วันนี้ (30 ตุลาคม) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ถนนศรีสมาน รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย ปิยรัฐ จงเทพ สส. กรุงเทพมหานคร โฆษก กมธ.ความมั่นคงฯ และคณะ เข้าพบ สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
รังสิมันต์กล่าวว่า การเดินทางมาในวันนี้ถือเป็นหนึ่งในแนวทางของคณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ ซึ่งที่ผ่านมาเราเข้าพบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ของเรา เช่น กระทรวงยุติธรรม วันนี้มีประเด็นหลายเรื่องที่จะมาหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเหล่าทัพ ทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และชายแดนเมียนมาที่มีปัญหาเรื่องของการค้ามนุษย์ รวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างอาวุธยุทโธปกรณ์ของเหล่าทัพ ที่กำลังมีเรื่องของเรือดำน้ำที่จะเปลี่ยนเป็นเรือฟริเกต ตลอดจนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เช่น การเกณฑ์ทหาร
เราไม่ได้จำกัดว่าคำถามจะเป็นเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่เราอยากจะเข้าใจกองทัพมากขึ้น ซึ่งมองว่าหากเรามีความเข้าใจ จะได้สื่อสารให้ประชาชนได้เข้าใจถึงทิศทางความมั่นคงของประเทศว่าเป็นเช่นใด และอยากที่จะมาสนับสนุนงานของกระทรวงกลาโหม ให้ปฏิบัติภารกิจอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ
รังสิมันต์กล่าวต่อว่า เชื่อว่าวันนี้เราจะมีความเข้าใจที่ดีต่อกัน และช่วยกันทำงานเพื่อแก้ปัญหาในอนาคตข้างหน้า หากมีเรื่องใดเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นก็จะใช้วิธีการโทรศัพท์หาโดยไม่จำเป็นต้องไปที่สภา เพราะค่อนข้างที่จะหาเวลาตรงกันยาก ยกหูหากันได้เลยจะได้แก้ปัญหาได้ทันการณ์ ไม่ต้องมาทำหนังสือเชิญหลายขั้นตอน โดยเฉพาะปัญหาชายแดน ถือเป็นปัญหาที่ท้าทายเรื่องของความมั่นคงประเทศเรามาก ก็จะใช้โอกาสนี้เรียนรู้ร่วมกัน ทำความรู้จักและสนับสนุนการทำงานร่วมกัน
เมื่อถามเรื่องของเรือดำน้ำ รังสิมันต์จะมาทวงถามจากสิ่งที่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ได้สอบถามสุทินไปก่อนหน้านี้หรือไม่ รังสิมันต์กล่าวว่าคงไม่ได้มาถามแทนใคร แต่คณะกรรมาธิการจากหลายพรรคไม่ได้จำกัดคำถาม และเชื่อว่าต้องมีเรื่องของเรือดำน้ำ ซึ่งเราก็ต้องให้โอกาสกระทรวงกลาโหมชี้แจง เพราะจากเดิมที่เป็นเรือดำน้ำแล้วเปลี่ยนเป็นฟริเกตคงต้องสะท้อนถึงวิธีคิดและมุมมองด้านความมั่นคงว่าเปลี่ยนไปหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวในฐานะประธาน กมธ.ความมั่นคงฯ สนใจในเรื่องมุมมองด้านความมั่นคงที่บอกว่าต้องมีเรือดำน้ำ โจทย์ของเราคืออะไร และวันนี้มาบอกว่าประเทศไทยไม่เอาเรือดำน้ำแล้ว แสดงว่าโจทย์เปลี่ยนไปหรือไม่
นอกจากนี้ตนยังอยากทราบเรื่องของการเกณฑ์ทหารว่าสถานะการเกณฑ์ทหารอนาคตจะเป็นอย่างไร ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญที่จะได้ร่วมพูดคุย
“การมาวันนี้อย่าเรียกว่ามาตรวจสอบ แต่ให้มองว่าเป็นการมาแนะนำตัวและทำงานร่วมกัน เราคาดหวังให้มีการทำงานที่สร้างสรรค์เพื่อสนับสนุนซึ่งกันและกัน” รังสิมันต์กล่าว
เมื่อถามต่อว่าปัญหาคอลเซ็นเตอร์ที่ระบุว่ามีข้อมูลจะประสานหน่วยงานความมั่นคง จะหยิบยกมาหารือหรือไม่นั้น รังสิมันต์ระบุว่า ต้องยอมรับว่าปัญหาคอลเซ็นเตอร์พบที่ชายแดนฝั่งเมียนมา ตนได้ทำข้อมูลเรื่องดังกล่าวมาพอสมควร เช่น ฝั่งตรงข้ามอำเภอแม่สอดมีปัญหาเรื่องคอลเซ็นเตอร์และทุนสีเทา หรือที่อำเภอแม่สายพบปัญหาการค้ามนุษย์ คงจะได้หาหรือว่าจะมีหนทางในการแก้ไขอย่างไร เพราะเป็นพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพทั้งสิ้น เราคาดหวังว่าจะสามารถช่วยกันทำงานได้ เพื่อช่วยคนไทยให้หลุดพ้นจากการหลอกลวง
ส่วนเรื่องปฏิบัติการ IO ถ้ามีเวลาก็จะพูดคุย วันนี้จะพยายามพูดให้ครบทุกประเด็น เชื่อว่าจะมีการตั้งคำถามแน่นอน