มีละครหลายเรื่องที่ ‘น่าดู’ แต่ละครเรื่อง ‘ล่า’ ทางช่อง one อยู่ในจุดของละครที่ ‘ต้องดู’ ที่สุดในเวลานี้ ซึ่งต้องขอสดุดีทีมงานที่ตีความละครให้เข้ากับยุคสมัยได้เฉียบคมมาก โดยไม่เพียงเป็นละคร ‘สะท้อนสังคม’ แต่ทำหน้าที่ ‘วิพากษ์สังคม’ ตั้งแต่การปะทะกันระหว่าง ‘ข่มขืน = ประหาร’ กับ ‘สิทธิมนุษยชน’ ยาเสพติด, ความรุนแรงในครอบครัว, การสร้างภาพออกสื่อ, Social Bullying, การทำงานของสื่อที่ทำอะไรก็ได้เพื่อให้ได้ข่าวที่ดราม่าที่สุดโดยไม่สนใจความปลอดภัยของเหยื่อ, ช่องโหว่ของกระบวนการยุติธรรม, สังคมหน้าไหว้หลังหลอกในที่ทำงาน, การส่งไลน์ผิดกรุ๊ป ยันวิพากษ์ระบบระบายน้ำในกรุงเทพ ฯลฯ ต้องปรบมือให้กับทีมเขียนบทที่จับเอาประเด็นสังคมยุคนี้มาใส่ในละครได้อย่างแนบเนียน ไม่ยัดเยียด และไม่ดูพยายามเกินไป ปรบมือ!
และต้องขออุทิศพื้นที่ต่อจากนี้สดุดีให้กับทีมนักแสดง ‘ทุกคน’ ที่ทำหน้าที่ได้ดีมาก ตัวละครทุกตัวมีมิติ มีจิตวิญญาณ มีเหตุผลรองรับการกระทำ หมิว-ลลิตา ปัญโญภาส ในบท ‘มธุสร’ ที่ให้การแสดงระดับมาสเตอร์พีซที่ควรค่าแก่การคารวะและฉีกไปอีกทางจากเวอร์ชัน นก-สินจัย เปล่งพานิช (เอาว่าแค่ฉากในศาลหลังเล่าเรื่องข่มขืน ไม่ต้องมีคำพูดอะไร แค่ก้มหน้าแล้วน้ำตาพี่หมิวไหลลงมา การแสดงอันทรงพลังของพี่หมิวก็ทำเรามองข้ามวิกทรงพี่โหน่ง วสันต์ไปได้แล้ว) น่าเชื่อว่าเวทีประกาศรางวัลปีหน้าพี่หมิวจะต้องเดินสายรับรางวัลแน่นอน เช่นเดียวกับ น้องเซียงเซียง ในบท ‘ผึ้ง’ ลูกสาวของมธุสร ที่ให้การแสดงที่อบอุ่น น่าทะนุถนอม แต่พอถึงฉากที่พ่อแม่ทะเลาะกันก็สะท้อนความรู้สึกของลูกที่โลกครอบครัวสุขสันต์ของเด็กคนหนึ่งพังทลายต่อหน้าได้ดี ยิ่งพอละครดำเนินถึงจุดเปลี่ยนของเรื่องที่ผึ้งโดนข่มขืน น้องก็ทำให้เรารู้สึกว่านี่คือเด็กที่น่าสงสารที่สุด
เต๋า-สมชาย เข็มกลัด ก็อีกคน อย่าว่าแต่ฉากข่มขืนเลย แค่พี่ยืนนิ่งๆ แล้วมองมา พี่ก็แผ่รังสีอำมหิตจนคนดูตัวลีบยกมือไหว้ร้องขอชีวิตแล้ว และขอให้ดูฉากที่พี่เต๋าโดนปืนจ่อหัว พี่เต๋าทำให้เรารู้ว่าคนที่กล้าบ้าบิ่นที่สุดเวลากลัวตายเป็นอย่างไร เจค-ศตวรรษ ดุลยวิจิตร ก็สร้างความเป็นมนุษย์ที่โคตรน่าขยะแขยงให้กับตัวละครจนเรารู้สึกเกลียด พี่เต๋าและพี่เจคควรได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงนักแสดงชายสมทบและไปไกลถึงการได้รับรางวัล และที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ บุ๋ม-รัญญา ศิยานนท์ ที่ทำให้ตัวละครเพื่อนนางเอกที่ส่วนใหญ่มักจะแบน ไม่มีบทบาทอะไรมาก กลายเป็นตัวละครที่มีเลือดเนื้อ สัมผัสได้ถึงความรักเพื่อนสุดหัวใจ คำพูดหลายคำของตัวละครนี้ทำหน้าที่พูดแทนคนดูที่พูดกับไปยังมธุสรอยู่เสมอ จนเรารู้สึกว่าในชีวิตหนึ่งก็อยากมีเพื่อนแบบนี้นี่แหละ
ยังไม่รวมการถ่ายทำที่มุมกล้องดีเหลือเกิน มีการใช้กล้อง GoPro ในการทำให้มุมภาพสามารถเล่าเรื่องได้ทรงพลังกว่าเดิม ไปจนถึงการดำเนินเรื่องที่ไม่ย้วย ทุกอย่างมีเหตุผลรองรับ บทพูดทุกคำมีความหมาย และมีผลต่อการดำเนินเรื่องทั้งหมด ไม่ใช่สักแต่ว่าพูด
นี่เป็นละครที่ต้องขีดเส้นใต้อีกหลายครั้งว่า ‘ต้องดู’ และ ‘ต้องดู’!!!
ละครเรื่อง ล่า อาจไม่ใช่ละครเรื่องแรกที่มีฉากการข่มขืน แต่ละครบ้านเราทั้งในอดีตและปัจจุบันมีการข่มขืนตัวละครอยู่ในเนื้อเรื่อง ทั้งที่เรารู้ว่ามันคือการข่มขืน หรือที่เราอาจจะคิดไม่ถึงว่านี่คืออีกหนึ่งรูปแบบของการข่มขืน
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การข่มขืนที่เกิดขึ้นในละครไทยกำลังบอกอะไรเราอยู่ผ่านเลนส์ของเฟมินิสต์ ความรุนแรงเชิงอำนาจ บทบาทสื่อ ไปจนถึงการขับเคลื่อนทางสังคม
ข่มขืน = เลิฟซีน
หลายครั้งละครเรียกฉากข่มขืนเสียโรแมนติกเชียวว่า ‘ฉากเลิฟซีน’ และฉากข่มขืนที่เรียกว่าฉากเลิฟซีนนี้เองกลายเป็นฉากที่คนรอดู
สวรรค์เบี่ยง, จำเลยรัก, แรงเงา, ร้อยเล่ห์เสน่ห์ร้าย ฯลฯ ละครคลาสสิกเหล่านี้ พระเอกใช้การข่มขืนนางเอกเพื่อการ ‘กำราบ’ นางเอกทั้งสิ้น เช่น
‘แรงเงา’ วีกิจหลงรักมุตตา แต่มุตตาดูไม่ไยดีกับเขาเท่าไร ก็เลยจัดการปล้ำซะ พอปล้ำแล้วมุตตา (ซึ่งจริงๆ คือมุนินทร์) ก็พบว่าตัวเองก็มีเยื่อใยหวั่นไหวกับวีกิจอยู่ ตอนจบก็รักกัน เออ! ดี!
‘สวรรค์เบี่ยง’ คาวีมีความแค้นครอบครัวนาริน เลยหาทางทำร้ายนางเอกตลอดเวลา ขณะเดียวกัน อยู่กับนางเอกไปก็หวั่นไหวในความดีงามของเธอ แต่พอเห็นผู้ชายคนอื่นเข้ามาใกล้นางเอกก็โกรธ ลักพาตัวซะ จับนางเอกโยนลงทะเลก็แล้ว จับมัดให้ตากฝนก็ทำจ้า! แล้วลากมาข่มขืน ข่มขืนเสร็จ ตื่นมา อ้าว! นางเอกตัวร้อน คาวีเลยช่วยเช็ดตัวให้ ตอนจบก็รักกันตามระเบียบจ้า!
‘จำเลยรัก’ หฤษฏิ์จับตัวโศรยามาด้วยความแค้น เพราะนึกว่าโศรยาคือคนที่ทำให้น้องชายเสียชีวิต หฤษฏิ์ทรมานโศรยาสารพัด และเธอก็ยอมแต่โดยดี จนมาถึงคืนที่หฤษฏิ์ข่มขืนโศรยา และตอนจบก็รักกันตามระเบียบเช่นเคย
ส่วน ‘ร้อยเล่ห์เสน่ห์ร้าย’…อย่าไปสนเนื้อเรื่องเลย เอาว่าพระเอกก็แก้แค้นนางเอก ลักพาตัวแล้วข่มขืนนางเอก สุดท้ายรักกันอีกนั่นแหละ
ข้อสังเกตคือละครที่มีเส้นเรื่องพระเอกข่มขืนนางเอกแบบนี้จะยังคงถูกรีเมกอยู่เรื่อยๆ เรตติ้งพุ่งกระฉูด ดึงดูดให้นักแสดงเบอร์ต้นๆ ของวงการอยากมารับบทนี้ เอาว่าใครเล่นก็ดังแน่นอน ฉากข่มขืนมีคนดูแล้วจิกหมอนฟินตาม ในหนังสือพิมพ์มีข่าวประชาสัมพันธ์ละครให้เห็นเบื้องหลังการถ่ายทำฉาก ‘เลิฟซีน’ นี้เพื่อให้คนดูรอติดตาม
ละครแบบนี้กำลังทำให้การข่มขืนกลายเป็นความโรแมนติก ทำให้เห็นว่าสุดท้ายผู้หญิงที่ถูกข่มขืนยังไงก็รักผู้ชายที่ข่มขืนอยู่ดี และทุกเรื่องนางเอกจะไม่มีทางสู้เมื่อพระเอกข่มขืน แต่ฉากถัดมานางเอกจะนอนหลับพริ้มอยู่ข้างพระเอกอย่างปลอดภัย ไม่มีนางเอกคนไหนแจ้งความเอาเรื่อง ไม่มีนางเอกคนไหนรีบไปโรงพยาบาลเพื่อเก็บหลักฐาน ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ นางเอกทุกคนยังคงใช้ชีวิตแบบที่ปล่อยให้พระเอกเข้ามาในชีวิตได้ตลอดเวลา
สิ่งที่น่าคิดคือ ทำไมเราถึง ‘ฟิน’ กับการที่พระเอกข่มขืนนางเอก แต่ดันขยะแขยงข่าวข่มขืน เป็นไปได้หรือเปล่าว่า การข่มขืนในละครแบบนี้ทำให้เป็นเรื่องโรแมนติกที่สุดท้ายพระเอกกับนางเอกก็จะรักกัน ภาพการข่มขืนในละครนั้นคนที่ข่มขืนเป็นพระเอกสุดหล่อ ซึ่งเราจินตนาการว่าอยากได้ใกล้ชิดแนบกายกับพระเอกแบบนี้ นอกจากหล่อแล้วพระเอกยังดันรวยอีก ถึงยอมรับได้ แต่ข่าวข่มขืนในหน้าหนังสือพิมพ์ที่เรารังเกียจมักเป็นข่าวข่มขืนของคนในชนชั้นแรงงานที่ดูสถานภาพทางสังคมด้อยกว่า เป็นโจร เป็นอดีตนักโทษ เป็นแก๊งค้ายาเสพติด ฯลฯ ทำให้เรารังเกียจ
มองในมุมนี้ การข่มขืนจึงไม่พัวพันเพียงแค่การละเมิดทางเพศ แต่ยังกินความไปถึงเรื่องชนชั้นทางสังคมด้วย กล่าวคือ ถ้าคนรวยหรือหล่อข่มขืนก็ไม่ผิด แต่ถ้าเป็นชนชั้นแรงงานข่มขืนถึงจะน่ารังเกียจ
ถ้าการข่มขืนคือสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นใครทำ หล่อ รวย จน สถานะทางสังคมเป็นอย่างไร การข่มขืนก็คือสิ่งที่ผิดมหันต์ แต่การข่มขืนในละครที่พระเอกข่มขืนนางเอกแล้วรักกันแบบนี้ น่าจะทำให้เราตั้งคำถามขึ้นมา
สามีข่มขืนภรรยาไม่ผิด?
‘คู่กรรม’ น่าจะเป็นตัวอย่างคลาสสิกของกรณีสามีข่มขืนภรรยาที่ผู้คนติดตามดูมากที่สุด เมื่อโกโบริและอังศุมาลินแต่งงานกันด้วยเหตุผลทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โกโบริไม่เคยล่วงเกินอังศุมาลินเลย เพราะรู้ว่าอังศุมาลินไม่ได้รัก และยังมีวนัสอยู่เต็มหัวใจ จนคืนหนึ่งที่โกโบริเมามาก บวกกับความน้อยใจในความเฉยชาของอังศุมาลิน โกโบริเลยขืนใจอังศุมาลินซะ และสุดท้ายอย่างที่เรารู้กัน อังศุมาลินก็มาค้นพบในตอนท้ายว่าเธอรักโกโบริ
โกโบริยังคงเป็นพระเอกในฝันของใครหลายคนอยู่ แม้ในความเป็นจริงเขาคือคนที่ข่มขืนภรรยา แม้ละครจะพยายามหาเหตุผลมารองรับว่าโกโบริเมา และทำไปเพราะรักก็ตาม
ละครเรื่อง เสน่หา Diary ตอน ‘บ่วงเสน่หา’ ทางช่อง one ซึ่งออกอากาศในปี 2560 ที่นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา กับ กัปตัน-ภูธเนศ หงษ์มานพ แสดงนำก็เช่นกัน ในเรื่องภีมและมินตราแต่งงานกัน แต่ภีมเป็นเกย์ที่มีคนรักอยู่แล้ว ต่อมาภีมเกิดความหึงหวงและกลัวว่าการหย่ากับมินตราจะทำลายภาพลักษณ์ของเขา ภีมเลยข่มขืนและทำร้ายมินตรา พร้อมวาทะ “ผมเป็นสามีของคุณ ผมจะทำอะไรคุณก็ได้”
สิ่งที่เหมือนกันของละครที่สามีข่มขืนภรรยาคือ ภรรยาอยู่ในสถานะที่ไม่มีทางสู้ ตั้งแต่ไม่สามารถปฏิเสธการร่วมเพศได้ เพราะด้วยกำลังของผู้ชาย ด้วยการต้องพึ่งพิงด้านการเงินของผู้ชายอยู่ หรือการคำนึงถึงสถานะทางสังคมว่าจะถูกมองอย่างไรหากเกิดการหย่าขึ้น จนต้องยอมก้มหน้ายอมรับชะตากรรมไป
ในขณะที่ความเป็นจริง การข่มขืนภรรยาเป็นสิ่งผิดทั้งทางศีลธรรมและกฎหมาย แต่ละครยังคงฉายภาพสามีข่มขืนภรรยาได้อยู่ และภรรยายังคงต้อง ‘ยอมรับ’ การข่มขืนจากผู้ชายที่เธอแต่งงานต่อไป
ผู้หญิงด้วยกัน ‘ข่มขืน’ กันเอง
Club Friday To Be Continued ตอน เพื่อนรักเพื่อนร้าย ทางช่อง GMM 25 ซึ่งมีสายป่าน-อภิญญา สกุลเจริญสุข กับกิ๊บซี่-วนิดา เติมธนาภรณ์ แสดงนำ เป็นละครเรต ‘ท’ หรือทั่วไป ซึ่งมีแกนหลักของเรื่องเป็นความขัดแย้งของเพื่อนผู้หญิงสองคน ซึ่งนอกจากจะมีความรุนแรงทำร้ายร่างกายระหว่างผู้ชาย-ผู้หญิง และผู้หญิง-ผู้หญิง ทั้งตบตี เอาหน้าแนบกับท่อไอเสียรถจักรยานยนต์และอีกสารพัดวิธี แต่ที่พีกที่สุดคือการที่ตัวละครหญิงนำกลุ่มนักเลงผู้ชายไปรุมข่มขืนตัวละครหญิงอีกคน
ความรุนแรงดังกล่าวส่งผลให้มีการร้องเรียนไปยัง กสทช. แต่กว่า กสทช. จะทำอะไรละครก็จบไปสองเดือนแล้ว (เร็วดีแท้…) โดยสิ่งที่ กสทช. ลงโทษคือตักเตือนให้ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด ในฐานะผู้รับใบอนุญาตช่องดิจิทัลทีวี ช่อง GMM 25 ควรปรับเปลี่ยนการจัดระดับความเหมาะสมของละครจาก ‘ท’ รายการที่เหมาะสำหรับผู้ชมทุกวัย เป็น ‘น18’ รายการที่เหมาะกับผู้ชมอายุ 18 ปี ผู้ชมที่อายุน้อยกว่า 18 ปีควรได้รับคำแนะนำ และหากจะนำละครมารีรันซ้ำ ให้ตัดฉากที่ไม่เหมาะสมออกด้วย
สรุปคือ กสทช. กำลังบอกว่า “ถ้าจะรีรันซ้ำเนี่ยนะก็ไปปรับเรตใหม่จาก ท เป็น น18 เนอะ ส่วนฉากไหนไม่เหมาะสมที่เขาด่าๆ กันก็ตัดออกไปหน่อยแล้วกัน ไปแล้วค่ะ บาย!” — จบข่าว! บ๊ะ! แค่เนี้ยะ!
ดีจังเลยจ้า!
‘เพื่อนรักเพื่อนร้าย’ ไม่ใช่ละครเรื่องเดียวที่ตัวละครหญิงใช้ข่มขืนในการทำร้ายผู้หญิงด้วยกัน ‘แรงเงา’ ซึ่งจะกี่เวอร์ชันก็โคตรดังก็เช่นกัน เมื่อนพนภา ภรรยาหลวง ส่งผู้ชายไปทำร้ายและข่มขืนมุตตาเนื่องจากแค้นที่มุตตามาพัวพันกับสามีของเธอ และเมื่อมุนินทร์ แฝดคนพี่กลับมาในคราบมุตตา ที่ฉาก ‘ตบหลวงหน้ากระทรวง’ นพนภาก็ยังขู่ว่า “คราวที่แล้วฉันส่งคนไปจัดการแค่คนเดียว มันคงจะไม่พอใช่ไหม ฉันน่าจะส่งคนไปสักสิบคน!”
