×

‘เรย์ ดาลิโอ’ ฉายภาพจีนในปัจจุบันผ่าน 5 แรงกดดัน เตือนเร่งแก้ปัญหาหนี้ก่อนจะเผชิญทศวรรษที่สาบสูญ

28.03.2024
  • LOADING...
เรย์ ดาลิโอ

เรย์ ดาลิโอ ผู้ก่อตั้ง Bridgewater Associates บริษัทบริหารจัดการการลงทุน โพสต์บทความผ่าน LinkedIn ของตัวเอง เพื่ออธิบายสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับจีนผ่านมุมมองส่วนตัว ประสบการณ์ และการค้นคว้า โดยสรุปออกมาเป็น 5 แรงกดดันที่ส่งผลให้จีนต้องเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน

 

 

1. หนี้ก้อนใหญ่และปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า

 

ในจีนเวลานี้เป็นช่วงที่ยากลำบากในเชิงการเงิน เนื่องจากความมั่งคั่งที่กำลังลดลง ซึ่งเป็นผลจากปัญหาหลายด้าน ได้แก่ ราคาอสังหาริมทรัพย์ ราคาหุ้นและสินทรัพย์ลงทุนอื่น การจ้างงาน รวมทั้งค่าตอบแทนแรงงาน

 

ขณะเดียวกันยังมีปัญหาหนี้และปัญหาภาคการเงินที่หลายบริษัทและรัฐบาลท้องถิ่นเผชิญอยู่ ซึ่งหากรัฐบาลจีนไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างเหมาะสม ในท้ายที่สุดแล้วอาจทำให้จีนต้องเผชิญกับทศวรรษที่สาบสูญ (Lost Decade) 

 

เรย์มองว่ารัฐบาลจีนต้องทำสองสิ่งควบคู่กันไป คือ 1. ลดอัตราส่วนหนี้ลง และ 2. ผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน

 

“จากมุมมองส่วนตัว สิ่งนี้ควรเริ่มทำตั้งแต่ 2 ปีก่อน และหากไม่สามารถทำได้อย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่ Lost Decade” คล้ายกับที่เกิดขึ้นกับญี่ปุ่น

 

ขณะที่สังคมสูงวัยก็กำลังสร้างปัญหาให้กับรัฐบาลเช่นกัน ด้วยอายุเฉลี่ยของการเกษียณที่ 53 ปี ขณะที่ค่าเฉลี่ยอายุขัยอยู่ที่ 84 ปี ทำให้เกิดช่องว่างของผู้คนที่ไม่มีรายได้และต้องรับการดูแลโดยเฉลี่ย 31 ปี และผลจากนโยบายลูกคนเดียว (One-Child Policy) ก่อนหน้านี้ ทำให้ลูกหนึ่งคนต้องรับภาระดูแลทั้งพ่อและแม่

 

2. ความเหลื่อมล้ำทางฐานะ

ความเหลื่อมล้ำที่กว้างมากขึ้นในสังคมจีนทำให้รัฐบาลมุ่งไปข้างหน้าด้วยนโยบาย Common Prosperity หรือพยายามสร้างความเจริญร่วมกันและลดความเหลื่อมล้ำลง แต่วิธีการที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะเป็นไปตามความเห็นของผู้นำ มากกว่าจะเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน 

 

สิ่งที่เกิดขึ้นนำไปสู่ความกลัวสำหรับผู้ที่มีฐานะในสังคมทุนนิยม (Capitalist Elites) และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลค่อนข้างน้อยในเวลานี้ ขณะเดียวกันความรวยมีแนวโน้มที่จะถูกมองว่าเห็นแก่ตัวและคอร์รัปชัน

 

เรย์ระบุว่า “ไม่มีใครรู้ว่าลูกตุ้มจะเหวี่ยงกลับไปสู่แนวทางตามลัทธิเหมาหรือมาร์กซ์มากอีกแค่ไหน การขาดการสื่อสารที่แน่ชัดจากผู้นำเพื่ออธิบายเกี่ยวกับแรงจูงใจเบื้องหลังและเป้าหมายที่กำลังมุ่งไป การที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่อย่าง หลี่เฉียง เลือกที่จะยกเลิกการจัดงานแถลงข่าวเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ถือเป็นความเสี่ยงที่มากขึ้น”

 

3. ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ กำลังก่อผลกระทบครั้งใหญ่

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทำให้นักลงทุนและธุรกิจต่างชาติ รวมทั้งนักลงทุนและธุรกิจในประเทศต้องการที่จะกระจายความเสี่ยงหรือย้ายออกไปจากจีน เพราะกังวลว่าจะไม่ได้รับการยอมรับในระดับโลก 

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้จีนได้รับผลกระทบจากกำลังการผลิตส่วนเกิน ซึ่งนำไปสู่การแข่งกันลดราคาสินค้า การขึ้นภาษีการค้าระหว่างประเทศ 

 

เรย์ระบุว่า “ผมไม่คิดว่าฝ่ายไหนต้องการจะยั่วยุอีกฝ่าย และเห็นด้วยว่าความเข้าใจและเคารพวัฒนธรรมซึ่งกันและกันเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ละฝ่ายควรจะถามกันตรงๆ ว่าอะไรคือความกลัวเกี่ยวกับการดำรงอยู่ที่มากที่สุด และร่วมกันหาทางบรรเทาความกลัวเหล่านั้น หากไม่มีการพูดคุยกันอย่างเปิดเผย โอกาสที่จะเกิดสงครามภายใน 10 ปีข้างหน้าก็มีสูง และผู้คนต่างมีความคิดเหล่านี้อยู่ในหัว ซึ่งส่งผลเสียอย่างมาก”

 

 

4. ปัญหาสภาพภูมิอากาศ

ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม โรคระบาด และไม่มีน้ำสะอาดเพียงพอ สิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบมหาศาล

 

5. การแข่งขันเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี

ใครที่สามารถเป็นผู้ชนะของสงครามเทคโนโลยี (Technology War) จะเป็นผู้ชนะทั้งในเชิงเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร ทำให้ทั้งจีนและสหรัฐฯ ต่างทุ่มเททรัพยากรและบรรดาคนที่มีทักษะสูงเพื่อมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เช่น ชิป, ปัญญาประดิษฐ์, ควอนตัม คอมพิวติ้ง, อวกาศ, ไซเบอร์, แบตเตอรี่, พลังงานสะอาด, ยานยนต์ไฟฟ้า 

 

เรย์ปิดท้ายบทความของเขาด้วยการแสดงความเห็นด้วยกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ที่เชื่อว่าเรากำลังจะเผชิญกับพายุครั้งใหญ่ที่สุดในรอบร้อยปี ขณะเดียวกันเรย์ก็ยอมรับว่าเขายังไม่ได้เข้าใจสถานการณ์ทั้งหมดอย่างถ่องแท้ อย่างไรก็ตาม เรย์พยายามที่จะทำความเข้าใจและช่วยให้ทุกคนเข้าใจสถานการณ์ได้อย่างเป็นกลางมากที่สุด

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising