×

หมอระวีเสนอ กม.นิรโทษกรรมคดีชุมนุมการเมือง ตั้งแต่ 19 ก.ย. 49 – 30 พ.ย. 65 เว้นคดีทุจริต-ม.112-อาญารุนแรง

โดย THE STANDARD TEAM
22.12.2022
  • LOADING...
ระวี มาศฉมาดล

วันนี้ (22 ธันวาคม) นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส. พรรคพลังธรรมใหม่ ยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. …. โดยมีหลักการของกฎหมาย คือให้มีกฎหมายว่าด้วยการสร้างเสริมสังคมสันติสุขโดยให้มีการนิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน 

 

สำหรับเหตุผลของการยื่นกฎหมายฉบับนี้ คือตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา สังคมไทยเกิดการแตกแยกความคิดทางการเมือง แบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายอย่างรุนแรง และกระจายไปทั่วประเทศ มีการชุมนุมทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่องหลากหลายรูปแบบ ฝ่ายรัฐบาลได้ประกาศและบังคับใช้กฎหมายควบคุมการชุมนุมอย่างเข้มงวดเพื่อควบคุมและยุติการชุมนุมทางการเมือง

 

ส่งผลให้การชุมนุมทางการเมืองของประชาชนเกิดการกระทำผิดต่อกฎหมายที่ภาครัฐประกาศและบังคับใช้อย่างเคร่งครัด ขาดการยืดหยุ่นจนเกินความจำเป็น บางครั้งก็มีการสลายการชุมนุมโดยใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่และประชาชนจำนวนมากเกิดการบาดเจ็บล้มตาย ผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมากถูกดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญา ลงท้ายด้วยการจำคุกและชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง ก่อให้เกิดปัญหาที่ร้าวลึกปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อประเทศชาติทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง และวัฒนธรรม การกระทำต่างๆ ของผู้ร่วมชุมนุมและประชาชน ล้วนแต่ได้กระทำไปเพื่อแสดงออกทางความคิดเห็นทางการเมืองเพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาล ไม่ใช่แสดงออกเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ 

 

จึงสมควรให้มีการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนทุกกลุ่มที่ได้กระทำผิดจากการชุมนุมทางการเมืองและจากการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 – 30 พฤศจิกายน 2565 เพื่อเป็นการให้โอกาสกับประชาชนในการแสดงออกทางการเมือง เป็นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย เป็นการรักษาคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างเสริมสังคมสันติสุข ลดความขัดแย้งและสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ เพื่อให้สังคมไทยและประเทศชาติกลับมาสู่ความสงบสุข สมัครสมานสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาประเทศให้มีความเจริญยั่งยืนต่อไป 

 

สำหรับ พ.ร.บ. ดังกล่าวมีข้อยกเว้น 3 ข้อ คือ 

 

  1. ไม่นิรโทษกรรมคดีทุจริตคอร์รัปชัน 
  2. คดีตามประมวลกฎหมายมาตรา 112 
  3. ความผิดอาญาที่รุนแรงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต   

 

รวมทั้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองคดีนิรโทษกรรม จำนวน 7 คน ภายใน 60 วันหลังจากที่ พ.ร.บ. ดังกล่าวผ่าน โดยมีระยะเวลาในการดำเนินการ 10 เดือน หากผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมผ่านไปแล้ว กลับมาทำผิดอีกครั้ง ศาลยุติธรรมจะไม่มีการรอการลงอาญา หรือรอการลงโทษใดๆ ทั้งสิ้น คาดว่าจะมีการประสานกับ ส.ส. พรรคต่างๆ เพื่อผลักดันร่าง พ.ร.บ. นี้ให้พิจารณาได้ทันในสมัยการประชุมนี้ ก่อนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising