×

กามารมณ์ที่เคารพ: มองให้ไกลไปกว่าผู้หญิงควรใส่อะไรจึงจะไม่โดนข่มขืน

โดย คำ ผกา
28.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • Rape Culture มองว่าผู้หญิงต้องคอยระวังตัว อย่าแต่งตัวโป๊ อย่าเดินในที่เปลี่ยว อย่าไปไหนมาไหนคนเดียว อย่าออกจากบ้านในเวลาค่ำมืด อย่าดื่มเหล้าหรือใช้ยาเสพติดใดๆ เพราะอาจทำให้ขาดสติจนโดนข่มขืนได้
  • จะเห็นว่าหัวใจของ Rape Culture คือแค่เกิดมาเป็นผู้หญิงก็ทำให้มีความเสี่ยงที่จะถูกข่มขืนทุกวินาที ทางออกคือใครก็ตามที่เป็นหญิง โปรดระวังจิ๋มตัวเองไว้ให้แม่นมั่น หากสามารถล็อกกุญแจที่ช่องคลอดผู้หญิงได้ก็คงถูกสั่งให้ล็อกไปแล้ว
  • ทุกครั้งที่ติด #TellMenHowToRespect นั้น มันแปลว่าต้องเคารพในกามารมณ์และความเป็นเจ้าของกามารมณ์ของตนเองของผู้หญิง ไม่ใช่แค่เคารพ ‘สิทธิที่จะแต่งตัวอย่างไรก็ได้’ ของผู้หญิงเท่านั้น เพราะเมื่อไรที่กามารมณ์ของผู้หญิงได้รับการเคารพ ความคิดที่ว่าผู้หญิงคือเพศที่เกิดมาเพื่อจะ ‘ถูกกระทำ’ จะไม่เกิดขึ้นตั้งแต่แรก

สังคมไทยคุ้นเคยกับคำว่า Rape Culture มากขึ้นแล้วว่ามันหมายถึงคุณค่าทางสังคมเกี่ยวกับเรื่องเพศสถานะ เพศวิถีชุดหนึ่งที่ทำให้เรื่องการข่มขืนกลายเป็นความผิดและความรับผิดชอบของผู้หญิง

 

คำที่ตามมาด้วยกันคือคำว่า Victim Blaming (การประณามเหยื่อ) และ Slut Shaming (ประจานความดอกทอง) เช่น บอกว่าผู้หญิงถูกคุกคามทางเพศเพราะทำตัวไม่ดี เอาตัวเองไปอยู่ในที่ที่อันตราย เช่น แต่งตัวโป๊ ไปกินเหล้ากับผู้ชายในผับบาร์ ถ้าถูกข่มขืน ถูกลวนลาม จะโทษใครนอกจากโทษตัวเอง – you asked for it – ของแบบนี้ผู้หญิงดีๆ ที่ไหนเขาทำกัน ถ้านั่งร้อยมาลัย นั่งอยู่บ้านดูละคร บุพเพสันนิวาส กับพ่อกับแม่จะโดนไหม อะไรทำนองนั้น

 

Rape Culture คือการมองเห็นว่าการข่มขืนเกิดขึ้นได้เฉพาะระหว่างชายและหญิง และมีแต่กรณีผู้ชายข่มขืนผู้หญิง ไม่มีหญิงข่มขืนชาย ไม่มีชายข่มขืนชาย ไม่มีชายข่มขืนเด็กชาย ไม่มีเกย์และกะเทยอยู่ในวิสัยของการข่มขืน

 

Rape Culture มองว่าผู้หญิงต้องคอยระวังตัว อย่าแต่งตัวโป๊ อย่าเดินในที่เปลี่ยว อย่าไปไหนมาไหนคนเดียว อย่าออกจากบ้านในเวลาค่ำมืด อย่าดื่มเหล้าหรือใช้ยาเสพติดใดๆ เพราะอาจทำให้ขาดสติจนโดนข่มขืนได้

 

อีกด้านหนึ่งของ Rape Culture คือการเห็นว่าผู้หญิงเป็นสิ่งมีชีวิตที่เปราะบาง ต้องได้รับการปกป้องดูแลอย่างพิเศษ เช่น ควรมีที่จอดรถสำหรับหญิงล้วน ควรมีโรงเรียนหญิงล้วน มีโรงหนังหญิงล้วน มีโบกี้รถไฟเฉพาะของหญิงล้วน ฯลฯ

 

จะเห็นว่าหัวใจของ Rape Culture คือแค่เกิดมาเป็นผู้หญิง เพราะด้วยความเป็นหญิงนี้เองที่ทำให้มีความเสี่ยงที่จะถูกข่มขืนทุกวินาที ทางออกคือใครก็ตามที่เป็นหญิง โปรดระวังจิ๋มตัวเองไว้ให้แม่นมั่น หากสามารถล็อกกุญแจที่ช่องคลอดผู้หญิงได้ก็คงถูกสั่งให้ล็อกไปแล้ว และบอกว่ามีแต่คนที่มีกุญแจไขล็อกอันนี้คนเดียวเท่านั้นจะไขเข้าไปมีอะไรกับผู้หญิงได้ หากทำได้เช่นนี้ ผู้หญิงจะปลอดภัยจากการถูกข่มขืน

 

คนที่อยู่ใน Rape Culture สั่งผู้หญิงว่าอย่าเดินในซอยเปลี่ยวและมืด แต่ไม่ตั้งคำถามว่าทำไมเราไม่แก้ปัญหาด้วยการติดไฟในซอยให้สว่างไสว และออกแบบเมืองให้ปลอดภัยจนยากจะก่ออาชญากรรม

 

Rape Culture ยังเกี่ยวพันกับการ ‘มายาคติ’ ว่าด้วยเรื่องเพศที่ปลูกฝังกันมาในสังคม เช่น ในสังคมที่ปลูกฝังค่านิยมเกี่ยวกับผู้หญิง ดี vs. ดอกทอง ก็จะทำให้เกิดความเชื่อร่วมกันในสังคมทั้งหญิงชายว่า ผู้หญิงคนไหนที่ไม่ประพฤติตนตามหลักของผู้หญิงที่ดี แปลว่าผู้หญิงนั้นถูกข่มขืนได้

 

ในทางกลับกัน สังคมที่มีขุนแผนเป็นแบบอย่างของผู้ชาย (ถึงขั้นมีพระขุนแผนห้อยคอ) ก็จะเห็นว่าถ้าเจอผู้หญิงทำตัว ‘ดอกๆ’ นุ่งน้อยห่มน้อย ปากกล้า วาจาเปิดเผย แปลว่าเดินเข้าไปแซว ไปลวนลาม จนถึงลากไปข่มขืนได้ ด้วยตีความว่าการกระทำและคำพูดเหล่านั้นคือการเชิญชวน

 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ใดๆ ทั้งสิ้น อย่างน้อยที่สุดในพื้นที่ของป๊อปคัลเจอร์อย่างหนังฮอลลีวูดที่ทำให้คนตระหนักว่า เออ…ต่อให้ผู้หญิงดูดอกทองแค่ไหนก็ไม่ได้แปลว่าพวกมึงมีสิทธิ์ไปข่มขืนเขาคือหนังเรื่อง The Accused ที่ออกมาตั้งแต่ปี 1988 อันเป็นเรื่องของสาวเสิร์ฟชนชั้นแรงงานที่ไปแวะดื่มเหล้าในบาร์ เมาแล้วออกไปเต้นแบบรั่วๆ จบลงด้วยการถูกรุมโทรม และการต่อสู้คดีของเธอท่ามกลางอคติ อันเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า Rape Culture นั่นเอง

 

ประเด็น Don’t tell me how to dress, tell men how to respect. พูดให้ถึงที่สุดนั้นเกี่ยวข้องกับเรื่อง Body Politics หรือการเมืองเรื่องร่างกาย

 

การเมืองในที่หมายถึง ‘อำนาจ’ ที่เข้ามายุ่มย่ามกับร่างกายของพวกเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเพศสภาพไหน มีทั้งอำนาจทางศาสนา ความเชื่อ ค่านิยม คุณค่าชุดต่างๆ ที่สังคมนั้นๆ ยึดถือ ไปจนถึงอำนาจของรัฐสมัยใหม่ อำนาจของทุนนิยม ฯลฯ

 

