วันนี้ (25 มีนาคม) รังสิมันต์ โรม ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 คณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ว่าดูเผินๆ แล้ว ก็เหมือนจะเป็นการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน คือฉบับ พ.ศ. 2540 แต่เมื่อได้ไปอ่านในสาระสำคัญ 16 ข้อที่เผยแพร่ออกมา ก็น่ากังวลว่าหากมีการบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ขึ้นมาจริงๆ ในสถานการณ์บ้านเมืองเช่นนี้ จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน
รังสิมันต์ได้ตัวอย่างสาระสำคัญที่น่ากังวล อย่างประเด็นที่หนึ่ง ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในฉบับ พ.ศ. 2540 กำหนดว่าข้อมูลข่าวสารของราชการที่ ‘อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์’ จะเปิดเผยมิได้ แต่ในร่างฉบับใหม่นี้ไปขยายอีกว่าแม้กระทั่งข้อมูลที่ ‘หากเปิดเผยแล้วอาจมีการนำไปใช้ในทางที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์’ ก็เปิดเผยมิได้ด้วย กลายเป็นว่าจากแค่ตีความในตัวเนื้อหาของข้อมูลเอง ตอนนี้กำลังขยายไปถึงขั้นว่าต้องตีความเจตนาของผู้ได้รับข้อมูลด้วยว่าจะเอาไปใช้อย่างไร
ประเด็นที่สอง ข้อมูลที่เมื่อเปิดเผยจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคง ฯลฯ เดิมกำหนดให้ ‘จะเปิดเผยหรือไม่ก็ได้’ โดยชั่งน้ำหนักถึงประโยชน์สาธารณะ แต่ในร่างฉบับใหม่ไปเปลี่ยนแปลงเป็นว่า ข้อมูลความมั่นคงของรัฐด้านการทหารและการป้องกันประเทศ ฯลฯ จะเปิดเผยมิได้ กล่าวคือจากเดิมต้อง ‘เปิดเผยแล้วเกิดความเสียหาย’ จึงให้พิจารณาชั่งน้ำหนักก่อนว่าจะเปิดเผยหรือไม่ (ซึ่งสุดท้ายอาจเปิดเผยก็ได้) เปลี่ยนเป็นแค่เป็นเรื่องความมั่นคงทางทหาร ต่อให้เปิดเผยแล้วไม่เสียหาย ก็ห้ามเปิดเผยต่อ
ประเด็นที่สาม ในการใช้ดุลพินิจของหน่วยงานรัฐ เพิ่มเติมเข้ามาว่า หากมีผลเป็นการสร้างภาระจนเกินสมควรแก่หน่วยงานรัฐ หรือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต หน่วยงานรัฐจะไม่จัดหาข้อมูลข่าวสารให้ก็ได้ จากเดิมต้องเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการในการพิจารณาตามความเหมาะสม กลายเป็นโอนอำนาจให้หน่วยงานต้นเรื่องตัดสินได้เอง
ประเด็นที่สี่ ในการพิจารณาคดีในศาลเกี่ยวกับข้อมูลที่มีห้ามเปิดเผย เดิมกำหนดแค่ว่าจะต้องดำเนินกระบวนการพิจารณาโดยมิให้ข้อมูลนั้นเปิดเผยแก่บุคคลอื่นที่ไม่จำเป็นแก่การพิจารณา แต่ในร่างฉบับใหม่เปลี่ยนมาเป็นบังคับให้ต้องพิจารณาเป็นการลับเท่านั้น กลายเป็นว่านอกจากเรื่องการป้องกันข้อมูลถูกเปิดเผยแล้ว กระบวนการพิจารณาส่วนอื่นๆ ยังถูกปิดกั้นมิให้สาธารณะได้รับรู้ด้วย
“ตัวอย่างเหล่านี้สะท้อนถึงความประสาทกินที่หนักข้อมากขึ้นเรื่อยๆ ของฝ่ายผู้มีอำนาจ ผมเกรงว่าหากปล่อยให้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้บังคับใช้ได้จริงๆ ข้อมูลข่าวสารพื้นฐานที่ประชาชนควรรู้ ยกตัวอย่าง แม้กระทั่งเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ที่ใช้เงินภาษีประชาชน ก็จะถูกปิดกั้นไม่ให้ประชาชนผู้เสียภาษีได้รับรู้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ได้เห็นกันอยู่เรื่อยๆ ถึงการใช้จ่ายซื้ออาวุธของกองทัพ ที่ก็อ้างตลอดว่าเป็นไปเพื่อความมั่นคงด้านการทหาร แต่เมื่อได้เห็นรายการที่สั่งซื้อ เห็นตัวเลขวงเงิน ก็บ่งชี้ว่านี่คือการใช้จ่ายที่ไม่คุ้มค่า เกินความจำเป็น หรืออาจเข้าข่ายทุจริตคอร์รัปชันด้วยซ้ำ ลองคิดดูว่าหาก พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับใหม่ประกาศใช้ เรื่องเหล่านี้จะยังถูกเปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้หรือไม่” รังสิมันต์กล่าว
รังสิมันต์ตั้งข้อสังเกตว่า ใน พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ พ.ศ. 2540 ได้เขียนเหตุผลของการมี พ.ร.บ. ดังกล่าวไว้ว่า ‘ในระบอบประชาธิปไตย การให้ประชาชนมีโอกาสกว้างขวางในการได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ ของรัฐเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อที่ประชาชนจะสามารถแสดงความคิดเห็นและใช้สิทธิทางการเมืองได้โดยถูกต้องกับความเป็นจริง อันเป็นการส่งเสริมให้มีความเป็นรัฐบาลโดยประชาชนมากยิ่งขึ้น สมควรกำหนดให้ประชาชนมีสิทธิได้รู้ข้อมูลข่าวสารของราชการ’ ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วก็ยังมีข้อมูลหลายอย่างที่ประชาชนสมควรรับรู้ แต่ถูกยกเว้นไว้ไม่ให้เปิดเผย แต่ใน พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับใหม่นี้ยิ่งทำให้เลวร้ายลงไปอีก จากกฎหมายที่เป็นหลักประกันสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เวลานี้กำลังถูกบิดเบือนให้กลายเป็นกฎหมายแห่งการปิดกั้นข้อมูลไม่ให้ประชาชนได้รับรู้ และเท่านั้นไม่พอ รัฐบาลยังได้แจ้งอีกว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นกฎหมายปฏิรูป หมายความว่า ตามรัฐธรรมนูญในบทเฉพาะกาล มาตรา 270 ส.ว. จะมีอำนาจเข้ามาร่วมลงมติร่วมกับ ส.ส. ได้ตั้งแต่แรก คงกะจะเอาให้ผ่านสภาให้ได้จริงๆ
“ถ้าหากกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ขึ้นมา จะเป็นภัยกับประชาชนอย่างใหญ่หลวงแน่นอน ปล่อยไว้ไม่ได้เด็ดขาด” รังสิมันต์กล่าวในที่สุด
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล