วันนี้ (17 กุมภาพันธ์) คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร นำโดย รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธาน กมธ. ลงพื้นที่ตรวจสอบท่าข้ามสินค้าหมายเลข 34 (ท่าศาลเจ้า) บริษัท ห้าแยก กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นท่าข้ามเอกชนขนาดใหญ่ลำดับต้นๆ ของอำเภอแม่สอด
รังสิมันต์กล่าวว่า ท่าขนส่งแห่งนี้จัดเป็นท่าที่มีขนาดใหญ่ อยู่ห่างจากเมืองชเวโก๊กโก่ จังหวัดเมียวดี ประมาณ 5 กิโลเมตร มีแพยนต์สำหรับลำเลียงรถบรรทุก ตู้คอนเทนเนอร์ และท่อส่งน้ำมันเบนซินและดีเซลจากบริษัทน้ำมันรายใหญ่ของประเทศไทยไปประเทศเมียนมา ที่ผ่านมาท่าข้ามธรรมชาติเหล่านี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นท่าที่อำนวยความสะดวกให้กลุ่มธุรกิจแก๊งคอลเซ็นเตอร์
การลงพื้นที่วันนี้ กมธ. จึงตั้งใจที่จะรวบรวมข้อมูล หาช่องว่าง ข้อมูลเชิงลึกจากคนในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด เพื่อหาทางออกว่าท่าข้ามธรรมชาติต้องปิดทำการเหมือนการตัดการจ่ายไฟหรือน้ำมันหรือไม่ และหากท่าข้ามเหล่านี้เปิดต่อจะต้องมีแบบแผนอย่างไรไม่ให้ลักลอบขนย้ายของผิดกฎหมาย หรือเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มธุรกิจคอลเซ็นเตอร์โดยตรง
ส่วนในวงประชุมวานนี้ (16 กุมภาพันธ์) ที่ทำการอำเภอแม่สอด เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจท่าข้ามธรรมชาติ 59 ท่าในอำเภอแม่สอดที่มีความเห็นว่าควรสั่งปิด ตนยืนยันว่าไม่ได้เหมารวมการดำเนินธุรกิจทุกท่าว่าเอื้อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่จำเป็นที่จากนี้ต้องทำงานเชิงรุกหาเนื้อร้ายในท่าเหล่านี้ให้เจอ ส่วนระยะยาวคณะทำงานต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ทำให้ท่าข้ามธรรมชาติเป็นไปอย่างมั่นคงปลอดภัย ไม่ลักลอบขนของผิดกฎหมาย
รังสิมันต์ยอมรับว่า ตอนนี้มีข้อมูลท่าข้ามธรรมชาติที่ต้องจับตามองและเฝ้าระวัง เนื่องจากมีข้อมูลว่าขนย้ายของต้องสงสัยที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่อาจเอื้อต่อการทำธุรกิจคอลเซ็นเตอร์ เช่น แผงโซลาร์เซลล์ ดาวเทียมสตาร์ลิงก์ อีกทั้งช่วงที่ไม่ให้ขนส่งน้ำมัน แต่อาจมีการลักลอบ และจากข้อมูลล่าสุดพบว่ามีการขนย้ายเคมีภัณฑ์ที่เป็นสารตั้งต้นผลิตยาเสพติดล็อตใหญ่ แต่วันนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าเป็นท่าใด
กรณีการเดินทางมาของ หลิวจงอี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงสาธารณะแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมด้วยคณะ ส่วนตัวมองว่าประเทศจีนต้องทำเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศตัวเอง แต่ตนยังเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะร่วมมือป้องกันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จากนี้อยากให้หลายประเทศที่เข้ามามีส่วนร่วมแบ่งปันข้อมูล แต่ไทยสามารถเป็นแนวหลักและต้องไม่มุ่งแค่ที่จังหวัดเมียวดี ประเทศเมียนมา แต่รวมถึงเมืองปอยเปต ประเทศกัมพูชาด้วย ด้วยความที่รัฐบาลไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศกัมพูชา ก็ควรใช้ความสัมพันธ์ที่ดีนั้นไปปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ณ ขณะนี้ตนไม่อยากสรุปว่ารัฐบาลไม่จริงจังกับการแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่สมควรอย่างยิ่งที่ต้องยกให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ
กรณีตัวเลขเหยื่อหรือผู้ที่เต็มใจไปทำงานฝั่งประเทศเพื่อนบ้านเป็นเท่าใดยังไม่ควรสรุป แต่ประเทศไทยควรเป็นคนคัดกรองเอง ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องเก็บข้อมูลจากกลุ่มคนเหล่านี้ในฐานะที่เราเป็นประเทศทางผ่าน โดยข้อมูลเหล่านี้สุดท้ายเพื่อนำมาปราบไทยเทา
“ไม่ว่าจะเป็นเหยื่อหรือกลุ่มคนที่สมัครใจ ยังไม่อยากให้สรุป เราต้องให้ความเป็นธรรม เอาพวกเขาเข้าระบบก่อน”
สุดท้ายนี้ ฝากถึง ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้ติดตามเรื่องหมายจับ หม่อง ชิต ตู่ เลขาธิการกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) หรือผู้บัญชาการกองทัพกะเหรี่ยงแห่งชาติ เพราะถือว่าการออกหมายจับมีความจำเป็นต่อการรักษาความน่าเชื่อถือต่อประเทศไทย