับเข้าใกล้สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกามากขึ้น

 

มูฮาร์เรม อินซ์ (Muharrem İnce) 59 ปี

 

  • อินซ์เป็นผู้สมัครจากพรรค Homeland และเป็นผู้สมัครเพียงคนเดียวที่ไม่มีกลุ่มพันธมิตรพรรคการเมืองให้การสนับสนุน โดยเขานิยามการเคลื่อนไหวท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งนี้ว่าเป็น ‘แนวทางที่สาม’

 

  • เขาเคยเป็นอดีตรองหัวหน้าพรรค CHP และเป็นผู้สมัครของพรรคในการเลือกตั้งเมื่อปี 2018 โดยได้อันดับ 2 แต่ต่อมาในปี 2021 ได้แยกตัวออกจากพรรค และวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของพรรคว่าขาดความเป็นประชาธิปไตย

 

  • หนึ่งในนโยบายเลือกตั้งของเขาซึ่งเป็นที่ฮือฮา คือการออกมาเรียกร้องให้นักสังคมประชาธิปไตยและผู้รักชาติรวมตัวกันต่อต้านพรรคการเมืองอิสลาม

 

คำมั่นสัญญาที่ให้ประชาชน: ส่งผู้ลี้ภัยกลับไปยังประเทศบ้านเกิด และฟื้นฟูแนวคิด ‘ฆราวาสนิยม’ (Secularism) ในตุรกี

 

ซินาน โออัน (Sinan Ogan) 55 ปี

 

  • โออันเป็นผู้สมัครจากกลุ่มพันธมิตร Ancestral Alliance (ATA) ที่ประกอบด้วย 3 พรรคการเมือง โดยมีแบ็กกราวด์ที่โดดเด่นทั้งด้านการพัฒนาวิชาการและการเงินระหว่างประเทศ

 

  • ที่ผ่านมาเขาเคยเป็นอดีตสมาชิกพรรค Nationalist Movement Party (MHP) ซึ่งเป็นพันธมิตรกับพรรค AK ของแอร์โดอัน

 

  • ช่วงที่ทำหน้าที่ผู้สมัครของพรรค MHP เขาได้รับเลือกให้เป็นปลัดของเมืองอือดือร์ (Igdır) ทางตะวันออกของตุรกีในปี 2011 และถูกขับออกจากพรรคในปี 2015 เนื่องจากการต่อต้านภายในพรรค

 

คำมั่นสัญญาที่ให้ประชาชน: ส่งผู้ลี้ภัยกลับไปยังประเทศบ้านเกิด และสนับสนุนเอกภาพของรัฐที่พูดภาษาเติร์ก (Turkic States)

 

ประเด็นสำคัญที่อาจชี้วัดการเลือกตั้ง

 

เศรษฐกิจ

 

  • การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจุดชนวนให้เกิดวิกฤตค่าเงินในตุรกีช่วงปลายปี 2021 และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศแตะระดับสูงสุดในรอบ 24 ปีที่ 85.51% เมื่อปีที่แล้ว

 

  • อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้สนับสนุนแอร์โดอันยังเชื่อมั่นในผลงานของเขาที่ได้ปฏิวัติเศรษฐกิจตุรกี พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาภูมิภาคต่างๆ ที่ก่อนหน้านี้ถูกละเลยจากรัฐบาล

 

แผ่นดินไหว

 

  • เหตุการณ์ที่มีผลต่อคะแนนนิยมในการเลือกตั้งสำหรับตุรกียังรวมถึงเหตุแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ 2 ครั้ง ที่เกิดขึ้นทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกีเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 50,000 คน และเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง กระทบประชาชนประมาณ 14 ล้านคน หรือ 16% ของประชากรทั้งหมด 

 

  • คาดว่าการฟื้นฟูสภาพเมืองที่ได้รับผลกระทบอาจต้องใช้เงินจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์

 

ภาวะสมองไหล

 

  • อีกปัจจัยที่ผู้สมัครชิงประธานาธิบดีตุรกีต้องให้ความสนใจคือภาวะ ‘สมองไหล’ หรือการที่ประชากรที่มีระดับการศึกษาและทักษะสูงเดินทางออกไปทำงานและใช้ชีวิตในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุผลด้านความกังวลทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ

 

  • จากข้อมูลของสถาบันสถิติแห่งชาติตุรกีพบว่า ช่วงปี 2019-2021 มีประชากรราว 2.86 แสนคน อายุระหว่าง 20-29 ปี ที่ตัดสินใจเดินทางออกจากตุรกีไปอยู่ในต่างประเทศ

 

ค่านิยมและอัตลักษณ์

 

  • หนึ่งในบทบาทของแอร์โดอันในฐานะนายกรัฐมนตรี คือการยกเลิกข้อห้ามไม่ให้ผู้หญิงที่สวมฮิญาบทำงานในหน่วยงานของรัฐในปี 2013 ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวได้รับการยกย่องจากหลายๆ ฝ่ายว่าเป็นการยอมรับสถานะของพวกเขาในสังคม ตลอดจนการปฏิบัติทางศาสนา

 

  • ขณะที่ก่อนหน้านี้พรรคฝ่ายค้าน CHP สนับสนุนการห้ามคลุมฮิญาบสำหรับผู้หญิงที่ทำงานในหน่วยงานรัฐ ซึ่งแอร์โดอันชี้ว่าข้อห้ามเหล่านี้อาจกลับคืนมาหากเขาพ่ายในการเลือกตั้ง และมองว่านี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของมาตรการต่างๆ ที่อาจคุกคามค่านิยมและอัตลักษณ์ทางศาสนาของกลุ่มฐานเสียงที่สนับสนุนพรรค AK

 

ประชาธิปไตย

 

  • ฝ่ายต่อต้านแอร์โดอันมองว่าเขาขัดขวางการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยในตุรกีให้ถดถอยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเหตุการณ์ก่อรัฐประหารที่ล้มเหลวในปี 2016 ซึ่งมีผู้ถูกจับกุมหลายพันคน

 

  • นักวิจารณ์ยังมองว่าเสรีภาพสื่อในตุรกีนั้นถดถอยลง โดยกว่า 90% ของสื่อตุรกีทั้งหมดอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลและนักธุรกิจที่ใกล้ชิดกับแอร์โดอัน

 

ผู้ลี้ภัย

 

  • ประเด็นผู้ลี้ภัยในตุรกีเป็นประเด็นใหญ่ที่ประชาชนจำนวนมากรู้สึกต่อต้านมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยมีรายงานเหตุความรุนแรง การล่วงละเมิด และอาชญากรรมระหว่างชุมชนผู้ลี้ภัยชาวซีเรียและตุรกีเพิ่มขึ้น

 

  • จากข้อมูลของรัฐบาลตุรกีพบว่า ชาวต่างชาติ 3.7 ล้านคนจากทั้งหมด 5.5 ล้านคนในตุรกี เป็นผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย ซึ่งรัฐบาลได้รับการยกย่องจากนานาชาติสำหรับนโยบายช่วยเหลือผู้ลี้ภัย แต่ผู้สมัครฝ่ายค้านนั้นต่อต้านและแสดงความเป็นปรปักษ์ต่อผู้ลี้ภัย

 

โพลชี้คิลิกดาโรกลูแซงหน้าแอร์โดอัน 

 

  • ผลสำรวจล่าสุดจาก PolitPro ชี้ว่าผู้สมัครฝ่ายค้านอย่างคิลิกดาโรกลูมีคะแนนนิยมนำหน้าแอร์โดอันอยู่ที่ 48.9% ต่อ 43.2% ส่วนอินซ์ และโออัน มีคะแนนนิยมตามหลังที่ 4.8% และ 3.1% 

 

  • อย่างไรก็ตาม โพลดังกล่าวยังถือว่าสูสีและเป็นไปได้ที่ผลการเลือกตั้งอาจไม่เป็นตามที่คาดเดา ซึ่งต้องจับตากันต่อไปว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นสะพานเชื่อมอำนาจของแอร์โดอันให้เดินหน้าต่ออีกสมัย หรือกลายเป็นจุดสิ้นสุดที่เขาต้องลงจากเก้าอี้ผู้นำ หลังจากที่ครอบครองมายาวนานกว่า 20 ปี 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X