กลุ่มที่มองว่าผู้หญิงควรแต่งกายให้มิดชิดเพื่อควมปลอดภัยของผู้หญิงเองมองว่า ผู้หญิงมีหน้าที่เป็น ‘แม่’ ของรัฐ ของสังคม คุณค่าของผู้หญิงจึงสัมพันธ์กับการเกิดมาเป็นลูกสาวที่ดีของพ่อแม่ เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็เตรียมตัวเป็นภรรยาที่ของผู้ชายสักคน จากนั้นก็เตรียมตัวเป็นแม่ที่ดีของลูก พร้อมกันนั้น ‘ผู้ชาย’ ถูกวางบทบาทให้เป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว เป็นผู้นำ เป็นผู้ ‘ปกป้อง’ สมาชิกครอบครัว ปกป้อง ‘ผู้อ่อนแอ’ ในครอบครัว อันหมายถึงเด็กและผู้หญิง

 

เมื่อผู้หญิงไม่ได้เป็นแค่ผู้หญิง แต่เป็นถึง ‘เพศแม่’ ผู้หญิงจึงต้องทำตัวให้ดีงามสมกับเกียรติยศแห่งความเป็นแม่ ผู้หญิงที่สังคมนิยมยกย่องจึงต้องธำรงความเป็น ‘กุลสตรี’ เอาไว้เป็นแม่นมั่น

 

กลุ่มคนที่ยืนยันว่าผู้หญิงห้ามแต่งตัวโป๊ ห้ามออกจากบ้านตอนกลางคืน ห้ามไปไหนตามลำพัง ในแง่หนึ่งพวกเขามองว่าการห้ามเหล่านี้เป็นไปเพื่อปกป้องผู้หญิงที่เป็นเพศแม่ ปกป้องกุลสตรี ผู้หญิงพึงได้รับการดูแล ประคบประหงม และผู้ชายที่ดีพึงบริการผู้หญิง เช่น ถือของให้ เสียสละที่นั่งให้ สุภาพบุรุษจึงต้องมีกฎ Lady First ผู้หญิงมาก่อนเสมอ

 

ส่วนผู้หญิงที่แหกกฎออกไป ไม่ยอมเป็นกุลสตรี เธอก็จะถูกดูถูกเหยียดหยาม เช่น ถูกเรียกว่าเป็นผู้หญิงเสเพล กะหรี่ ดอกทอง แรด ร่าน ลำยอง และเธอจะไม่ได้รับการปกป้องจากใครเลย เผลอๆ จะถูกลงโทษจากสังคมด้วยการที่ผู้ชายจำพวกหนึ่งเห็นว่ามีสิทธิ์ลากพวกเธอไปข่มขืนได้ หรือลวนลามพวกเธออย่างไรก็ได้

 

ส่วนพวกกุลสตรี เพื่อแลกกับการได้มีผู้ชายมาคอยหิ้วของ ถือกระเป๋าให้ ดูแล ทะนุถนอม (เพราะเธอคือมนุษย์แสนเปราะบางที่มีค่าดุจกระเบื้องเคลือบเนื้อดี) ก็ต้องยอมรับสภาพที่ต้องเป็นมนุษย์เก็บกดแบบอันนา คาเรนินา ที่ถ้าทนได้ก็ดี ทนไม่ได้ก็มีชู้ แล้วจบชีวิตด้วยการไปกระโดดให้รถไฟทับตาย

 

อย่างไรก็ตาม นักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีเห็นว่าการปกป้องผู้หญิงเช่นนี้มีปัญหา นั่นคือตั้งคำถามว่า แค่เป็นผู้หญิงเฉยๆ มันไม่พอที่จะเป็น ‘คน’ เหรอ

 

เพราะมันเท่ากับเป็นการกดให้ผู้หญิงเป็นคนไม่เต็มคน จนกว่าจะเป็น ‘กุลสตรี’ ของสังคม

 

ผู้หญิงไม่ต้องเป็นลูกสาวที่ดี ไม่ต้องเป็นเมียที่ดี ไม่ต้องเป็นแม่ที่ดี การจะมีลูกหรือไม่มีลูก หรือจะมีกี่คน จะมีโดยมีพ่อหรือไม่มีพ่อ หรือเราท้องแล้วเปลี่ยนใจ ไม่อยากท้องแล้ว เราจะไปทำแท้ง และร่างกายก็เป็นของเรา เราจะมีเซ็กซ์กับใครก็เรื่องของเรา จะมีเมื่อไร ไม่มีเมื่อไร จะมีกับหญิง กับชาย กับเพศไหนๆ ก็เรื่องของเรา เพราะชีวิตเป็นของเรา ร่างกายเป็นของเรา จิ๋มเป็นของเรา มดลูกเป็นของเรา เราจะแต่งตัวปิดหัวจรดเท้า จะเปิด จะโป๊ จะโกนหัว จะเจาะ จะสัก ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของเราหมดเลย

 

และไม่ว่าเราจะดูร่าน ดูแรด ดูดอกทอง ดูเป็นกะหรี่ หรือเป็นกะหรี่จริงๆ จะประกอบอาชีพอะไร จะแต่งตัวแบบไหน ใครก็ไม่มีสิทธิ์มาพิพากษา ตัดสิน แปะป้ายอะไรให้เรา มากไปกว่านั้น การที่เราไม่เข้าไปอยู่ในกรอบของความเป็นกุลสตรีไม่ใช่ใบอนุญาตให้ใครมาลวนลามหรือข่มขืนเราได้

 

มองในแง่ของ Sexuality หรือวิถีกามารมณ์ ในวิถีของกุลสตรีนั้น ผู้หญิงถูกถอดเอา ‘กามารมณ์’ ออกไปจากชีวิตของพวกเธอ เธอร่วมเพศเพราะความรัก ไม่ใช่เพราะความ ‘อยาก’ เธอร่วมเพศเพื่อจะมีลูก ไม่ใช่เพื่อความฟิน หรือเธอร่วมเพศเพื่อทำให้ผู้ชายที่เธอรักมีความสุข และถือเป็นหน้าที่ของภรรยาที่ดีที่ต้องสามารถตอบสนองความต้องการของสามีได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง และหากขาดตกบกพร่องในเรื่องนี้แล้วสามีนอกใจก็โทษใครไม่ได้ด้วย ในเมื่อเธอไม่สามารถทำหน้าที่ภรรยาที่ดีได้ (ด้วยฐานคิดนี้เองที่ไปรับรองว่าการข่มขืนระหว่างสามี-ภรรยาไม่มีจริง เนื่องจากภรรยามีหน้าที่รองรับความต้องการของสามีอยู่แล้ว)

 

ด้วยการวางผู้หญิงไว้ในบทบาทของผู้ไม่มีกามารมณ์เป็นของตนเองนี่เองที่ทำให้ ผู้ชาย (ซึ่งก็เป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคมเช่นกัน) ถูกวางไว้ในบทบาทของผู้มีกามารมณ์ สามารถแสดงความหื่น ความอยาก ความผิวปากแซว ความไปจีบก่อน ความเป็นฝ่ายเริ่มก่อน ความเป็นฝ่ายบอกรักก่อน ขอแต่งงานก่อน หรือขั้นสุดในละครที่เราเห็นคือพระเอกข่มขืนนางเอก เพราะถ้าไม่ข่มขืนก็จะไม่ได้นางเอกสักที เนื่องจากนางเอกต้องทำตัวเป็นผู้ไร้และไม่ต้องการกามารมณ์ตลอดเวลา

 

ในระดับวาทกรรมที่วิ่งวนอยู่ในชีวิตจริง เราก็จะได้ยินคำพูดที่ว่าผู้ชายมีกิ๊ก มีเมียน้อย เพราะธรรมชาติของผู้ชายมีความต้องการทางเพศมากกว่าผู้หญิง ขอเน้นที่ประโยคนี้อีกครั้ง

 

ธรรมชาติของผู้ชายมีความต้องการทางเพศมากกว่าผู้หญิง

เมื่อเชื่อเช่นนี้ จึงต้องเชื่อต่อไปว่าผู้หญิงและเพศอื่นๆ พึงไม่ไปกระทำการปลุกเร้า กระตุ้นความต้องการทางเพศของผู้ชาย (ที่มีอยู่อย่างเป็นธรรมชาติ) เช่น การแต่งตัวล่อแหลม วับๆ แวมๆ เพราะหากไปกระตุ้นสัญชาตญาณนี้ของผู้ชาย แล้วผู้ชายเกิดหื่นจนมาฉุดคร่าข่มขืนผู้หญิง มันก็จะเป็นความเดือดร้อนด้วยกันทุกฝ่าย หนักกว่านั้นยังมีคำอธิบายอีกชุดหนึ่งที่บอกว่า

 

“ผู้หญิงที่แต่งตัวโป๊น่ะอาจทำให้ผู้หญิงดีๆ ที่ไม่แต่งตัวโป๊เดือดร้อน เช่น ผู้ชายไปเห็นคนแต่งตัวโป๊ (อาจจะเห็นจากในหนัง ละคร ป้ายโฆษณา นิตยสาร หรืออาจจะเห็นของจริง) จากนั้นก็เกิดอารมณ์ติดค้างอยู่ในใจ และทำให้ไปก่อเหตุข่มขืนผู้หญิงคนอื่นที่ไม่ได้แต่งตัวโป๊เลยสักนิดเดียว”

 

คำอธิบายเช่นนี้ก็ยิ่งทำให้ทำผู้หญิงแต่งตัวโป๊บาปหนักเข้าไปใหญ่ เพราะการแต่งตัวโป๊ของเธอไปทำให้ ‘ผู้หญิงดีๆ’ เดือดร้อน

 

เขียนมาถึงตรงนี้จะเห็นว่า #DontTellMeHowToDress #TellMenHowToRespect นั้น นอกจากจะแยกไม่ออกจากประเด็น Rape Culture แล้วยังสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับวาทกรรมว่าด้วยสุภาพบุรุษ-สุภาพสตรี การสร้างคู่ตรงข้ามระหว่างกุลสตรี vs. ดอกทอง

 

และแยบยลไปกว่านั้นคือคำว่า ‘สุภาพบุรุษ’ นี่แหละ ที่ดูเผินๆ เหมือนจะดี เหมือนเคารพ ให้เกียรติผู้หญิงและเพศแม่ แต่มักไม่ค่อยมีใครขยายความที่มาของคำว่า Gentleman นั้นมาในยุคของการสถาปนาแนวคิด Heteronormative หรือสังคมชายจริงหญิงแท้ที่กำเนิดมาพร้อมรัฐชาติสมัยใหม่ อันทำให้มีแนวคิดหญิงดี หญิงชั่ว ผู้ชายเป็นผู้กระทำ ผู้หญิงเป็นผู้ถูกกระทำ อันเป็นที่มาของ Rape Culture และคือที่มาของการสั่งสอนผู้หญิงให้แต่งตัวมิดชิดเรียบร้อย หาไม่แล้วจะเป็นเหตุให้โดนข่มขืน

 

ทุกครั้งที่ผู้หญิงคนใดก็ตามพูดประโยค Don’t tell me how to dress, tell men how to respect. พึงตระหนักด้วยว่าประโยคนี้มาพร้อมกับการโยนแนวคิดสุภาพบุรุษและกุลสตรีทิ้งไปด้วยพร้อมกัน และเป็นการประกาศให้ผู้หญิงลุกขึ้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีกามารมณ์เป็นของตนเอง มีความแอ็กทีฟทางเพศ มีความหื่นดุจเดียวกับเพศอื่นๆ ทั้งหลายในโลกนี้ และเธอไม่ใช่สิ่งมีชีวิตนุ่มนิ่มที่รอให้ใครมาข่มขืน หรือเป็นเพียงเครื่องกระเบื้องเปราะบางที่มีไว้ขึ้นหิ้งบูชา ทะนุถนอมรักษา ริ้นไม่ไต่ ไรไม่ตอม

 

อีกทั้งยังเป็นเจ้าของชีวิตและร่างกายทุกตารางนิ้วของตนเอง รวมไปถึงมดลูกของเธอ และนั่นแปลว่าคนที่พูดประโยคนี้พึงสนับสนุนสิทธิในการยุติการตั้งครรภ์ของผู้หญิงด้วย

 

และทุกครั้งที่ติด #TellMenHowToRespect นั้นมันแปลว่าต้องเคารพกามารมณ์และความเป็นเจ้าของกามารมณ์ตนเองของผู้หญิง ไม่ใช่แค่เคารพ ‘สิทธิที่จะแต่งตัวอย่างไรก็ได้’ ของผู้หญิงเท่านั้น

 

เพราะเมื่อไรที่กามารมณ์ของผู้หญิงได้รับการยอมรับและเคารพ ความคิดที่ว่าผู้หญิงคือเพศที่เกิดมาเพื่อจะ ‘ถูกกระทำ’ มันจะไม่เกิดขึ้นตั้งแต่แรก

 

เป็นดังนี้ได้เมื่อไร ผู้ชายก็จะรู้ว่าสิทธิในการเป็นผู้กระทำไม่ใช่ของเขา

 

ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดของการมีเพศสัมพันธ์คือความเห็นพ้องระหว่างมนุษย์ที่มีกามารมณ์เสมอกันสองคน

 

นี่คือเหตุผลที่ฉันพูดเสมอว่าการเป็นดอกทองนั้นสำคัญยิ่งนัก

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X