บมจ.อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย หรือ RBF ชี้แจงกรณีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 2 ราย ขายหุ้นบิ๊กล๊อตให้ TU รวมกัน 10% ในราคา 15 บาท ซึ่งเป็นราคาต่ำกว่าราคาซื้อขายปัจจุบัน (ณ 20 กันยายน ราคาหุ้น RBF อยู่ที่ 19.70-20.20 บาท) เนื่องจากต้องการเปิดโอกาสให้บริษัทได้มีพันธมิตรทางธุรกิจที่ดี และช่วยสร้างซินเนอร์จี เพื่อเพิ่มศักยภาพให้บริษัทในการขายธุรกิจสู่ต่างประเทศ
พญ.จัณจิดา รัตนภูมิภิญโญ กรรมการบริษัท RBF กล่าวผ่านรายการ Morning Wealth ของ THE STANDARD WEALTH ถึงกรณีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 2 ราย ขายหุ้นบิ๊กล๊อตจำนวนรวม 200 ล้านหุ้น คิดเป็น 10% ของทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้ว ให้แก่ บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป หรือ TU ในราคา 15 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาซื้อขายในกระดานซื้อขายหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 20 กันยายน ที่ราคาหุ้นเคลื่อนไหวอยู่ที่ 19.70-20.20 บาท
พญ.จัณจิดา กล่าวว่า ดีลนี้เกิดขึ้นจากการหารือกันในกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ว่า การมีพาร์ตเนอร์ที่ดีมาช่วยให้บริษัทมีศักยภาพในการเติบโตมากขึ้น จะเป็นประโยชน์กับองค์กรและผู้ถือหุ้นทุกคน ซึ่ง TU เป็นบริษัทไทยที่มีขนาดใหญ่และมีการขยายธุรกิจไปทั่วโลก การได้ TU มาเป็นพาร์ตเนอร์ จึงเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับ RBF
“ในการเจรจากับทาง TU เราคุยเรื่องการร่วมมือทำธุรกิจเป็นหลัก ซึ่งคุยกันมาหลายเดือนแล้ว มีความพยายามทำงานที่ใกล้ชิดกันมากขึ้นในหลายๆ โปรเจกต์ที่ได้เริ่มต้นไปแล้ว และน่าจะไปได้ด้วยดี”
พญ.จัณจิดา ย้ำว่า เรื่องราคาในการซื้อขายหุ้นนั้น คุยเป็นลำดับท้ายๆ เพราะผู้ถือหุ้นเดิมมองตรงกันว่าต้องการให้บริษัทได้รับประโยชน์มากที่สุด นั่นก็คือได้พาร์ตเนอร์ที่ช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ RBF อีกมาก
“การขายหุ้นที่ราคาสูงกว่านี้ ประโยชน์ก็อาจจะมีแค่ผู้ถือหุ้นเดิมได้เงินเยอะขึ้นเท่านั้น แต่การขายหุ้นราคาต่ำกว่ากระดาน และได้พาร์ตเนอร์ที่ดีเข้ามา สุดท้ายกำไรก็จะกลับคืนสู่บริษัท”
พญ.จัณจิดา กล่าวว่า เมื่อมี TU เป็นพาร์ตเนอร์แล้ว มีแผนการร่วมกันพัฒนาตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการหารือกันไว้แล้วและเริ่มต้นไปแล้วในบางโปรเจกต์ ซึ่งมีทิศทางที่ดี มีความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จสูง โดยโปรเจกต์ที่มีแผนจะพัฒนาต่อจะครอบคลุมทั้งธุรกิจอาหารคนและอาหารสัตว์
โดย TU เป็นบริษัทไทยที่ขยายธุรกิจไปทั่วโลก ซึ่งสัดส่วนธุรกิจในต่างประเทศน่าจะมากกว่าสัดส่วนธุรกิจในไทย และ TU มีความสนใจพัฒนาโอกาสในการตลาดอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ แม้จะมีความแตกต่างกันในด้านรายละเอียดของธุรกิจอาหาร เช่น ส่วนผสม ปริมาณ รสชาติ แต่ก็เชื่อว่าความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของ RBF และ TU จะทำให้สามารถขยายธุรกิจสู่ตลาดอาเซียนได้
“แม้ TU จะเป็นองค์กรใหญ่แต่ไม่อุ้ยอ้าย TU เชี่ยวชาญในธุรกิจระดับโลก เราจึงอยากเข้าไปมีส่วนร่วม และก่อนหน้านี้ก็ได้มีการลงทุนด้านบุคลากร และ Facilities ไปบ้างแล้ว เชื่อมั่นว่าการที่ TU เข้ามาถือหุ้น จะช่วย RBF ได้ดีในการทำตลาดต่างประเทศ และทำให้โรดแมปที่วางไว้ในระยะ 5-10 ปี สำเร็จเร็วขึ้น”
สำหรับความคืบหน้าเรื่องธุรกิจกัญชง RBF ในฐานะผู้ประกอบการกลางน้ำ ให้รายละเอียดว่า ขณะนี้ทุกอย่างยังเป็นไปตามแผนงาน แม้จะล่าช้าไปบ้างจากปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น สถานการณ์โควิด แต่ก็ยังอยู่ในกรอบเวลา โดยล่าสุดได้รับเมล็ดพันธุ์กัญชงมาแล้ว และเริ่มกระจายแก่เกษตรกรเพื่อเริ่มต้นเพาะปลูกไปแล้ว
“ตลาดเปิดรับมากขึ้น ผู้บริโภคเองก็มีภาพที่ชัดเจนมากขึ้นว่ากัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างประโยชน์ในวงกว้าง ทั้งภาคธุรกิจและภาคการเกษตร ไม่ใช่ธุรกิจฉาบฉวยหรือตามกระแส ซึ่งก็ต้องขอบคุณภาครัฐและภาคส่วนที่มองเห็นโอกาสนี้ และผลักดันให้เป็นนโยบายระดับประเทศ”
ขณะเดียวกัน ตลาดปลายน้ำก็มีการตอบรับที่ดี ผู้ประกอบการปลายน้ำหลายราย เช่น ธุรกิจอาหาร อาหารเสริม และเครื่องสำอาง ได้แสดงความสนใจผลิตภัณฑ์นี้ และมีการติดต่อเจรจากับ RBF เพิ่มขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง