×

อุบัติเหตุ ฮาวา สู่ปมด่านลอย การตั้งด่านที่สังคมไทยถกเถียงมาเนิ่นนาน

29.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ปัญหา ‘ด่านลอย’ เคยมีคำสั่งยกเลิกห้ามตั้งเด็ดขาดตั้งแต่ปี 2558 แต่จนถึงทุกวันนี้ผู้ใช้รถใช้ถนนก็ยังสงสัยอยู่ว่า ด่าน หรือ จุดสกัด เหล่านั้น เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้กฎหมายมีคำตอบ
  • กรณีอุบัติเหตุของนักร้องสาวล่าสุด ทำให้ด่านลอยกลับมาเป็นที่ถกเถียงอีกครั้ง เมื่อประชาชนมองว่าเข้าข่ายด่านลอย แต่ตำรวจมองว่าไม่ใช่ อย่างไรก็ตามนายตำรวจที่ปรากฏในข่าวถูกตั้งกรรมการสอบสวนแล้ว

‘ด่านตรวจ’ กลายเป็นประเด็นขึ้นมาอีกแล้ว หลังสื่อหลายสำนักนำเสนอข่าวกรณีที่ ฮาวา The X Factor นักร้องนักดนตรีสาว ซึ่งกำลังขับรถไปงานจ้างที่จังหวัด พระนครศรีอยุธยา โดยขับรถมาตามถนนทางหลวงสายหลักในพื้นที่อำเภอบางปะอิน และมีตำรวจทางหลวงเดินทางมาโบกรถกลางถนน ทำให้รถเก๋งสีขาวคันหน้าเบรก ผู้เสียหายขับตามหลังมาเบรกเอาไว้ทัน แต่รถสิบล้อที่ตามหลังมาอีกทีเบรกไม่ทัน พุ่งชนท้ายรถตนจนทำให้ได้รับบาดเจ็บ มีเลือดออกที่หางตา อุปกรณ์เล่นดนตรีเสียหาย

 

ข้อเท็จจริงข้างต้นนำมาสู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของตำรวจ โดยเฉพาะ การตั้งด่านตรวจ จุดสกัด และเป็นไฟลามทุ่งไปถึงคำถามว่า กรณีนี้คือด่านลอย ซึ่งถือว่าเป็นด่านเถื่อนที่ผิดกฎหมายหรือไม่?

 

ประชาชนควรรู้ ด่านตรวจ จุดสกัด ด่านลอย ต่างกันตรงไหน

ก่อนที่จะถกเถียงกันถึงประเด็นอุบัติเหตุล่าสุดที่เกิดขึ้น THE STANDARD ขออาสาพาไปทำความรู้จักกับสิ่งเหล่านี้ว่ามีแนวปฏิบัติหรือข้อมูลตามกฎหมายที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติยึดถือปฏิบัติกันอย่างไรบ้าง

 

ตามบันทึกข้อความ ส่วนราชการ กรมตำรวจ ได้อธิบายความหมายไว้ดังนี้

 

‘ด่านตรวจ’ หมายถึง สถานที่ทำการที่เจ้าพนักงานตำรวจออกปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจค้นเพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดในเขตทางเดินรถ (ความหมายตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2535) โดยระบุสถานที่ไว้ชัดแจ้งเป็นการถาวร การตั้งด่านตรวจจะต้องได้รับอนุมัติจาก ครม. หรือผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง หรือ กอ.รมน. แล้วแต่กรณี

 

‘จุดตรวจ’ หมายถึง สถานที่ที่เจ้าพนักงานตำรวจออกปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้น เพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดในเขตทางเดินรถหรือทางหลวงในกรณีปกติเป็นการชั่วคราว โดยมีกำหนดระยะเวลาเท่าที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว แต่ต้องไม่เกิน 24 ชั่วโมง และเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้วจะต้องยุบเลิกจุดตรวจดังกล่าวทันที โดยต้องได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาระดับ ผบก. เป็นต้นไป

 

‘จุดสกัด’ หมายถึง สถานที่ที่เจ้าพนักงานตำรวจออกปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้น เพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดในเขตทางเดินรถหรือทางหลวง ในกรณีที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วนเกิดขึ้นเป็นการชั่วคราว และจะต้องยุบเลิกเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจดังกล่าว ต้องได้รับอนุญาตจากนายตำรวจระดับหัวหน้าสถานี

 

ขณะที่การตั้งด่านจะต้องมีเครื่องหมายจราจรว่า ‘หยุดตรวจ’ มีสิ่งกีดขวางหรือสัญญาณให้เป็นที่สังเกตเห็นได้ง่ายในระยะไกล

 

 

ส่วนในเวลากลางคืนต้องจัดให้มีแสงสว่างและมองเห็นในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตรก่อนถึงจุดตรวจ

 

ต้องมีแผ่นป้ายแสดงยศ ชื่อ นามสกุล และตำแหน่งของหัวหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำด่านตรวจและจุดตรวจ

 

พร้อมทั้งจะต้องมีแผ่นป้ายแสดงข้อความว่า หากพบเจ้าหน้าที่ทุจริตหรือประพฤติมิชอบให้แจ้งผู้บังคับการ พร้อมเบอร์โทรฯ มองเห็นในระยะไม่น้อยกว่า 15 เมตร

 

อย่างไรก็ตาม หากดูตามบันทึกของกรมตำรวจ (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ไม่ได้ระบุไว้ว่า ‘ด่านลอย’ คืออะไร แต่ในความเข้าใจของประชาชน ด่านลอยอาจมีความหมายคล้ายกับจุดสกัด เพราะในอดีตที่ผ่านมากำหนดให้เพียงนายตำรวจสัญญาบัตรเป็นหัวหน้าชุดเท่านั้น

 

ขณะที่ในเวลาต่อมา พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ในขณะนั้น ได้มีนโยบายให้ยกเลิกด่านที่ไม่ได้ตั้งขึ้นตามกฎเกณฑ์ที่ระบุ ซึ่งด่านลอยหรือจุดสกัดที่ไม่ได้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ดังกล่าวก็ถือว่าเป็นด่านเถื่อน ผิดกฎหมายนั่นเอง และที่เป็นปัญหาเพราะมีการลักลอบเปิดจุดสกัดดังกล่าวมาโดยตลอด แถมภาพลักษณ์ยังมีลักษณะเรียกรับผลประโยชน์ มักหลบเลี่ยงอยู่ตามเสาไฟฟ้า พุ่มไม้ข้างทาง

 

ตำรวจผู้น้อยเผย ‘ด่านลอย’ สะท้อนปัญหาคุณภาพชีวิตตำรวจ

เพื่อให้เข้าใจสภาพความเป็นจริงของการทำหน้าที่ของตำรวจ THE STANDARD พูดคุยกับแหล่งข่าวซึ่งเป็นนายตำรวจชั้นประทวนที่มักต้องออกปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับการตั้งด่าน ตั้งจุดตรวจ และจุดสกัดอยู่เสมอ

 

นายตำรวจท่านนี้ให้ข้อมูลว่า ปัญหาด่านลอยมีมานานแล้ว พูดกันตรงๆ ก็คือ ‘เงินไม่พอใช้’ ตำรวจเป็นแบบนี้ มีแต่รายจ่ายมากกว่ารายรับ ค่าชุด ซื้อปืน ค่าเช่าบ้าน ต้องจ่าย ต้องกู้ เงินเดือนก็ไม่พอใช้ การปรับตัวของแต่ละคนก็ต่างกันไป ถ้าคุณสังเกตง่ายๆ จะเห็นตำรวจไปเฝ้าร้านทอง ทำนู่นนี่นั่นแล้วแต่ช่องทางของตัวเอง

 

“สวัสดิการของตำรวจต้องปฏิรูปก่อนที่จะพูดเรื่องโครงสร้างด้วยซ้ำ เวลาตำรวจทำงานเราก็เต็มที่ อยากให้รู้ว่าทุกองค์กรมีคนดีและคนเลว เวลาเกิดปัญหาก็ต้องว่าไปเป็นรายกรณี ไม่อยากให้มาเหมารวมองค์กร”

 

นายตำรวจคนดังกล่าวยังระบุถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า อยากให้มองกว้างๆ การปฏิบัติหน้าที่ก็มีโอกาสผิดพลาด ถ้าทำผิดก็มีระบบตรวจสอบกันอยู่แล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนทำงานลำบากใจมาโดยตลอด การตั้งด่านเพื่อสกัดคนร้ายหรือตรวจสอบสิ่งผิดกฎหมายกลายเป็นถูกมองว่ามาทำมาหากิน ซึ่งที่จริงแล้วเป็นการทำหน้าที่ตามกฎหมาย ถามว่าที่ผิดกฎหมายมีไหม แน่นอนว่ามี ถ้าคุณเห็นและรับไม่ได้ คุณต้องแจ้งไปที่หน่วยงานที่รับผิดชอบ

 

“ผมว่าเรื่องนี้มันก็ผิดสองฝ่าย ถ้าไม่มีคนให้ก็ไม่มีคนรับ ถ้าฝ่ายประชาชนเห็นว่าตำรวจเรียกรับคุณต้องแจ้งเลย คุณอย่าไปให้ เมื่อไรที่คุณให้มันก็จบแล้ว ด่านพวกนี้ก็มีได้ ตำรวจก็มีได้ ผมมีประสบการณ์กับเรื่องเหล่านี้ ผมพยายามเอาตัวเองให้ห่างมากที่สุด แต่วัฒนธรรมของเราก็ทำให้ผมห้ามตัวเองไม่ได้ในบางครั้ง ผมยอมรับตรงนี้

 

“เวลาพูดถึงตำรวจคนเกลียดเยอะมาก แต่พอลูกหลานเป็นตำรวจเขาก็ดีใจ สถิติสอบตำรวจแต่ละครั้งไม่เคยน้อย อย่างที่บอกทำดีก็เท่าทุน ขวัญกำลังใจต้องเริ่มต้นจากคนทำงานก่อน ช่วยบอกให้เขาปฏิรูปเรื่องสวัสดิการด้วยนะครับ” นายตำรวจชั้นประทวนที่ไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อกล่าวทิ้งท้าย

 

 

ชี้อย่างเพิ่งด่วนตัดสินว่าเป็น ‘ด่านลอย’ แต่ถ้าทำไม่ดีต้องตรวจสอบ

นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ผู้ซึ่งเคยมีบทบาทออกมาคัดค้านกรณีครูจอมทรัพย์ว่าเป็นขบวนการจัดตั้งเพื่อรื้อฟื้นคดี ให้ความเห็นกรณีอุบัติเหตุของนักร้องกับ THE STANDARD ว่า ไม่อยากให้สื่อไปตัดสินหรือนำเสนอตามกระแสสังคมว่ากรณีดังกล่าวคือด่านลอยหรือไม่ หากดูตามภาพคลิปข่าวที่เกิดขึ้น จะเห็นว่าการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่บนทางหลวง ถือว่าเป็นอำนาจของตำรวจทางหลวงอยู่แล้ว แต่การไปโบกรถกลางถนนนั้นเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะอาจเป็นอันตรายต่อตัวเขาเองด้วย

 

“กรณีที่เกิดขึ้นต้องแยกแยะเป็น 2 ส่วน ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจทางหลวง กับกรณีการเกิดอุบัติเหตุระหว่างรถเก๋งกับรถกระบะ ต้องไปดูระยะห่างตามที่กฎหมายกำหนดว่ารถสองคันห่างกันในระยะนั้นไหม ค่าเสียหายที่เกิดจากกรณีอุบัติเหตุ ฝ่ายรถบรรทุกก็มีหน้าที่ต้องชดใช้ ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงทางคดีด้วย

 

“ผมไม่อยากให้บอกว่าเป็นด่านลอย อย่าไปชี้นำ เพราะต่อไปตำรวจก็คงไม่มีใครกล้าตั้งด่านเพื่อทำหน้าที่สกัดกั้นผู้ร้ายหรือคนที่ทำผิดกฎหมาย ส่วนการปฏิบัติหน้าที่นั้น ถ้าตำรวจทำไม่ถูกต้อง ไม่สมควร ก็ต้องว่าเป็นกรณีไป ไม่ใช่เหมารวม จะตั้งกรรมการสอบก็ว่ากันไป ทุกวันนี้ภาพลักษณ์ของตำรวจก็มีปัญหา ถ้าเราสังเกตจราจรในนครบาล แทบจะไม่เห็นการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน แต่ในต่างจังหวัดก็ยังมีด่านลักษณะนี้ จุดสกัดต่างๆ บางทีก็เป็นเรื่องการรักษาดูแลความปลอดภัยของประชาชน เพราะฉะนั้นมันก็ก้ำกึ่งกันอยู่”

 

รองผู้บังคับการทางหลวงยืนยันไม่ใช่ ‘ด่านลอย’

ขณะที่ พ.ต.อ. เอกราช ลิ้มสังกาศ รองผู้บังคับการตำรวจทางหลวงได้ชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวผ่านเดลินิวส์ออนไลน์ว่า หลักการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจทางหลวงมีอยู่ 2 วิธีการ คือ 1. ใช้รถตรวจการณ์ 1 คันโดยมีวิทยุตำรวจทางหลวงประสานความร่วมมือกันกับพนักงานวิทยุเพื่อออกตรวจตราพื้นที่ในเขตรับผิดชอบ โดยมีแบบแผนขั้นตอนในแต่ละจุดแต่ละวัน ซึ่งวิธีนี้ตำรวจในต่างประเทศก็ใช้เช่นกันทั่วโลก กรณีพบผู้กระทำความผิดก็จะให้สัญญาณเพื่อให้จอด มีการว่ากล่าวตักเตือนออกใบสั่งจับปรับตามกฎหมาย

 

ส่วนวิธีที่ 2 คือการอยู่สังเกตการณ์เพื่อจับกุมผู้กระทำผิด เช่น มีการขับแซงในพื้นที่ห้ามแซงบนสะพานลงมา ตรงนี้ก็ต้องอยู่บังคับใช้กฎหมายเช่นกัน แต่จะให้ใช้รถตรวจก็คงจะไม่ได้ ต้องหยุดเพื่อตรวจจับเท่านั้น

 

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าวิธีการที่ 2 มีพี่น้องประชาชนเข้าใจว่าเป็นด่านลอย ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะเป็นการหยุดเพื่อสังเกตการณ์ และจับกุมผู้กระทำผิดหลังจากได้รับการร้องเรียนว่าบริเวณดังกล่าวมีรถบรรทุกวิ่งมาเลนขวาด้วยความเร็วอยู่ตลอดจนทำให้เกิดอันตรายแก่พี่น้องประชาชนได้

 

“ขอเรียนว่าตรงจุดที่ตำรวจทางหลวงอยู่นั้นไม่ใช่ด่านลอย แต่เป็นจุดสังเกตการณ์ก่อนจะจับกุมผู้กระทำผิด อย่างไรก็ตามได้มีการสั่งให้สอบสวนเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ ณ จุดนั้นดังกล่าวว่าเป็นไปตามขั้นตอนของแผนการตรวจการหรือไม่อย่างไร ยุทธวิธีในการหยุดรถมีความประมาทเลินเล่อหรือไม่อย่างไร และต้องดูว่าเป็นความผิดวินัยด้วยหรือไม่ ถ้าเป็นก็ต้องถูกดำเนินคดี แต่ถ้าไม่เป็นก็ต้องจบตรงนั้น”

 

อย่างไรก็ตาม THE STANDARD ได้รับรายงานว่า ในวันพรุ่งนี้ (30 ม.ค.) ทางตำรวจทางหลวงจะได้เชิญคู่กรณีทั้งสองฝ่ายมาพูดคุยเพื่อตกลง สำหรับความคืบหน้าในทางคดีจะได้รายงานให้ทราบต่อไป รวมถึงผลการสอบสวนนายตำรวจทั้ง 2 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้บังคับบัญชาได้สั่งการไปแล้ว

 

Photo: AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X