×

รังสิมันต์เรียกร้องรัฐบาลใส่ใจคดีตากใบใกล้หมดอายุความ ด้านภูมิธรรมขอให้ตั้งสติ อารมณ์ไม่ช่วยอะไร

โดย THE STANDARD TEAM
03.10.2024
  • LOADING...

วันนี้ (3 ตุลาคม) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 29 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 รังสิมันต์ โรม สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาถึง ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถึงกรณีคดีตากใบที่มีความเสี่ยงจะหมดอายุความลง เนื่องจากจำเลยซึ่งมี สส. พรรคเพื่อไทยด้วย ยังไม่ไปปรากฏตัวต่อศาลตามกำหนดที่จะครบในวันที่ 25 ตุลาคม 2567

 

รังสิมันต์เท้าความว่า เหตุการณ์ตากใบเกิดขึ้นในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 มีการสลายการชุมนุมบริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธร (สภ.) ตากใบ จนมีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม 7 คน ในจำนวนนั้นถูกยิงที่ศีรษะ 5 คน และมีการควบคุมตัวขนย้ายผู้ชุมนุมไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี 1,300 คน โดยให้นอนทับกันเป็นชั้นบนรถบรรทุก จนมีผู้เสียชีวิตระหว่างการขนย้ายถึง 78 คน รวมเป็นผู้เสียชีวิตมากถึง 85 คน ภายหลังรัฐบาลในเวลานั้นได้สั่งให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงขึ้นมา โดยรายงานดังกล่าวชี้ว่า การสูญเสียเกิดจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่รัฐที่ควบคุมเหตุการณ์ แต่เหตุการณ์ดังกล่าวได้ถูกลืมไปโดยผู้มีอำนาจมาเป็นเวลาหลายปี

 

ต่อมาประชาชนผู้สูญเสียได้ลุกขึ้นมาฟ้องเอาผิดเพื่อทำความจริงให้ปรากฏ และหวังว่ากระบวนการยุติธรรมจะให้ความยุติธรรมกับพวกเขาได้ บางคนถึงขั้นกล่าวว่า อย่างน้อยก็ขอให้ได้รู้ว่ามีผู้ใดบ้างที่มีส่วนพรากชีวิตของคนเหล่านั้นแม้บทลงโทษจะเบาก็ตาม

 

“เหตุการณ์ตากใบได้ทำลายความไว้วางใจของประชาชนต่อรัฐอย่างสิ้นเชิง ผมเป็นห่วงว่าในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 จะเป็นการฝังกลบความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อรัฐจนยากจะฟื้นคืนกลับมาได้ จนทำให้สันติภาพชายแดนใต้กลายเป็นเพียงภาพฝัน” รังสิมันต์กล่าว

 

แม้หลังเหตุการณ์ตากใบมีอดีตนายกรัฐมนตรีสองคนที่ขอโทษต่อเหตุการณ์ตากใบ คือ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อปี 2549 และ ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2565 แต่คำถามคือรองนายกรัฐมนตรีจะทำอย่างไรเพื่อฟื้นความไว้วางใจของประชาชนในพื้นที่ สร้างความรู้สึกของประชาชนให้กลับมาดีให้ได้สมกับที่อดีตนายกรัฐมนตรีเคยขอโทษ

 

“คดีที่กำลังเดินอยู่เป็นผลงานของประชาชน เมื่อนักข่าวถามเรื่องนี้ รองนายกรัฐมนตรีก็ปรี๊ดแตก แล้วบอกให้ไปสนใจเรื่องอื่น จนสุดท้ายนำไปสู่การเกิดเหตุระเบิดอีกครั้งในพื้นที่ตากใบ ดูเหมือนการให้สัมภาษณ์ของรองนายกรัฐมนตรีจะสุมไฟใต้มากกว่าถอนฟืนจากกองไฟ” รังสิมันต์กล่าว

 

ความสูญเสียที่นำไปสู่การเยียวยาโดยใช้เงินภาษีเป็นสิ่งที่ประชาชนทั้งประเทศต้องได้รับความเป็นธรรมเช่นเดียวกันว่าผู้เกี่ยวข้องจะถูกลงโทษอย่างไร ประชาชนต้องจ่ายเงินให้ความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ คดีก็กำลังจะขาดอายุความ รองนายกรัฐมนตรีจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้

