กรมสรรพากรย้ำเรื่องความเป็นธรรมจัดเก็บภาษีมนุษย์เงินเดือน คนทำธุรกิจถูกต้องแบกภาระ ใครทำถูกต้องแล้วไม่ต้องจ่ายเพิ่ม ยังอยู่ระหว่างรับฟังความเห็น
จากกรณีที่กรมสรรพากรเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรเพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในช่วง 1-15 เมษายน 2561 มีรายละเอียดสำคัญคือ สถาบันการเงินและผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ส่งรายงานบุคคลผู้มีธุรกรรมตั้งแต่ 3 พันครั้งต่อปีขึ้นไป หรือมีธุรกรรมสองร้อยครั้งต่อปีขึ้นไป และมูลค่าธุรกรรมรวมทั้งหมด 2 ล้านบาทขึ้นไป ทำให้สังคมเกิดความกังวลว่าจะถูกตรวจสอบและต้องชำระภาษีเพิ่มเติมนั้น
แพตริเซีย มงคลวนิช รองอธิบดีและโฆษกกรมสรรพากรให้ข้อมูลกับสำนักข่าว THE STANDARD ว่า จุดประสงค์สำคัญของการปรับแก้กฎหมายครั้งนี้เพื่อสร้างความเป็นธรรมกับระบบภาษีของประเทศ เนื่องจากยังมีผู้ที่มีรายได้แต่อยู่นอกระบบภาษีอยู่จำนวนมาก ในขณะที่ผู้ที่ทำธุรกิจและค้าขายอย่างถูกต้อง รวมถึงมนุษย์เงินเดือนผู้มีรายได้ประจำเสียภาษีเข้ารัฐเพื่อนำมาพัฒนาประเทศ การเสียภาษีคือหน้าที่ของผู้มีเงินได้ทุกคนที่ต้องทำ และทุกวันนี้กลายเป็นผู้เสียภาษีแบกรับภาระทั้งหมดแทนผู้ที่หลบเลี่ยงการเสียภาษีด้วย
สำหรับรายละเอียดของร่างกฎหมายจะให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการ e-wallet ส่ง ‘ข้อมูลสรุป’ ของบุคคลที่มีลักษณะธุรกรรมดังกล่าวโดยจะนับเฉพาะธุรกรรมขารับเท่านั้น นั่นคือนับเฉพาะ ‘การรับฝากและรับโอนเงิน’ ไม่เกี่ยวข้องกับการโอนเงินไปที่บัญชีของตนเองและบุคคลอื่น โดยจะนับทุกช่องทางทั้งผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร ตู้เอทีเอ็ม และระบบ Internet Banking
กรมสรรพากรประเมินว่าผู้ที่รับโอนเงินตั้งแต่ 8 ครั้งต่อวันเป็นต้นไปถือว่าเป็นไปได้ที่จะทำอาชีพค้าขาย ไม่ใช่มนุษย์เงินเดือนทั่วไป ซึ่งถ้าเป็นพ่อค้าแม่ขายทั่วไปที่เสียภาษีถูกต้องอยู่แล้วก็ไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะต้องถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่ม และที่สำคัญคือขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นและยังต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของทั้งคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หากประกาศใช้จะเริ่มเก็บข้อมูลธุรกรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป และสถาบันการเงินจะเริ่มส่งรายงานธุรกรรมตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 ดังนั้นจะไม่ใช่การตรวจสอบย้อนหลังเพื่อเก็บภาษีเพิ่มตามที่บางส่วนเข้าใจ
ส่วนกรณีที่บางส่วนมองว่าจะทำให้ผู้ที่ค้าขายออนไลน์หรือผู้ที่ไม่ยอมเสียภาษีพยายามหลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมผ่านระบบธนาคารและใช้เงินสดแทนนั้น โฆษกกรมสรรพากรให้ความเห็นว่าจะทำให้ขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้เพื่อพัฒนาและขยายธุรกิจในอนาคต ซึ่งแนวโน้มการทำธุรกรรมกับภาคธุรกิจทั้งในและต่างประเทศก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงช่องทางของระบบธนาคารและ e-Wallet ไปได้
แพตริเซียเน้นว่า แนวคิดของการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวพิจารณาจากกฎหมายในต่างประเทศทั้งสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย หรือกระทั่งสิงคโปร์ก็มีหลักการลักษณะดังกล่าว สำหรับร่างกฎหมายฉบับนี้หลังจากรับฟังความคิดเห็นแล้วยังสามารถปรับปรุงเนื้อหาให้เหมาะสมในอนาคตได้ทั้งจำนวนธุรกรรมและรายละเอียดอื่นๆ
ดังนั้นจะไม่ใช่การตรวจสอบย้อนหลังเพื่อเก็บภาษีเพิ่มตามที่บางส่วนเข้าใจ และรายชื่อบุคคลที่ส่งให้กับกรมสรรพากรก็ไม่จำเป็นต้องเสียภาษีเพิ่มทุกคน เพียงแต่เป็นการนำข้อมูลไปตรวจสอบตามขั้นตอนเท่านั้น
อ้างอิง: