กรณี บมจ.อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย (RBF) ได้รับใบอนุญาตผลิต (ที่ไม่ใช่การปลูก) ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะกัญชง จากทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 ซึ่งถือเป็นบริษัทรายแรกในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับใบอนุญาตดังกล่าว
พญ.จัณจิดา รัตนภูมิภิญโญ กรรมการบริษัท บมจ.อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย หรือ RBF เปิดเผยว่า ความสำคัญของใบอนุญาตนี้มี 2 ประการ คือ
1. นัยสำคัญทางกฎหมาย การได้รับใบอนุญาตนี้เป็นการปลดล็อกให้สามารถใช้สารสกัดจากช่อดอกไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและยาได้ ซึ่งก่อนหน้า อย. อนุญาตให้ใช้สารสกัดจากส่วนอื่นๆ ของต้นกัญชง เช่น ใบ ราก กิ่ง และก้าน ในการนำไปใช้เป็นส่วนประกอบอาหารได้ เนื่องจากสารสกัดจากส่วนต่างๆ ที่ไม่ใช่ช่อดอก มีค่า CBD และ THC ค่อนข้างต่ำ จึงไม่ค่อยมีความเสี่ยงที่จะถูกนำไปใช้ทำสารเสพติด
“แต่สารสกัดจากช่อดอก เมื่อเราทำสำเร็จแล้วสามาถส่งออกหรือขายแก่บริษัทผู้ผลิตยาที่ได้รับอนุญาต หรือขายให้กับโรงสกัดที่ได้รับออนุญาตได้ ดังนั้นใบอนุญาตนี้จึงขอได้ยาก โดยต้องขออนุญาตเหมือนขอโรงงานผลิตยาเสพติด มาตรฐานและการตรวจสอบจึงสูงกว่าและซับซ้อนกว่า”
2. นัยสำคัญต่อซัพพลายเชน โดยกัญชง-กัญชาจัดเป็นพืชประเภทหนึ่งที่ให้สารสกัด ซึ่งสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ทั้งในด้านอาหาร การแพทย์ เครื่องสำอาง และอาหารเสริม โดยในต่างประเทศก็มีสารสกัดจากสิ่งอื่นๆ เช่นกัน เช่น สารสกัดจากหอยทาก ซึ่งในการได้มาซึ่งสารสกัดต่างๆ จำเป็นต้องมีโรงสกัดที่มีคุณภาพ เพราะฉะนั้นตัวกลางอย่างโรงสกัดจึงมีความสำคัญมากในการทำให้ได้มาซึ่งวัตถุดิบที่ดี เพื่อส่งต่อให้กับปลายน้ำได้นำไปต่อยอดและพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ที่ดีและมีคุณภาพ ซึ่งเป็นส่วนช่วยให้ประเทศเราสามารถเคลมได้ว่าเป็นศูนย์กลางหรือฮับในการเป็นทำสิ่งนี้ได้
“สาร CBD อยู่ในรูปช่อดอกก็จริง แต่ถ้าไม่มีการสกัดที่ดีก็จะกระทบต่อผลผลิตปลายน้ำ ทำให้ไม่มีคุณภาพ แม้จะเกิดกระแสแต่ก็แค่ช่วงสั้น ไม่เกิดการใช้ซ้ำ และจะกลายเป็นแค่กระแส มาแล้วก็จบ”
พญ.จัณจิดากล่าวเพิ่มว่า ณ ปัจจุนัน RBF เป็นเพียงรายเดียวที่ได้ใบอนุญาตนี้มา อย่างไรก็ตามเชื่อว่าธุรกิจนี้จะไม่มีการผูกขาด และไม่ใช่ Monopoly อย่างแน่นอน ในอนาคตจะมีเพื่อนและคู่แข่งเข้ามาสู่ตลาดนี้เพื่อช่วยกันพัฒนาและขยายตลาด เพื่อให้ซัพพลายมีพอเพียงในการเป็นฮับได้
ทั้งนี้ RBF จะยังคงเน้นการเป็นธุรกิจกลางน้ำที่ดีเช่นเดิม และจะมุ่งพัฒนาคุณภาพโรงสกัดและดูแลคู่ค้าทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ โดยในส่วนของต้นน้ำ RBF เกี่ยวกับท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน บริษัทจะหาออร์เดอร์มาป้อนให้กับเกษตรกรคู่สัญญาเพื่อไม่ให้เกิดการค้างสต๊อก ในส่วนของปลายน้ำ RBF มีหน้าที่ต้องหาสารสกัดมาให้คู่ค้าให้ได้ เพื่อให้คู่ค้าสามารถเปิดตัวและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้ตามแผนที่กำหนด
“RBF เริ่มได้รับออร์เดอร์บ้างแล้ว แต่ตอนนี้ใบอนุญาตในการปลูกยังไม่ค่อยออก แต่ประเมินว่าไม่นาน และเกษตรกรผู้ปลูกน่าจะเริ่มปลูกได้ในปลายเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม กระบวนการปลูกและรอโตใช้เวลา 4-5 เดือน จากนั้นก็สามารถนำมาสกัดและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จึงคาดว่าน่าจะเริ่มมีรายได้จากธุรกิจนี้ในปลายไตรมาส 4 ปีนี้ หรือต้นปี 2565”
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