เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้น ดัน ‘ส่งออก’ ไทยขยายตัว 15.2% ในเดือนกรกฎาคม สูงสุดรอบ 28 เดือน ท่ามกลางเงินเฟ้อทั่วโลกชะลอตัว เพิ่มอำนาจซื้อให้ผู้บริโภค
วันนี้ (27 สิงหาคม) พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนกรกฎาคม 2567 ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยมีมูลค่า 25,720.6 ล้านดอลลาร์ (938,285 ล้านบาท) ขยายตัวถึง 15.2% นับเป็นอัตราการเติบโตสูงสุดในรอบ 28 เดือน หรือนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565
สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้การส่งออกของไทยขยายตัวแรงในเดือนที่ผ่านมามาจากเหตุผลต่างๆ ดังนี้
- การชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั่วโลก ช่วยเพิ่มอำนาจซื้อให้กับผู้บริโภค
- การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นและการปรับตัวของค่าจ้างในประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะในยุโรป ส่งผลให้การบริโภคฟื้นตัว
- เศรษฐกิจตลาดหลักที่กลับมาฟื้นตัวได้ดี อาทิ สหรัฐฯ จีน อาเซียน และสหภาพยุโรป สอดคล้องกับการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจยุโรปที่ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดแล้ว
เมื่อดูภาพรวมการส่งออกไทย 7 เดือนแรกของปี 2567 ยังขยายตัว 3.8% สำหรับดุลการค้าในเดือนกรกฎาคม 2567 ขาดดุล 1,373.2 ล้านดอลลาร์ (61,470 ล้านบาท) ทำให้ภาพรวม 7 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 6,615.9 ล้านดอลลาร์ (307,935 ล้านบาท)
สำหรับแนวโน้มการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์คาดว่าการส่งออกของไทยในปี 2567 จะทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกที่กำลังปรับตัวดีขึ้น รวมถึงสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการผลิตอุตสาหกรรมของโลก ขณะเดียวกันคาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลจะสนับสนุนสินค้าที่เกี่ยวเนื่องให้เติบโตตลอดทั้งปี
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่กดดันการส่งออกจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ และความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าหลังการเลือกตั้งในหลายประเทศที่สำคัญ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
โดยพูนพงษ์กล่าวว่า แนวโน้มเดือนสิงหาคมคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องก็น่าจะส่งผลกระทบพอสมควร แล้วแต่ประเภทสินค้า แต่ยังไม่คิดจะปรับเป้าส่งออกทั้งปี 2567 โดยคงเป้าหมายเดิมไว้ที่ 1-2%