จะเห็นได้ว่า ความน่ากลัวของการข่มขืนไม่เพียงเป็นการที่ผู้ชายทำร้ายผู้หญิง แต่ละครยังทำให้ผู้หญิงใช้การข่มขืนเป็นการทำลายผู้หญิงด้วยกัน โดยที่ผู้หญิงเองก็รู้ว่าการข่มขืนมีพลังทำลายล้างผู้หญิงด้วยกันเองสูงที่สุด แต่ก็ยังใช้การข่มขืนทำลายผู้หญิงอยู่ ผู้หญิงจึงไม่เพียงเป็นเหยื่อของผู้ชาย แต่ยังเป็นเหยื่อของผู้หญิงด้วยกันเองอีกด้วย
‘ข่มขืน’ เพื่อสะท้อน / วิพากษ์สังคม
ละครเรื่อง ‘ล่า’ น่าจะเป็นละครเรื่องเดียวหรือไม่กี่เรื่องที่ใช้การข่มขืนเป็นจุดพลิกผันของเรื่อง ที่ขยี้ให้ตัวละครต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง
ในเวอร์ชัน พ.ศ. 2534 นั้น ฉากข่มขืนเกิดขึ้นโดยที่กลุ่ม 7 ทรชน ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับมธุสรและลูกมาก่อน หลังจากนั้น ละครค่อยพาเราไปสำรวจที่มาที่ไปของ 7 ทรชนทีละคนว่ามูลเหตุอะไรทำให้แต่ละคนถึงได้เลวและนำไปสู่การข่มขืนได้แบบนี้ ตั้งแต่การขาดความอบอุ่นในครอบครัว ถูกทิ้งไว้ตั้งแต่เด็ก การอยู่ในสังคมที่ส่งเสริมการเอาเปรียบผู้หญิง ฯลฯ ในขณะเดียวกัน ในเวอร์ชันดังกล่าว สภาพแวดล้อมของชุมชนที่มธุสรไปอยู่นั้นดูสุ่มเสี่ยงมาก คือเป็นบ้านหลังเดียวในที่ร้างปราศจากผู้คน เปลี่ยวยิ่งกว่าเวอร์ชันปัจจุบัน เอาว่าแค่เห็นสภาพบ้าน ไม่ต้องเห็นสภาพแวดล้อมอื่นๆ ก็น่ากลัวแล้ว
ในขณะที่เวอร์ชัน พ.ศ. 2560 นี้ ทีมเขียนบทสร้างเหตุผลมูลเหตุจูงใจของการข่มขืนด้วยการให้มธุสรและลูกไปพัวพันกับคดียาเสพติดในฐานะพยาน และเมื่อบวกกับการทำงานของสื่อมวลชนที่ไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยของพยานเลยแม้แต่น้อย ส่งผลให้เกิดการตามล่ากลุ่ม 7 ทรชนซึ่งอยู่ในแก๊งยาเสพติดขึ้น ทำให้กลุ่ม 7 ทรชนนี้โกรธแค้นและเป็นฝ่ายตามล่ามธุสรกับลูกก่อน เช่นเดียวกับ สามีเก่าของมธุสรที่เป็นฝ่ายตามล่ามธุสรด้วยการประจานและหาเรื่องเดือดร้อนมาให้ไม่หยุดหย่อนแม้จะหย่ากันไปแล้วก็ตาม ทำให้ละครไม่เพียงแต่เป็นการตามล่าของมธุสร แต่ทำให้เห็นว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเริ่มต้นจากการที่ฝ่ายตัวร้ายตามล่ามธุสรกับลูกก่อน อย่างไรก็ตาม จะพบว่า ที่อยู่อาศัยในเวอร์ชันนี้ แม้จะอยู่ในชุมชนแออัด แต่ก็ให้ความรู้สึกเหมือนชุมชนทั่วไปที่เหมือนจะมีคนอยู่เยอะ น่าจะปลอดภัย แต่จริงๆ แล้วมีอันตรายอยู่ตลอดเวลา
และยิ่งดูมธุสรและลูกก็คือผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่งแบบที่เราจะพบเห็นได้ทั่วไป อาจเป็นคนใกล้ตัวเราด้วยซ้ำ แต่คนธรรมดาๆ แบบนี้ก็กลายเป็นเหยื่อภัยคุกคามทางเพศได้เช่นกัน ไม่เกี่ยวกับวาทกรรมว่า ผู้หญิงแต่งตัวโป๊ทำให้เสี่ยงต่อการถูกข่มขืน เพราะถ้าเราคิดว่าผู้หญิงที่แต่งตัวโป๊เท่านั้นที่เสี่ยงต่อการถูกข่มขืน แปลว่าเรายอมรับความคิดว่างั้นถ้าผู้หญิงคนไหนแต่งตัวโป๊ก็แสดงว่าข่มขืนได้ไม่ผิด ซึ่งที่จริงแล้ว ต่อให้เธอจะแต่งตัวโป๊หรือไม่โป๊ การข่มขืนก็ผิดในทุกกรณี ไม่เกี่ยวกับการแต่งตัว
เช่นเดียวกัน สภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดการข่มขืนนั้น ไม่เกี่ยวว่าจะเป็นที่เปลี่ยว เป็นบ้านร้าง หรือเป็นชุมชนที่คนอยู่เยอะ อันตรายก็เกิดขึ้นได้เสมอ มูลเหตุจูงใจของการข่มขืนเป็นได้ทั้งการแค่อยากทำร้าย การควบคุมความกำหนัดไม่ได้ และตั้งใจใช้การช่มขืนเพื่อจุดประสงค์บางอย่างเช่นกัน
อีกประเด็นที่ละครทำให้เห็นและทำได้น่าสะเทือนใจมากคือ เหยื่อที่ถูกข่มขืนนั้นไม่เพียงแต่ถูกข่มขืนทางร่างกาย แต่ยังถูกข่มขืนทางจิตใจซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วย เรียกว่า ถูกข่มขืนซ้ำตั้งแต่การชี้ตัวพยาน การเล่าให้ศาลและคนที่อยู่ในศาลฟังถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การถูกสื่อมวลชนและโซเชียลมีเดียนำไปขยายต่อ ไปจนถึงการต้องจมอยู่กับเหตุการณ์ที่เลวร้ายนี้อยู่ตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้ล้วนคือสิ่งที่เหยื่อต้องเจอทั้งหมด
ความแตกต่างของสองเวอร์ชันเรื่องหนึ่งคือการแคสติ้ง 7 ทรชน ความน่ากลัวของเวอร์ชันก่อนคือ ใน 7 คนนั้นคละกันทั้งคนที่ดูหน้าก็รู้ว่าน่ากลัวเลยกับคนที่ดูธรรมด๊าธรรมดา แต่ก็สามารถลุกขึ้นมาเป็นอาชญากรได้ ในขณะที่แคสติ้งในเวอร์ชันนี้ เอาว่า 7 คนนี้เดินมาในซอย ดูหน้าเราก็กลัวแล้วเพราะรู้ว่าเลวแน่นอน เพราะพวกเขาแสดงดีจริงๆ แถมสร้างลักษณะภายนอกให้ดูรู้ว่าเลวโดยไม่ต้องบอก รังสีอำมหิตแผ่ไปทั่วจอขนาดนี้ ดูแล้วรู้ว่าต้องระวัง ในแง่นี้ โดยส่วนตัวเราคิดว่า เวอร์ชันก่อนทำได้ดีในแง่ความสมจริง มันน่ากลัวมากที่คนธรรมดาที่เราจะไม่นึกระวังแต่ที่แท้เป็นอาชญากรได้ ซึ่งอันนี้ถ้าเราไปดูการให้ปากคำของเหยื่อที่ถูกข่มขืน จะเห็นว่าอาชญากรหลายคนไม่ได้มีโหงวเฮ้งแบบตัวร้ายเลย เป็นคนธรรมดา ธรรมดาจนเราคิดไม่ถึง
สิ่งที่เวอร์ชันนี้เพิ่มเติมเข้ามาและเราน่าจะได้เห็นมากขึ้นในตอนต่อๆ ไป คือการวิพากษ์ประเด็น ‘ข่มขืน = ประหาร’ ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่คิดว่าการประหารจะทำให้ปัญหาการข่มขืนลดลง และมีกลุ่มที่ชี้ให้เห็นว่าปัญหาที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่การประหารหรือไม่ แต่คือการบังคับใช้กฎหมายที่ใช้ได้ไม่เต็มที่ต่างหาก ไปจนถึงมีความเห็นว่าหากโทษคือการประหาร คนที่ตกอยู่ในอันตรายที่สุดคือเหยื่อ เพราะอาจถูกฆ่าเพื่อปิดปากก็ได้ นั่นก็เป็นนานาทัศนะที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน และเราอาจได้เห็นในละครเวอร์ชันนี้
ละครเรื่อง ‘ล่า’ ทำให้ประเด็นการข่มขืนเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง หากดูในบริบทด้านเวลาของละครเวอร์ชันปี พ.ศ. 2534 ผ่านเวลามา 26 ปี การข่มขืนก็ยังคงเกิดขึ้นและทวีความรุนแรงจนน่าเป็นห่วง ทั้งการข่มขืนที่เป็นข่าวและการข่มขืนที่เหยื่อไม่สามารถออกมาดำเนินคดีได้ ยิ่งถ้าดูบริบทของยุคที่ Social Movement ที่สำคัญที่สุดของโลกปัจจุบันนี้คือ #Metoo ซึ่งคือการที่เหยื่อที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศทั้งชายและหญิงลุกขึ้นมาผนึกกำลังกันออกมาเคลื่อนไหวทางกระบวนการยุติธรรมต่อสู้กับอาชญากร ขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย ไปจนถึงการปลุกพลังให้กับเหยื่อด้วยกันเองให้ตระหนักถึงคุณค่าในตัวเอง ดำรงชีวิตต่อไปอย่างสง่างาม และออกมาร่วมกันต่อสู้เพื่อลดปัญหานี้ให้ได้ ซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมสู่การเปลี่ยนแปลงไปทั่วโลกตั้งแต่วงการฮอลลีวูดยันรัฐสภาบางประเทศ ถ้าละครเรื่องนี้จะทำให้เกิด Social Movement แบบ ‘Me too’ ขึ้นในประเทศไทยได้
เรามีละครเรื่องนี้เป็นวัตถุดิบชั้นดีแล้ว มันไม่ควรเป็นเพียงแค่ความบันเทิงที่ผ่านมาแล้วผ่านไป
การข่มขืนที่ยังไม่ถูกพูดถึงในละคร
การข่มขืนเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ผู้ชายเองก็ถูกข่มขืนได้ทั้งจากผู้หญิงหรือผู้ชาย ข้อสังเกตคือ ยังไม่มีการพูดถึงผู้ชายที่ถูกข่มขืนในละครเท่าไร ทั้งที่จริง มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม และอาจจะถูกพูดถึงน้อยกว่าการที่ผู้หญิงถูกข่มขืนด้วยซ้ำ ทั้งในมิติของผู้ชายถูกข่มขืนโดยผู้ชาย และผู้ชายถูกข่มขืนโดยผู้หญิง (มันเกิดขึ้นได้นะคุณ) เท่าที่เคยเห็น ตัวละครเกย์ยังคงถูกใช้ในฐานะตัวตลก หรือใช้การข่มขืนเป็นเรื่องตลกอยู่
ลองคิดเล่นๆ ว่า ถ้าจะมีละครสักเรื่องที่ตัวเอกเป็นผู้ชายซึ่งถูกข่มขืนและลุกขึ้นมาต่อสู้ได้แบบเรื่อง ‘ล่า’ และทำให้เกิดการถกเถียงเรื่องผู้ชายในฐานะเหยื่อทารุณทางเพศ ก็คงจะเป็นประโยชน์และเข้ากับบริบทในปัจจุบันไม่น้อย
ไปจนถึงจะเป็นไปได้ไหมที่นักแสดงออกมาประกาศปฏิเสธบทพระเอกนางเอกที่ใช้การข่มขืน มีค่ายละครหรือสถานีไหนที่ออกมาประกาศว่าเราจะทำละครที่ไม่ใช้ความรุนแรงทางเพศแบบเดิมอีก
นี่แหละ ‘Me too’ จะเป็น Social Movement ที่แท้ทรู