เชื่อว่าผู้ใหญ่หรือวัยรุ่นตอนปลายหลายๆ คนคงเคยดู Ratatouille พ่อครัวตัวจี๊ด หัวใจคับโลก กันมาก่อน วันนี้เป็นโอกาสดีที่ THE STANDARD POP จะพาทุกคนมาตอกย้ำความโตเป็นผู้ใหญ่ของพวกเรากันสักหน่อย เพราะในวันนี้ (29 มิถุนายน) แอนิเมชันจากดิสนีย์ที่ว่าด้วยเรื่องราวของเจ้าหนูผู้ชื่นชอบการทำอาหารจะมีอายุครบ 15 ปีแล้ว และเพื่อฉลองความผ่านไปไวของเวลาและภาพยนตร์ในใจของหลายๆ คน (รวมทั้งตัวผู้เขียนเอง) เราจึงอยากพาทุกคนมองผ่านประตูห้องครัวไปสำรวจการ์ตูนเรื่องโปรดอีกครั้ง
ว่ากันว่าการ์ตูนวัยเด็กมาดูอีกครั้งตอนโตเราจะได้เมสเสจที่ต่างออกไป ซึ่ง Ratatouille การ์ตูนว่าด้วยเรื่องราวของเจ้าหนูเรมี หนูท่อที่กลายมาเป็นเชฟในภัตตาคารชื่อดังกลางปารีสเรื่องนี้ก็เช่นกัน ผู้เขียนในวัยเด็กเองมองว่าเป็นการ์ตูนน่ารักที่นำเสนอมิตรภาพระหว่าง เรมี เจ้าหนูท่อที่มนุษย์ต่างก็มีภาพฝังหัวว่าสกปรก น่ารังเกียจ และ ลิงกวินี เด็กหนุ่มจิตใจดีแต่ทำอาหารไม่เก่ง แต่เมื่อมาดูอีกครั้งกลับพบว่า Ratatouille เป็นการ์ตูนที่นำเสนอเนื้อหาหลายอย่างที่ลึกซึ้ง
“ไม่ว่าใครก็ทำอาหารได้”
เป็นมอตโตที่ถูกพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกตลอดภาพยนตร์ มอตโตนี้เป็นคติประจำใจของ ออกุสต์ กุสโต เจ้าของภัตตาคารชื่อดังที่เชื่อว่าทุกคนทำอาหารได้
เชื่อไหมว่าประโยคง่ายๆ เช่นนี้สื่อความหมายถึงการทำลายขนบทางสังคมเรื่องชนชั้นเลยทีเดียว เราคงเห็นจากในเรื่องแล้วว่าการทำอาหารคือศิลปะ จริงอยู่ที่ไม่ว่าชนชั้นใดๆ ล้วนต้องกิน และเมื่อกินก็ต้องหุงหาอาหาร แต่การทำอาหารบางประเภทเท่านั้นที่สังคมพิจารณาว่าเป็นศิลปะ อย่างเช่น Haute Cuisine (อาหารชั้นสูง) เพราะการทำอาหารในภัตตาคารหรูต้องมีองค์ประกอบที่พิถีพิถันหลายอย่าง สูตรที่แน่นอน วัตถุดิบคุณภาพดี พ่อครัวที่ผ่านการฝึกฝนจนชำนาญ ด้วยองค์ประกอบเหล่านี้จึงสามารถเรียกได้เต็มปากว่า การทำอาหารคือศิลปะ (ตามที่เขาว่าน่ะนะ)
และศิลปะไม่ใช่สำหรับทุกคน อย่างน้อยก็ในความเชื่อของคนสมัยก่อน ยุโรปขึ้นชื่อว่าให้ความสำคัญกับศิลปะเป็นอย่างมาก ศิลปะแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการวาด การเขียน งานไม้ งานปั้น หรือการทำอาหาร จะถูกสงวนไว้ให้คนที่เหมาะสม และคนในแต่ละวงการศิลปะก็จู้จี้ทีเดียวในการรับคนเข้าร่วมวงการของตน ใช่ว่าทุกคนในครัวจะเป็นชนชั้นสูง แต่อย่างน้อยพวกเขาก็ไม่ใช่หนู
ทำไมต้องหนู?
ในทางวรรณกรรมหนูมักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของคนจากชนชั้นต่ำ เพราะตามธรรมชาติหนูมักอยู่ตามท่อ พื้นที่ไม่สะอาด ขโมยของกิน และดุร้าย ซึ่งเป็นภาพจำเชิงลบที่สังคมมีต่อคนจากชนชั้นล่าง การจะทลายกำแพงที่คั่นระหว่างชนชั้นล่างกับศิลปะ เพื่อตอกย้ำว่าไม่ว่าใครก็เป็นศิลปินได้ จึงต้องใช้หนูเป็นสัญญะ
“ปัญหาชีวิตของผมคืออะไรน่ะเหรอ อย่างแรกเลยผมเป็นหนู ซึ่งก็แปลว่าชีวิตยากแน่ และสองผมมีประสาทรับรสและกลิ่นดีเยี่ยม”
เป็นหนูนั้นเลวร้าย และเป็นหนูที่มีพรสวรรค์ยิ่งเพิ่มความยากเข้าไปอีก เพราะดูเหมือนไม่มีที่ไหนเหมาะกับเขาเลย (ซึ่งในข้อนี้เขาก็คล้ายกับตัวละคร ฌอง บัปติส เกรอนุย จากวรรณกรรม Das Parfum หรือ น้ำหอม อยู่ทีเดียว) เรมีถูกรังเกียจตั้งแต่ครั้งแรกที่ถูกพบเห็น ทุกคนต้องการกำจัดเขาไปให้พ้นครัว พ่อและครอบครัวของเขาเชื่อว่าที่ที่เหมาะกับเขาคือท่อมากกว่าหน้าเตา และความเห็นจากคนอื่นๆ ในสังคมก็เป็นอุปสรรคที่ทำให้เขาไม่สามารถทำอาหารได้อย่างเปิดเผย ไม่ว่าต่อหน้าพ่อครัวคนอื่นหรือพ่อแท้ๆ ของเขาก็ตาม เพราะต่างมองว่าเขาอยู่ผิดที่ผิดทาง
แต่เจ้าหนูที่มีพรสวรรค์ล้นไม่ยอมแพ้ เขาต่อสู้กับชะตากรรมด้วยการยืนยันจะทำอาหาร! แต่แน่นอนว่าต้องทำด้วยวิธีการแบบไม่ตรงไปตรงมา การต่อสู้แบบไม่ตรงไปตรงมานี้เป็นวิธีที่คนชายขอบใช้ต่อสู้ ในกรณีของเรมีที่ไม่ถูกยอมรับเพราะรูปลักษณ์ของหนู เขาจึงใช้รูปลักษณ์ของ ลิงกวินี บังตาทุกคนเพื่อให้ทำอาหารต่อไปได้
ลิงกวินีเองก็เป็นอีกตัวละครที่ถูกดูถูก แม้แต่เรมีที่ทุกคนดูถูกก็ยังไม่คิดว่าเด็กเก็บขยะคนนี้จะทำอาหารได้ (แม้จะจริงอย่างว่า เพราะพรสวรรค์ของลิงกวินีไม่ใช่การทำอาหารจริงๆ) แต่เขาก็เป็นคนที่ทำให้เราเห็นภาพการจัดลำดับชนชั้นในห้องครัวได้อย่างชัดเจน
คนจากชนชั้นล่าง คนที่ไม่มีประสบการณ์ ไม่ใช่แค่สองกลุ่มที่ถูกกีดกันจากทัพพีและกระทะหลังภัตตาคารหรู แต่ผู้หญิงก็เช่นกัน
“นายเห็นผู้หญิงอยู่กี่คนในครัวนี้กัน แค่ฉัน แล้วนายคิดว่าทำไมล่ะ ก็เพราะครัวอาหารชั้นสูงคือระบบชนชั้น จัดลำดับขั้นคร่ำครึที่สร้างขึ้นตามกฎของพวกผู้ชายแก่โง่ๆ ไงล่ะ แล้วกฎพวกนั้นก็ถูกสร้างมาให้เป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้หญิงจะก้าวเท้าเข้ามาในโลกนี้…แต่ฉันก็ยังเข้ามาได้ รู้ไหมทำไม เพราะฉันคือคนที่แกร่งที่สุดในครัวนี้”
ผู้หญิงถูกกีดกันจากศิลปะชั้นสูงแทบทุกแขนงเป็นธรรมเนียม และการทำอาหารก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ผู้หญิงทำอาหารกันเยอะแยะแต่มันคือหน้าที่ ไม่ใช่ศิลปะ ศาสตร์แห่งการคนซอส หั่นหอมใหญ่ และย่างเนื้อถูกสงวนไว้ให้ผู้ชาย และแม้ Ratatouille จะเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันร่วมสมัย แต่ความเหลื่อมล้ำทางเพศในห้องครัวก็ยังปรากฏอยู่ และคอลเลตต์ก็ตอกย้ำเรื่องนั้นอย่างชัดเจน น่าสงสัยอยู่เหมือนกันว่าถ้ากฎที่คอลเลตต์พูดถึงหายไป เราจะเห็นผู้หญิงในห้องครัวของกุสโตเพิ่มขึ้นไหม
แม้ว่า Ratatouille จะแสดงภาพสังคมในครัวอาหารชั้นสูง แต่ในเวลาเดียวกันมันก็ฉายภาพให้ได้เห็นว่าเบื้องหลังของจานอาหารที่ถูกตกแต่งอย่างงดงาม และลูกค้ากำลังรับประทานอย่างเอร็ดอร่อยนั้น กลับตอกย้ำถึงระบบชนชั้น การเหมารวม และการกีดกันทางเพศ แต่ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา เรมีพิสูจน์แล้วว่าอคติเหล่านั้นมันไม่จริง ผู้เขียนเชื่อว่าเรมีและ Ratatouille จะยังคงทลายกำแพงในใจผู้คนต่อไปได้ด้วยความตั้งใจมั่นและยึดถือในสิ่งที่ตัวเองรัก อย่างที่เขาทำให้นักวิจารณ์ แอนทอน อีโก ผู้เคยมีอคติเปิดใจยอมรับว่า
“ใช่ว่าทุกคนจะเป็นศิลปินได้ แต่ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่มาได้จากทุกชาติกำเนิด”