×

โบรกเกอร์ฟันธง RCEP ช่วยลดแรงกดดันจากสงครามการค้า

โดย THE STANDARD TEAM
16.11.2020
  • LOADING...

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 37 ได้ลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของแต่ละประเทศรวมกันถึง 26.2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 30% ของ GDP โลก และคิดเป็นมูลค่าการค้าระหว่างกันราว 28% ของมูลค่าการค้าโลก ครอบคลุมประชากรทั้งหมด 2.2 พันล้านคน หรือ 30% ของประชากรโลก 

 

โดย 15 ประเทศที่ร่วมลงนาม ประกอบไปด้วย อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ไทย, บรูไน,เวียดนาม, ลาว, เมียนมา, กัมพูชา, จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, และนิวซีแลนด์ 

 

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ แต่ละประเทศจะต้องไปขอมติจากสภาเพื่อกลับมาให้สัตยาบัน โดยในกลุ่มอาเซียนจะต้องได้ 6 ใน 10 ประเทศ และคู่เจรจาจะต้องได้ 3 ใน 5 ประเทศ คาดว่าจะมีผลอย่างเร็วในช่วงครึ่งหลังของปี 2564

 

ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า ประเมินว่า ความตกลงดังกล่าวส่งผลเชิงบวกและช่วยลดแรงกดดันจากสงครามการค้าได้ ซึ่งข้อดีหลักของ RCEP คือ ทำให้ภาพของ Regionalization เข้ามาทดแทนการเสื่อมถอยของ Globalization ได้ถูกจังหวะเวลา เพราะช่วงที่ผ่านมาการค้าระดับโลกถูกกดดันทั้งจากสงครามการค้าและโควิด-19

 

โดยข้อตกลงนี้จะทำให้มูลค่าการค้าในกลุ่ม RCEP เร่งตัวขึ้นในระยะยาว แต่ผลกระทบเชิงบวกต่อ GDP ในช่วงแรกอาจไม่มาก เพราะสินค้าส่งออกของไทยไปกลุ่ม RCEP ส่วนใหญ่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีผ่าน FTA และ ASEAN+1 อยู่แล้ว อีกทั้งอินเดียที่เป็นตลาดใหญ่และเป็นช่องทางในการเปิดตลาดไปเอเชียใต้ ยังไม่เข้าร่วมในรอบนี้ ขณะที่ถ้าพิจารณาจากข้อตกลงทั้ง 20 บท จะเป็นเรื่องของการอำนวยความสะดวกด้านการค้าเป็นหลัก

 

ส่วนเรื่องของภาษียังให้แต่ละประเทศสามารถใช้กลไกเพื่อตอบโต้การทุ่มตลาดได้ นั่นหมายความว่าถ้ายังไม่มีการยกเลิกกีดกันสินค้าที่มีความอ่อนไหวระหว่างประเทศ มูลค่าการค้าระหว่างกันอาจไม่ได้เพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง แต่จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปตามการปรับเปลี่ยนเส้นทางการค้าเข้ามาในกลุ่ม RCEP มากขึ้นเรื่อยๆ

 

ส่วนความร่วมมือด้านบริการที่น่าสนใจคือ การยกระดับการสื่อสารระหว่างประเทศ การท่องเที่ยวขนส่งและโลจิสติกส์ การเงินและการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งถ้าพิจารณาในแง่ของศักยภาพในการแข่งขันกลุ่มท่องเที่ยวและขนส่ง ดูจะเป็น 2 กลุ่มที่ได้รับผลดีมากที่สุด

 

นอกจากนี้จากการประเมินผลกระทบเบื้องต้น ฝ่ายวิเคราะห์ บล. หยวนต้า ได้อิงจากกลุ่มที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันสูง ซึ่งวัดจากดุลการค้าที่เป็นบวกและเป็นกลุ่มที่ประเทศคู่ค้านอกอาเซียนให้ความสนใจในการขยายฐานการผลิตสินค้าหรือบริการมายังประเทศไทย ซึ่งได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ปิโตรเคมี ท่องเที่ยว เกษตรอาหาร ค้าปลีก และคาดว่าผลดีต่อเนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจะเป็นบวกทางอ้อมต่อกลุ่มนิคม โรงไฟฟ้า และขนส่ง 

 

โดยหุ้นเด่นในแต่ละกลุ่มคือ บมจ. อาปิโก ไฮเทค (AH), บมจ. อินเตอร์ไฮด์ (IHL), บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCC), บมจ. ไออาร์พีซี (IRPC), บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT), บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF), บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU), บมจ. บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM), บมจ. ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) และ บมจ. สหไทย เทอร์มินอล (PORT)

 

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามรายละเอียดของข้อตกลง RCEP อีกครั้ง รวมถึงการทำข้อตกลงการค้าในรูปแบบอื่น เช่น CPTPP ที่ไทยยังสงวนท่าทีในการเข้าร่วม และความคืบหน้าในการทำ FTA ร่วมกับกลุ่มประเทศยุโรป รวมถึงประเด็นการตัดสิทธิ GSP ของสหรัฐฯ ที่มีโอกาสพลิกมาเป็นความเสี่ยงเพิ่มเติมด้วย

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X