×

คู่กรรม กับชีวิตจริงของ ‘กิมเอ็ง’ ชาวจีนอพยพที่ไม่ได้เขียนในนวนิยาย

15.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins read
  • ช่วงสถานการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ในประเทศไทย ปี 2487 ไม่เพียงแค่เป็นฉากสำคัญของนวนิยายดัง แต่ยังเป็นฉากสำคัญในชีวิตครอบครัวของชาวจีนอพยพ
  • ปี 2487 ระเบิดตกลงมาจากฟากฟ้า “ไม่มีอะไรมาเตือนภัย มีแต่ข่าวลือ อยู่ดีๆ มันก็ระเบิดลงมาเลย” อาม่าเล่าให้ฟัง ซากศพมากมายตายเกลื่อน เสียงระงมตามหาคนใกล้ชิด เสียงร่ำไห้ถึงความสูญเสียคนรักญาติสนิท กลิ่นควันไฟยังไม่จางหาย หลุมหลบภัยมากมายที่ทำกันเองกลับกลายเป็นหลุมศพ
  • โกโบริจากไปทั้งน้ำตาของอังศุมาลินในคืนนั้น มันเป็นเพียงแค่ตัวละครในนวนิยาย หนัง หรือละครภาคค่ำ แต่ชีวิตที่โดนพรากไปมากมายในย่านบางกอกน้อยในคืนนั้น คือคุณค่าที่ควรรำลึกถึง ข้อเท็จจริงที่ควรสานต่อให้กลายเป็นประวัติศาสตร์ของชาติไทย

ดังนรกชัง ฤาสวรรค์แกล้ง
แกล้งทรมาน ให้ฉันได้เจอ
เกลียดชิงชัง สุดท้ายรักเธอ
แต่พอเผลอ พรากเธอดับสูญ…


ฉันฮัมเพลง ทางช้างเผือก โดยไม่รู้ตัวเมื่อขับรถผ่านสะพานอรุณอัมรินทร์จากหน้าโรงพยาบาลศิริราชจะข้ามไปยังปิ่นเกล้า แล้วฉันก็นั่งนึกว่า อืม…เพลงนี้คือเพลงประกอบละคร คู่กรรม ที่มีพระเอกชื่อ โกโบริ และนางเอกชื่อ อังศุมาลิน สร้างมาทั้งหมด 4 ครั้ง ปี 2516, 2531, 2538 และ 2556 ทุกครั้งที่มีการฉาย คู่กรรม ก็จะโด่งดังระเบิดเถิดเทิงกันไปทั่วประเทศ

 

ถ้านับตามอายุของฉันเองก็จะมีเพียงแค่สามครั้งหลังเท่านั้นที่ฉันได้ติดตามชม และในสามครั้งนั้น มักจะต้องมีคนประกอบการเล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ที่บางกอกน้อย ในวันที่โกโบริเสียชีวิตที่แถวสถานีรถไฟบางกอกน้อย ซึ่งเป็นวันที่กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรได้เปิดฉากน่านฟ้ายิงกราดลงมายังพื้นที่แถบนี้ เพราะการข่าวบอกว่าทหารญี่ปุ่นฝ่ายอักษะจะมีการลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ พร้อมยุทธภัณฑ์ทั้งหลายไปยังพม่า

ฉันมองจากหน้าต่างรถยนต์ลงไปแว็บๆ เห็นสถานีรถไฟบางกอกน้อยอยู่ไม่ไกล จุดยุทธศาสตร์สำคัญของสงครามมหาเอเชียบูรพาในประเทศไทยคือที่นี่…

 

ช่วงสถานการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ในประเทศไทย ปี 2487 ไม่เพียงแค่เป็นฉากสำคัญของนวนิยายดัง แต่ยังเป็นฉากสำคัญในชีวิตครอบครัวของฉันด้วย


“อาม่าอยู่ที่นั่น” อาม่า เอ่ยให้ฟัง

 

“ป๋าเกิดแถวนั้น” พ่อของฉันเล่าอดีตให้ฟัง ซึ่งฟังต่อมาจากอาม่าอีกทีหนึ่ง

 

“อาม่านี่เลย อังศุมาลินตัวจริง เพียงแต่ไม่ได้ผัวญี่ปุ่น ผัวเป็นคนจีน อากงเรานี่แหละ” พวกลูกอาม่าแซวแม่ของเขา (ย่าของฉัน) ให้ฉันได้ยินเสมอๆ

ในวันที่อังศุมาลินยังงอนโกโบริ งอนไป ปล้ำไป แอบท้องแล้วไม่ยอมบอกผัวอีกต่างหาก ยังมีสาวน้อยอีกคนเพิ่งจะพบรัก เพิ่งจะแต่งงาน และเพิ่งจะมีลูกน้อย

 

 

ชะตาชีวิตในละครโศกเศร้าเพียงใด ชีวิตจริงของหญิงอีกคนเหนื่อยยากไม่แพ้กัน ความโชคดีเหนือนางเอกละคร คงเป็นเพียงว่า ยังไม่มีใครในครอบครัวเสียชีวิต จากไป…

ภายหลังจาก อากง มาอยู่เมืองไทยได้สักพักใหญ่ ทั้งพี่ใหญ่และน้องชายก็แนะนำให้อากงหาคู่เสียที ส่วนพี่ชายอากงนั้นมีคู่เรียบร้อยแล้วแต่ครอบครัวนั้นอยู่เมืองจีน อากงก็ยังลังเลกับชีวิตโสด จนกระทั่งเหล่ากง (พ่อของอากง) ส่งจดหมายมาบอกให้ลูกชายมีเมียได้แล้ว ถึงเวลาที่จะต้องสร้างครอบครัวเสียที หนี้สินที่เมืองจีนก็ได้ใช้จนหมดแล้ว ไม่ได้มีภาระอะไรหนักหนา ขอให้ทำเพื่อตัวเองบ้าง อากงเดินทางท่องเที่ยวไปหลากหลายเมือง มีอยู่ช่วงหนึ่งก็ไปช่วยงานญาติที่ภาคใต้ แต่ก็มาจ๊ะเอ๋แม่ค้าสาวชาวโพธาราม จังหวัดราชบุรี นามว่า กิมเอ็ง แซ่กอ อาม่าของฉันเอง

อากงบอกว่า “อาม่าสวยมาก เรียกได้ว่านางงามจังหวัดเลยทีเดียว” อากงเป็นคนปากหวานค่ะ เมียตัวเอง ลูกสะใภ้ ลูกสาว หลานสาว อากงชมว่าสวยทุกคน จนฉันเองก็ไม่แน่ใจมาตรฐานการมองความสวยของอากงเท่าไร

อาม่าเป็นสาวจีนแคะหรือฮากกาที่เกิดในไทย ทั้งพ่อและแม่ต่างก็อพยพมาจากเมืองจีนก่อนหน้า แล้วมาตั้งรกรากอยู่ที่โพธาราม ราชบุรี อาม่าคือลูกสาวคนโตสุดของครอบครัว เป็นที่รัก เป็นคนขยัน กตัญญู ฉลาด มัธยัสถ์ งดงาม และหลงคารมอากงของฉันจนแต่งงานกัน พร้อมกับอพยพตามมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ด้วยกัน


“อากงพูดเก่ง” พวกลูกๆ ของอาม่าเมาท์มอยให้ฟัง อากงอาม่าไม่ได้เริ่มต้นชีวิตครอบครัวด้วยความสะดวกสบาย ทั้งคู่ต้องสร้างเนื้อสร้างตัว คนหนึ่งเป็นแรงงานในโรงงาน คนหนึ่งเป็นแม่ค้าในตลาด รายได้น้อยและมีภาระครอบครัวที่ต้องให้กำเนิดทายาทสืบทอดสายเลือดตามประเพณีจีนอันเข้มงวด


12 พฤศจิกายน ปี 2486 ลูกชายคนแรก (พ่อของฉัน) ถือกำเนิด อากงตั้งชื่อว่า จินเผ่ง แซ่คู อาม่าเล่าว่า ในช่วงที่เกิดเรื่อง คู่กรรม อาม่าก็อยู่แถวนั้น เพิ่งจะเป็นสาวแม่ลูกอ่อน ลูกเพิ่งคลอดได้ไม่นาน ก็เกิดเสียงเล่าขานกระซิบกระซาบว่าจะเกิดระเบิดที่บางกอกน้อยดังกระหึ่มขึ้นเรื่อยๆ กระฉ่อนไปทั่วพระนคร อาม่าได้แต่อุ้มลูกน้อยอพยพไปมา อยู่บนเรือบ้าง อยู่บนบกบ้าง หลบไปโพธารามบ้าง กลับมาขายของทำงานที่บางกอกน้อยบ้าง ไร้หลัก ไร้รอย จนชาวบ้านรอบข้างเรียกชื่อลูกน้อยของอาม่าว่า “เจ้าลอย” แล้วเพี้ยนเป็น “ล๊อย” ชื่อเล่นของพ่อของฉันเอง…

และแล้ว…​ปี 2487 มฤตยูก็ถูกปล่อยลงจากฟากฟ้า


“ไม่มีอะไรมาเตือนภัย มีแต่ข่าวลือ อยู่ดีๆ มันก็ระเบิดลงมาเลย” อาม่าเล่าให้ฟังคร่าวๆ ในวันที่ภัยพิบัติจากฟากฟ้าลงมาสู่ผืนแผ่นดินไทย แล้วก็ไม่พูดอะไรมากตามนิสัยคนพูดน้อย (คนพูดเยอะคืออากงของฉันเอง)

ชีวิตวัยสาวที่เพิ่งจะได้เข้าบางกอกตามสามีมาทำงานสร้างครอบครัว เต็มไปด้วยความฝันและความหวังว่าจะเริ่มต้นอย่างสงบ กลับต้องมากระเตงลูกหนีไปหนีมาไปกับสามี มีชีวิตที่หลักลอยไปตามกระแสข่าวลือ จนถึงวันที่ระเบิดลงมาจริงๆ แทบเอาชีวิตไม่รอด….  

เสียงหวอเตือนภัยหวีดแหลมพาให้ตื่นสะดุ้ง ตามมาด้วยแรงระเบิด ท้องฟ้าเขียวพร่างในตอนกลางคืน พาให้ใจสั่นด้วยความหวาดกลัว ผู้คนเฝ้าภาวนาอย่าให้ระเบิดตกมายังที่ตนเองอยู่ ความหวาดกลัวอยู่ในความมืดยาวนานจนรุ่งเช้าที่เงียบงัน ยาวนานกว่าผู้คนจะตั้งสติตั้งตัวรับรู้ได้ เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ความสงบ หลายคนเริ่มขยับตัวออกมาจากหลุมหลบภัย บ้างก็ในท้องร่องในสวน


ซากศพมากมายตายเกลื่อน เสียงระงมตามหาคนใกล้ชิด เสียงร่ำไห้ถึงความสูญเสียคนรักญาติสนิท กลิ่นควันไฟยังไม่จางหาย หลุมหลบภัยมากมายที่ทำกันเองกลับกลายเป็นหลุมศพ ซากปรักหักพังความเสียหาย ตึกรามบ้านช่องพังพินาศ ความหายนะอยู่ตรงหน้าผู้คนมากมาย เสียงร่ำไห้ เสียงเพรียกหาญาติมิตรลูกหลานคนรัก

…โกโบริจากไปทั้งน้ำตาของอังศุมาลินในคืนนั้น มันเป็นเพียงแค่ตัวละครในนวนิยาย หนัง หรือละครภาคค่ำ แต่ชีวิตที่โดนพรากไปมากมายในย่านนั้นสิ คือคุณค่าที่ควรรำลึกถึง ข้อเท็จจริงที่ควรสานต่อให้กลายเป็นประวัติศาสตร์ของชาติไทย

กว่า 70 ปีของชาวบางกอกน้อยที่ยังคงรำลึกถึงเหตุการณ์สูญเสียในท้องถิ่นตนเองเมื่อครั้งนั้น หลายคนยังคงอยู่ถิ่นฐานเดิมแล้วรำลึกถึงผู้จากไป แต่หลายคนก็ทนเสี่ยงกับภัยพิบัติไม่ไหวและจำใจจากมา หนึ่งในนั้นคือ สามพ่อแม่ลูก อากง อาม่า และป๋าของฉัน

อาม่าเล่าว่า “มันสุดจะทนได้” ฉันจำแววตาแสนเศร้าที่รำลึกถึงการจากไปของคนมากมายรอบตัวที่อาม่าเคยรู้จัก

 

อาม่าตอนเล่าให้ฟังต่อว่า “มันอยู่ต่อไม่ได้ ถ้าอยู่ก็ไม่รู้เมื่อไรจะเป็นคิวของเรา คนรอบตัวเราไปหลายคนแล้ว” อาม่าพูดต่ออีกหน่อยด้วยน้ำเสียงแหบพร่า​ “เลยพาป๋าเอ็งกลับไปหา อาไท่ (ทวดของฉัน) ที่โพธาราม”

สามคนพ่อแม่ลูกหลบลี้หนีภัยสงครามกลับไปหาอาไท่กันหมด จนสงครามสงบ และอยู่ต่อจากนั้นอีกหนึ่งปี หรือจนกระทั่งปี 2488

พ่อของฉันเล่าให้ฟังว่า “ป๋าสนิทกับญาติที่โพธารามมาก โตมากับพวกน้าๆ น้องอาม่า อาไท่รักป๋ามาก เพราะเป็นหลานคนแรกและเป็นหลานชายด้วย อาไท่เลี้ยงหมู อากงก็ไปช่วยเลี้ยงหมู ป๋าก็โตมาจากที่นั่นเลี้ยงหมูด้วยสิ แล้วเวลาอากงอาม่ามีปัญหา ดูแลลูกไม่ไหว ก็จะส่งป๋ากลับมาอยู่กับอาไท่เป็นประจำจนโต บางทีป๋าต้องพาน้องๆ มาโพธารามด้วย”

จากความทรงจำของฉัน ตอนที่ฉันเกิดมาแล้ว บ้านของอาไท่อยู่แถวสถานีรถไฟโพธาราม เป็นตึกแถวสองชั้น มีน้องชายของอาม่าเปิดร้านตัดเสื้อผ้าอยู่ อาไท่จะใส่เสื้อสีฟ้า กางเกงเลโคร่งๆ สีดำผ้าลื่นๆ แบบคนจีน นั่งเก้าอี้หวายที่หน้าตึก ผมขาวทำมวยต่ำ เคยเห็นผมอาไท่ยาวสยายถึงกลางหลังสวยมากถึงจะขาวก็เถอะ ตอนที่ฉันโตมาจนอายุสิบกว่าปี ก็ยังต้องตามพ่อและอาม่าไปเยี่ยมอาไท่บ่อยๆ ด้วยความกตัญญูว่า ทั้งครอบครัวรอดชีวิต และได้เงินตั้งตัว สร้างครอบครัวมาได้ด้วยเงินของอาไท่ และเมื่อมีญาติจากโพธารามไม่ว่ากี่คนต่อกี่คนที่จะมาเรียนต่อในกรุงเทพฯ ทุกคนจะได้อยู่ที่บ้านอาม่าเสมอๆ ฉันเองก็โตมากับอาๆ ชาวโพธารามมาโดยตลอดเช่นกัน เป็นความสนิทสนมที่ยังฝังแน่นจนทุกวันนี้

ความไม่เคยลืมอดีตที่แร้นแค้น
ความกตัญญูรู้คุณในยามยาก
ความเป็นญาติในสายเลือดร่วมกัน

เป็นสิ่งที่เราทุกคนในสกุลปลูกฝังกันมาโดยตลอด และชาวจีนอพยพทุกคน ก็สอนลูกหลานของตนเองแบบนี้

ณ ปีนี้ ก็นับได้ว่าอาม่าจากไปได้ยี่สิบปีแล้ว อ้อมแขนของอาม่าอบอุ่นเสมอๆ และมาอยู่ในฝันของฉันบ่อยๆ สิ่งที่ติดตัวฉันมาจากอาม่าคือเรื่องราวมากมายผ่านดวงตาอ่อนโยนของท่าน

“ในชีวิตคนคนหนึ่งมีประวัติศาสตร์มากมายซ่อนอยู่ในแววตาพวกเขา…” ฉันคิด

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X