วันนี้ (12 มิถุนายน) รังสิมันต์ โรม สส. แบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงวาระประชุมวันนี้ที่จะมีการพูดคุยประเด็นชายแดนกัมพูชา โดยชี้แจงว่า เป็นการประชุมลับ สืบเนื่องเนื่องมาจากที่เราเคยลงพื้นที่ช่องจอม เราได้เห็นสภาพความเป็นจริงว่า สถานการณ์ไทย-กัมพูชาเป็นสถานการณ์ที่เราควรเตรียมพร้อมทั้งในแง่ของยุทธศาสตร์และทุกรูปแบบเอาไว้
สำหรับการประชุมวันนี้จะไม่มีการบันทึกการประชุม ไม่มีการถ่ายทอดสด ไม่ให้เลขานุการและที่ปรึกษาเข้าร่วม อยากให้ทุกฝ่ายได้คุยกับกรรมาธิการอย่างเต็มที่และตรงไปตรงมา หวังว่าข้อมูลตรงนี้จะเป็นประโยชน์ในการที่เราจะร่วมมือกันระหว่างผู้ปฏิบัติ รัฐบาล และสภา
“ในวิกฤตนี้เรามีความจำเป็นต้องรวมพลังในการที่จะแก้ปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้น เข้าใจว่าวิกฤตนี้ลุกลามบานปลาย และคิดว่าประชาชนตามแนวชายแดนเดือดร้อนก่อน ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน จากการลงพื้นที่ที่จังหวัดสุรินทร์ ประชาชนเตรียมทำบังเกอร์ ดังนั้นสถานการณ์ตามแนวชายแดนตึงเครียดจริงๆ” รังสิมันต์กล่าว
รังสิมันต์กล่าวต่อว่า วันนี้ได้มีการเชิญนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และนักวิชาการบางคนที่ให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ได้ ซึ่งตอนนี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมรับปากว่าจะเข้ามาชี้แจง ดังนั้น จึงมองว่าวันนี้จะเป็นการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมา ทางสภาฯ กับทางฝ่ายบริหารรวมถึงผู้ปฏิบัติ จะได้เห็นความร่วมไม้ร่วมมือกันในการแก้ปัญหานี้
ทวิภาคีคือทางออก สงครามไม่จำเป็นต้องเป็นทางเลือก
รังสิมันต์ยืนยันว่าการทำสงครามด้วยอาวุธ ไม่จำเป็นต้องเป็นทางเลือก และทางออกที่จะพูดคุยกันแบบทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทย ยังเป็นทางออกที่เป็นไปได้ เชื่อว่าเป็นทางออกที่จะสร้างบาดแผลให้กับทั้ง 2 ชาติน้อยที่สุด และการมองไปข้างหน้าที่ทำให้ 2 ประเทศ เห็นถึงความร่วมไม้ร่วมมือกันโดยเฉพาะการค้าชายแดน ในเรื่องของเศรษฐกิจยังมีความเป็นไปได้แต่ถ้าเราไปเลือกวิธีการอื่น
“ผมคิดว่าอนาคตที่จะมีความสัมพันธ์ร่วมมือเชิงบวกจะยิ่งยากเข้าไปเรื่อยๆ เพราะสุดท้ายมีผู้แพ้และผู้ชนะ มีผู้ที่ได้และเสีย สุดท้ายประชาชนตามแนวชายแดนทั้ง 2 ประเทศ ไม่มีใครได้อะไรเลย” รังสิมันต์กล่าว
รังสิมันต์ยอมรับว่า ประเด็นที่จะถามต่อหน่วยงานที่เข้ามาชี้แจง เกี่ยวพันกับเรื่องที่จะนำไปพูดคุยในโต๊ะเจรจา JBC เราต้องเข้าใจว่าสุดท้ายกัมพูชาต้องการอะไร นี่คือคำถามที่ยังไม่มีใครได้คำตอบ เป็นคำถามสำคัญ ว่าทั้งหมดที่เกิดขึ้น กัมพูชาต้องการอะไร ใช่ 3 ปราสาท 1 ช่องบกจริงหรือไม่ นี่คือสิ่งที่เราต้องพิจารณากันดีๆ ส่วนที่จะร้องไปศาลโลกจะเป็นสิ่งที่กัมพูชาต้องการจริงๆ ใช่หรือไม่ รวมถึงต้องเตรียมการเรื่องความมั่นคง เพราะมีภัยคุกคาม เช่น การจัดวางกองทัพมากน้อยแค่ไหน ส่วนนี้เราก็ต้องทราบ และยุทธศาสตร์ของเรา ที่จะนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้งคืออะไร วันนี้ต้องคุยกันบนพื้นฐานของการมียุทธศาสตร์ และกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหมทำอะไร รวมถึงแนวทางการเจรจาวันที่ 14 มิถุนายนนี้จะเป็นอย่างไร
“ภาพที่ออกมาวันนี้การประชุมวันที่ 14 มิถุนายนนี้ ดูเหมือนทางกัมพูชาจะไม่ค่อยอยากประชุมเท่าไร เขาไม่รู้สึกถึงความสำคัญขนาดนั้น แสดงว่าเกิดจากแต้มต่อเราน้อยไปหรือไม่ ดังนั้น ถ้าเราอยากให้เครื่องไม้เครื่องมือในการเจรจาได้ผล เราต้องสร้างแต้มต่อในการเจรจาของประเทศไทยให้ได้มากที่สุด คือการสนับสนุนจากทุกฝ่าย ถ้าเราไม่มีแต้มต่อตรงนี้สุดท้ายหากความขัดแย้งลุกลามบานปลาย ทุกฝ่ายมองไม่เห็นถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจ มองไม่เห็นถึงความจำเป็นในการพูดคุย สุดท้ายประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่เคลื่อนไหวได้ยาก จะมีผลกระทบค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะฝั่งไหนก็ตาม” รังสิมันต์กล่าว
สำหรับการตัดไฟฟ้าก่อนการประชุม JBC นั้น รังสิมันต์ให้ความเห็นว่า เรื่องปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติที่ส่งผลกระทบต่อไทย วันนี้แก๊งคอลเซนเตอร์ไม่ได้รุ่งเรืองเหมือนก่อนหน้า แต่ยังมีอยู่ และไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องเก็บเอาไว้ ถ้าเราตัดไปก่อน คิดว่าเป็นการเพิ่มแต้มต่อให้กับประเทศไทย แต่ต้องยอมรับว่าอาจมีผลกระทบหลายด้าน สุดท้ายประเทศไทยต้องตัดสินใจเชิงนโยบายอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อแก้ปัญหานี้ ไม่เช่นนั้นปัญหาแก๊งคอลเซนเตอร์ก็ไม่จบเสียที
“วันนี้เราต้องคุยกันตรงไปตรงมา สายตาทั่วโลกมองว่ากัมพูชาเป็นประเทศเล็ก และมองว่าไทยไปรังแกเขาหรือไม่ เขาพยายามเอากรณีการเสียชีวิตของทหารกัมพูชาที่ถูกยิงบริเวณชายแดน เพื่อบอกว่าไทยรังแกเขา ซึ่งไทยต้องมียุทธศาสตร์ในเรื่องนี้ ทำให้จะต้องทำให้ต่างประเทศเห็นว่าความเป็นจริงคืออะไร ไทยไม่ได้ต้องการเริ่มต้นเรื่องนี้ กัมพูชาต่างหากที่เป็นผู้เริ่มต้น และไทยต้องมองถึงโอกาสและความเป็นไปได้ทางการทูต” รังสิมันต์กล่าว
คาดหวังนายกฯ สร้างความเชื่อมั่นประชาชน
รังสิมันต์กล่าวต่อไปว่า เราคาดหวังกับนายกรัฐมนตรี อยากเห็นนายกรัฐมนตรีมีบทบาทนำ ตอนนี้มีคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลเราและรัฐบาลพนมเปญ แต่คิดว่านายกรัฐมนตรีต้องใช้โอกาสนี้ประกาศให้ชัดว่าความสัมพันธ์ส่วนตัวจะไม่มีวันใหญ่กว่าความสำคัญของประเทศชาติ ดังนั้น ถ้านายกฯ ทำเรื่องนี้ดีจะได้รับความนิยมที่ดี ซึ่งต้องจัดลำดับความสำคัญให้ดี อย่างการไปลงพื้นที่ที่ช่องจอม จังหวัดสุรินทร์ เป็นเรื่องดี แต่ไม่เห็นด้วยกับหัวข้อที่พูดคุยเรื่องการเปิด ปิดด่านให้ตรงกัน เพราะมองว่าไม่ใช่เวลา มีประเด็นอื่นที่สำคัญอีกมาก และนายกรัฐมนตรี ควรหยิบยกมาพูดคุย และสั่งการไปหน่วยความมั่นคง
“รัฐบาลจะทำอย่างไรให้ประชาชนเชื่อว่าความสัมพันธ์ส่วนตัว เรื่องภายในครอบครัว ไม่ใหญ่กว่าเรื่องของผลประโยชน์ของชาติ เรื่องระบบกฎหมายกระบวนการยุติธรรม สำหรับผมมันเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ดังนั้น รัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องนี้ให้ได้ อย่างในคดีเรื่องชั้น 14 ก็จะเป็นปมปัญหาต่อไปอย่างแน่นอน คิดว่าอยากให้ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ฟังแพทยสภา เมื่อแพทยสภาออกมาอย่างนี้อยากเห็นท่าทีที่ชัดเจน ว่ารัฐบาลจะเอาอย่างไร น่าจะจบแล้วหรือไม่ และกระบวนการที่ทำอยู่ต่อไป อยากให้ระวังให้ดี ว่าอาจจะยิ่งทำลายความศรัทธาที่ประชาชนจะมีต่อกระบวนการยุติธรรมและต่อรัฐบาลเอง” รังสิมันต์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในการประชุมกรรมาธิการวันนี้ มีผู้เข้าร่วมเข้าชี้แจง พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และตัวแทนจากกระทรวงมหาดไทย สมช. ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศไม่ได้ส่งผู้แทนมาชี้แจง โดยให้เหตุผลว่าติดเตรียมข้อมูลเข้าร่วมประชุม JBC ในวันที่ 14 มิถุนายน