โลกเปลี่ยน! ราช กรุ๊ป ปรับแผนกลยุทธ์เน้นลงทุนโครงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เน้นลงทุน 4 ประเทศ ไทย สปป.ลาว ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย พร้อมจับมือพันธมิตรนำร่องโครงการพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่ แบตเตอรี่ (BESS) กรีนไฮโดรเจน เทคโนโลยีนิวเคลียร์ขนาดเล็ก SMR พร้อมอัดเม็ดเงินลงทุนหมื่นล้านลุยเพิ่มพอร์ตพลังงานทดแทน 30% ในปี 2573
นิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การขับเคลื่อนเป้าหมายการเติบโตนับจากนี้บริษัทจะมุ่งเน้นใน 3 เรื่องสำคัญ กล่าวคือ 1. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารสินทรัพย์ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าที่เป็นแหล่งรายได้หลักและกระจายอยู่ในหลายประเทศ โดยจะนำดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยในการติดตามการดำเนินงานและการวิเคราะห์ประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าให้ดียิ่งขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- บริหารโครงการในมือที่มีอยู่แล้วให้เสร็จตามเป้าหมาย ซึ่งปัจจุบันมี 15 โครงการ กำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น รวม 1,773 เมกะวัตต์ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้างในจำนวนนี้มี 4 โครงการ ได้แก่
-
- โรงไฟฟ้าอาร์ อี เอ็น โคราช, โรงไฟฟ้านวนครส่วนขยาย
- โรงไฟฟ้าพลังน้ำซองเกียง 1 เวียดนาม
- โครงการกักเก็บพลังงานระบบแบตเตอรี่ LG2 ออสเตรเลีย กำลังผลิตตามสัดส่วนถือหุ้น รวม 40 เมกะวัตต์ มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในครึ่งหลังของปีนี้
- นอกเหนือจาก 3 โครงการที่ดำเนินการสำเร็จในครึ่งแรกของปีนี้ ได้แก่ โรงไฟฟ้าหินกอง ชุดที่ 1 กำลังผลิตตามสัดส่วนถือหุ้น 392.7 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าไพตัน อินโดนีเซีย กำลังการผลิต 742 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้ากาลาบังก้า ฟิลิปปินส์ กำลังการผลิต 36.36 เมกะวัตต์
- มุ่งเน้นลงทุนโครงการที่อยู่ในแนวทางการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศเป้าหมาย ได้แก่ ไทย สปป.ลาว ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย ซึ่งแต่ละประเทศได้กำหนดกรอบการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไว้ชัดเจนแล้ว และครอบคลุมกำลังการผลิตพลังงานทดแทนและเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ
นิทัศน์กล่าวอีกว่า บริษัทเริ่มศึกษาโมเดลการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่ ระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System: BESS) การผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนสีเขียว การซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนโดยตรง (Direct Power Purchase Agreement: DPPA) และการผลิตไฟฟ้าจากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Reactor Modular: SMR)
“ปีนี้บริษัทได้ทบทวนธุรกิจโดยจะมุ่งเน้นธุรกิจผลิตไฟฟ้าและพลังงาน วางกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของโลกและประเทศ ส่วนรูปแบบจะเน้นประเภทกรีนฟิลด์และบราวน์ฟิลด์ โดยจะเข้าร่วมพัฒนาโรงไฟฟ้าในประเทศเป้าหมาย“
โดยนิทัศน์มองว่า ขณะนี้ประเทศไทยและอินโดนีเซียมีโอกาสลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และก๊าซธรรมชาติ สปป. ลาว มีศักยภาพที่จะลงทุนด้านพลังงานน้ำเพื่อส่งจำหน่ายให้กับประเทศไทย ส่วนออสเตรเลียมีศักยภาพพัฒนาโครงการพลังงานลม แสงอาทิตย์ ระบบกักเก็บพลังงาน ที่ต่อยอดจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ
บริษัทได้เริ่มศึกษาโมเดลการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้ารูปแบบใหม่ และเทคโนโลยีพลังงานอนาคตที่สามารถต่อยอดจากสินทรัพย์และศักยภาพความสามารถของบริษัทที่มีอยู่แล้ว ได้แก่ โครงการกรีนไฮโดรเจน ได้ร่วมกับ BIG พัฒนาการผลิตไฮโดรเจนจากพลังงานทดแทนจากโครงการของบริษัทที่มีอยู่ในประเทศไทย สปป.ลาว ออสเตรเลีย เพื่อจำหน่ายภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง และการผลิตไฟฟ้าในอนาคต
รวมถึงระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบแบตเตอรี่ ซึ่งบริษัทย่อยในออสเตรเลียกำลังศึกษาโครงการขนาด 100 MW/200 MWh ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ โครงการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดโดยตรงในประเทศไทย ซึ่งกำลังร่วมกับพันธมิตรศึกษาโครงการนำร่องในนิคมอุตสาหกรรมและการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ขนาดเล็ก ได้ร่วมกับพันธมิตรทำการศึกษาเทคโนโลยี กฎระเบียบ และประเมินผลกระทบด้านต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีความปลอดภัยสูงหากมีการนำมาใช้
ปี 2567 ทุ่มหมื่นล้านบาทขยายธุรกิจ ลุยเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนให้ถึง 30% ในปี 2573
ทั้งนี้ บริษัทอนุมัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับผลการดำเนินงานรอบ 6 เดือนแรก 1,740 ล้านบาท (0.80 บาทต่อหุ้น) ซึ่งสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
โดยปัจจุบันราชกรุ๊ปมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการลงทุนรวม 10,817.28 MW โดยเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลรวม 7,842.61 เมกะวัตต์ ( 72.5%) และกำลังผลิตจากพลังงานทดแทนรวม 2,974.67 ( 27.5%)
ในปี 2567 บริษัทวางงบลงทุนจำนวน 1 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตจากพลังงานทดแทนให้ถึง 30% ในปี 2573 และ 40% ในปี 2578
นิทัศน์มองเศรษฐกิจครึ่งปีหลังว่ามีแนวโน้มดีกว่าครึ่งปีที่ผ่านมา เมื่อดูจากกระแสของนักลงทุนหลังได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ หากเศรษฐกิจดีขึ้น การใช้ไฟฟ้าก็จะเพิ่มขึ้น จึงขอให้รัฐบาลเร่งแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan: PDP 2024) โดยเฉพาะเทรนด์ความต้องการใช้พลังงานสะอาดเพื่อรองรับการลงทุนในอนาคต นิทัศน์กล่าวทิ้งท้าย