×

ปรากฏการณ์ ‘กล่องสุ่ม’ ดันธุรกิจ Art Toy ทุนจีน-ฮ่องกง-ญี่ปุ่น แห่จดทะเบียนในไทยพุ่ง 5.7 พันล้านบาท

26.06.2024
  • LOADING...

ธุรกิจของเล่นไทยปังไม่ไหว กระแส ‘Art Toy’ ไม่มีแผ่ว! ปรากฏการณ์กล่องสุ่ม ตามหาตัวหายากจนเกิดเศรษฐกิจ ‘Kidult’ กลุ่มผู้ใหญ่ที่มีกำลังซื้อสูงที่รักในการสะสมของเล่น โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าวิเคราะห์ล่าสุดว่า ขณะนี้ ‘ธุรกิจของเล่น’ โดดเด่นทั้งสายการผลิตและการขาย

 

สะท้อนจากตัวเลขนิติบุคคล 1,093 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนสูงถึง 5,692.21 ล้านบาท และเป็น ‘ธุรกิจไซส์ S จิ๋วแต่แจ๋ว’ ที่ครองตลาดใหญ่ในไทย ทุบรายได้ปีที่แล้วรวมกว่า 19,677.21 ล้านบาท

 

 

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ให้ข้อมูลว่า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ ‘ธุรกิจของเล่น’ มีการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอย่าง ‘น่าจับตามอง’ มาตั้งแต่ปีที่แล้ว 

 

สัดส่วนรายได้ธุรกิจนี้มาจาก 2 กลุ่ม การผลิต และการขาย 

 

โดยมาจาก ‘การผลิต’ ของเล่นที่มีล้อ การผลิตตุ๊กตา และเกมต่างๆ และกลุ่มขายส่ง/ขายปลีก โดยประเทศไทยมีการจัดตั้งธุรกิจของเล่นในรูปแบบนิติบุคคลจำนวน 1,093 ราย (ผลิต 238 ราย และขาย 855 ราย) มูลค่าทุนจดทะเบียนทั้งหมด 5,692.21 ล้านบาท (แบ่งเป็นการผลิต 2,909.61 ล้านบาท และการขาย 2,782.60 ล้านบาท) 

 

“ข้อมูลที่น่าสังเกตคือ เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) เป็นกลุ่มที่มีการจัดตั้งธุรกิจมากที่สุด จำนวน 1,024 ราย แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและโอกาสของ SME ในธุรกิจของเล่นที่ยังเปิดกว้างให้ธุรกิจขนาดเล็กเข้ามาลงทุนช่วงชิงตลาด”

 

ในจำนวนนี้เป็น ‘กลุ่มขาย’ มากถึง 804 ราย และผลิต 220 ราย สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันที่จะเห็นได้ว่า ตลาดของเล่นมีการซื้อขายอย่างคึกคักทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ  

 

อรมนบอกว่า เฉพาะปี 2567 หากดูตัวเลขการจัดตั้งธุรกิจของเล่นช่วง 5 เดือนแรก (เดือนมกราคม-พฤษภาคม) มีจำนวน 57 ราย (ผลิต 50 ราย และขาย 7 ราย) โดยทั้งหมดเป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) มูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 67 ล้านบาท เปรียบเทียบข้อมูลย้อนหลัง 2 ปี (ปี 2565-2566)

 

หากเทียบปี 2566 จะพบว่า มีการจัดตั้งธุรกิจของเล่นจำนวน 120 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 49 ราย คิดเป็น 69.01% มูลค่าทุนจดทะเบียน 2,736.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 40.90 ล้านบาท คิดเป็น 31.52% และตลอดปี 2566 ธุรกิจของเล่นสร้างรายได้รวมถึง 19,677.21 ล้านบาท พร้อมเติบโตแบบก้าวกระโดดและทำกำไรอยู่ที่ 467.62 ล้านบาท       

 

“กลุ่มขายสามารถพลิกฟื้นธุรกิจพร้อมสร้างกำไรได้อย่างโดดเด่นในปี 2566 มูลค่า 175.07 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มีกำไรอยู่ที่ 83.58 ล้านบาท” 

 

 

3 ประเทศที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 

 

น่าสนใจว่าธุรกิจนี้มีการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด 10,068.04 ล้านบาท โดยประเทศที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่

  • ฮ่องกง มูลค่าการลงทุน 989.37 ล้านบาท
  • จีน มูลค่าการลงทุน 784.16 ล้านบาท 
  • ญี่ปุ่น มูลค่าการลงทุน 541.81 ล้านบาท

 

แม้ธุรกิจของเล่นก่อนหน้านี้ประสบปัญหาเช่นเดียวกับหลายธุรกิจในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด แต่ขณะนี้กลับมาพลิกฟื้นได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนหลายด้าน ได้แก่

  • ด้านการผลิต ชาวต่างชาตินิยมสั่งซื้อของเล่นจากผู้ผลิตไทยเพราะมีคุณภาพที่ดีเยี่ยม จนในปี 2566 สามารถส่งออกไปสู่ต่างประเทศได้หลายประเทศ สร้างมูลค่าการส่งออกได้มากถึง 8,776.24 ล้านบาท 
  • แนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นต่อเนื่องมาจากการที่ไทยได้เปรียบด้านความสมบูรณ์และคุณภาพของวัตถุดิบอย่างไม้และยางพาราที่นิยมนำมาใช้ผลิตของเล่น

 

เกิดเศรษฐกิจ ‘Kidult’ ผู้ใหญ่ชอบสะสมของเล่น!

 

ที่สำคัญคือ ด้านการขาย ปัจจุบันของเล่นไม่ได้อยู่คู่กับเด็กเท่านั้น หากแต่เกิดกลุ่มที่ชื่อว่า ‘Kidult’ ขึ้นมาในอุตสาหกรรมของเล่น ซึ่งเป็นการรวมกันระหว่างคำว่า Kid (เด็ก) และ Adult (ผู้ใหญ่) 

 

“แน่นอนว่าหากเราพิจารณาดีๆ การจะจ่ายเงินซื้อของเล่นสักหนึ่งชิ้น ไม่ว่าในเวลาต่อมาเจ้าของของเล่นชิ้นนั้นจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม แต่การตัดสินใจส่วนใหญ่จะเป็นของผู้ใหญ่ที่มีความสามารถในการซื้อ รวมถึงความนิยมของเล่นในกลุ่ม Art Toy ได้สร้างกระแสสำคัญในวงการของเล่นทั่วโลก”

 

โดยในประเทศไทยเกิดการแข่งขันสูงในการซื้อขาย Art Toy ผ่านรูปแบบต่างๆ ทั้งขายทางหน้าร้าน ขายผ่านออนไลน์ หรือแม้แต่อาชีพนักหิ้ว ก็ยังสร้างรายได้ไปกับการซื้อขาย Art Toy ด้วย 

 

 

ปรากฏการณ์ ‘กล่องสุ่ม’ ลุ้นตัวหายาก (Secret)

 

ประกอบกับความน่าสนใจของ Art Toy เป็นการนำเอาศิลปะจากดีไซเนอร์นักวาดรูปมาผสมกับการตลาดยุคใหม่

 

“การจำกัดจำนวนการผลิตในแต่ละรุ่นเพื่อสร้างคุณค่า สร้างคาแรกเตอร์ ที่บรรจุสินค้าอยู่ในกล่องสุ่มที่ผู้ซื้อต้องลุ้นว่าจะได้ตัวหายาก หรือ Secret หรือไม่ ซึ่งดีไซเนอร์นักวาดการ์ตูนของไทยก็ได้เข้าไป เช่น แบรนด์ Crybaby

 

“สิ่งเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการสร้าง Art Toy ที่สะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นไทยและสากล จนกลายเป็นที่ต้องการของ Kidult ในระดับโลกด้วย ยิ่งสร้างการมีส่วนร่วมและความจงรักภักดีแก่ผู้ซื้อให้เป็นส่วนหนึ่งในแบรนด์ รวมถึงการกระตุ้นความน่าสนใจด้วยอินฟลูเอ็นเซอร์ กลายเป็นกระแสนิยมในตลาด เกิดนักสะสมรุ่นใหม่และเก่า ถือว่าธุรกิจนี้โดดเด่นและมาแรงมาก” อรมนทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X