 

ด้านภูมิธรรมตอบว่า การแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ต้องเริ่มต้นจากความพยายามใช้เหตุผล ดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างครบทุกมิติ ไม่ใช่เริ่มจากความดุเดือดเผ็ดร้อนหรือมองเพียงด้านลบ เหตุการณ์นี้มีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องหลายเรื่อง วันที่ผู้สื่อข่าวถามนั้นตนเองกำลังแถลงข่าวเรื่องความเสียหายกรณีน้ำท่วม จึงบอกผู้สื่อข่าวว่าขอคุยเรื่องน้ำท่วมให้จบก่อน ผู้สื่อข่าวก็ยังพยายามถาม ไม่ได้หมายความว่าเรื่องตากใบรัฐบาลจะไม่สนใจ ทุกเรื่องมีความสำคัญ แต่รัฐบาลต้องทำเรื่องเร่งด่วนคือกรณีน้ำท่วมก่อน โปรดเข้าใจว่าไม่ได้มีความรู้สึกโกรธแต่อย่างใด

 

ภูมิธรรมกล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกคนเสียใจ ไม่มีใครอยากเห็นเหตุการณ์ที่มีประชาชนตายมากขนาดนี้ แต่เป็นการเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่การเสียใจเพราะตนเองเป็นผู้กระทำผิด เหตุการณ์ตากใบมีความจริงหลายมิติที่เข้ามาเกี่ยวข้อง มีรายละเอียดอีกมาก รายงานนั้นสรุปว่าทุกคนที่อยู่บนรถเกิดการเสียชีวิตเพราะการขาดอากาศหายใจเป็นหลัก เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องกระบวนการที่เกิดขึ้นระหว่างที่มีการลำเลียงคนไปที่ค่าย ไม่เกี่ยวกับการตายเพราะอาวุธ ซึ่งยังหาผู้ผิดจริงไม่ได้เพราะเกิดความสับสนวุ่นวาย

 

“มีหนังสือพิมพ์มติชนรายงานว่า ทางนายทหารกองทัพภาคที่ 4 ได้เห็นว่ามีการลำเลียงคนขึ้นไปในลักษณะนั้น ก็เห็นว่าเอาคนขึ้นไปเยอะขนาดนั้นไม่ได้ ขอให้เอาคนลงมา เพราะฉะนั้นไม่ได้หมายความว่ามีเจตนาหวังเอาคนไปทับให้ตาย เหตุการณ์นี้ไม่พึงประสงค์แต่ก็ควรให้ความเป็นธรรมด้วย ไม่ใช่เรื่องความตั้งใจจะฆ่ากัน ไม่ได้เป็นความเจตนา แต่เป็นความสับสนอลหม่าน” ภูมิธรรมกล่าว

 

ภูมิธรรมกล่าวต่อไปว่า การที่ผู้ถามระบุว่าการดำเนินการเรื่องตากใบของประชาชนเป็นเรื่องที่ต้องการความกล้าหาญ ตนไม่เห็นว่าจะเป็นเรื่องที่ถึงขนาดต้องเสี่ยงชีวิตจึงจะมาร้องขอได้ ขอให้มองโลกให้เบาลง มองความเป็นจริงให้มากหน่อย อีกทั้งที่ผ่านมายังมีกระบวนการเยียวยาแล้วในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นจำนวนเงินถึง 7 ล้านบาทต่อผู้เสียชีวิต ทั้งหมดคือความพยายามให้ทุกฝ่ายเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ควรเกิดขึ้น และควรใช้เป็นอุทาหรณ์มากกว่าในการใช้เป็นเครื่องมืออธิบายว่ารัฐบาลตั้งใจจะฆ่าหรือไม่ใส่ใจ ไม่เห็นคุณค่าชีวิต ในกระบวนการทางกฎหมายก็ว่ากันไป

 

“ผู้ที่ถูกกล่าวหาทั้งหมดตอนนี้ยังหาตัวไม่ได้ ตำรวจก็ต้องดำเนินการตามหมายจับ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้ารู้ก็จับได้แล้ว ตอนนี้ก็ต้องให้กระบวนการยุติธรรมทำหน้าที่เดินไป ผู้ถูกกล่าวหายังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ เมื่อยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการต่อสู้ กระบวนการยุติธรรมก็ต้องดำเนินการให้บรรลุผลให้เร็วที่สุด” ภูมิธรรมชี้แจง

 

ด้านรังสิมันต์ได้ถามต่อไปว่า การที่รองนายกรัฐมนตรีแสดงความเสียใจในโอกาสนี้เป็นเรื่องที่ดี แต่ที่รองนายกรัฐมนตรีระบุว่าการเสียชีวิตของคน 78 คนเป็นเพราะขาดอากาศหายใจ คำถามคืออยู่ๆ คนเหล่านั้นก็ขาดอากาศหายใจเลยหรือ จะทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติโดยไม่ต้องมีผู้รับผิดเลยหรือ

 

“ถ้าวันนี้รัฐบาลยังไม่สามารถมอบความจริงใจให้ผู้สูญเสียในเหตุการณ์ตากใบได้ จะเรียกว่ารัฐบาลมีความจริงใจได้อย่างไร ความจริงใจไม่ได้สะท้อนผ่านคำพูด แต่ต้องสะท้อนการกระทำ ถ้าวันนี้รัฐบาลยังไม่สามารถแสดงให้คนในพื้นที่รู้สึกถึงความจริงใจได้แล้วรัฐบาลจะแก้เรื่องนี้ได้อย่างไร”

 

รังสิมันต์อภิปรายต่อไปว่า คำถามคือรัฐบาลรับรู้ถึงความเจ็บปวดและความโกรธของประชาชนในพื้นที่ที่รับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีก่อนหรือไม่ คนตายขนาดนี้รัฐบาลจะอยู่เฉย บอกว่าตายเองเพราะขาดออกซิเจนแบบนั้นหรือ เหลือเวลาแค่ 22 วัน กระบวนการชั้นตำรวจที่ต้องแจ้งข้อหาใหม่ก็เช่นกัน

 

วันนี้รองนายกรัฐมนตรีเป็นคนดูแลกำกับตำรวจจะบอกแค่ว่าต้องมองอย่างสร้างสรรค์โดยไม่รู้สึกอะไรอย่างนั้นหรือ นึกไม่ออกว่า ‘สหายใหญ่’ ที่เคยผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มา ที่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมเช่นเดียวกัน จะทำให้เหตุการณ์ตากใบจบแบบเดียวกันหรือ

 

ขณะที่ภูมิธรรมได้ตอบคำถามว่า ตนเองรู้สึกกับความเจ็บปวดของประชาชนไม่ต่างกัน แต่ก็มีความรู้สึกอื่นที่ต้องคำนึงถึงด้วย อาจเพราะประสบการณ์มากถึงไม่ได้มองเรื่องนี้จุดเดียว เรื่องนี้ต้องมองอย่างเป็นธรรมถึงจะแก้ปัญหาได้ ตนเข้าใจดีว่าความรู้สึกที่ออกมารุนแรง แต่ที่ผู้ถามพูดออกมาไม่ช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งใน 3 จังหวัดได้

 

“ความรู้สึกรุนแรงที่พูดออกมาไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งแตกแยกของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาภาคใต้จะดีขึ้นต้องใช้สติ ไม่ใช้อารมณ์” รองนายกรัฐมนตรีชี้แจง

 

ทั้งนี้ กระบวนการทั้งหมดในคดีไม่ใช่เรื่องของตำรวจอย่างเดียว สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปตามกระบวนการทั้งหมด รายงานฉบับแรกสถาบันนิติเวชวิทยาได้พิจารณาแล้ว มีผลออกมาอย่างนั้นจริงๆ รัฐบาลไม่สามารถไปกำหนดให้แพทย์นิติเวชกำหนดได้ สะท้อนให้เห็นว่าเรื่องนี้ไม่ได้มีใครตั้งใจ แต่ความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย จะจัดการตามอารมณ์ไม่ได้ ขอให้ผู้ถามใจเย็นดูว่าเรื่องนี้จะคลี่คลายให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทั้งผู้สูญเสียและผู้ถูกกล่าวหาได้อย่างไร

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising