×

คณะแพทย์รามาฯ แจงเหตุซีเซียม-137 ปราจีนบุรี มีผลกระทบน้อยเมื่อเทียบเชอร์โนบิล-ฟุกุชิมะ ส่วนยาต้านพรัสเซียนบลูที่มีในคลังหมดอายุแล้ว

โดย THE STANDARD TEAM
22.03.2023
  • LOADING...

วันนี้ (22 มีนาคม) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยา และหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์, พญ.สาทริยา ตระกูลศรีชัย ศูนย์พิษวิทยา และภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน และ กฤศณัฏฐ์ เชื่อมสามัคคี ภาควิชารังสีวิทยา จัดแถลงในประเด็น ‘ซีเซียม (Cesium, Cs-137) กับยาต้านพิษพรัสเซียนบลู (Prussian blue)’

 

โดย พญ.สาทริยากล่าวว่า การรักษาซีเซียม-137 ด้วยยาต้านพิษพรัสเซียนบลู ซึ่งเป็นสารที่ให้สีน้ำเงิน ถูกใช้แพร่หลายในการเขียนภาพ และถูกนำมาใช้เป็นยาต้านพิษที่อยู่ในรูปแบบยาเม็ด มีข้อบ่งชี้เฉพาะคือใช้ในผู้ป่วยที่มีการปนเปื้อนซีเซียมภายในร่างกาย (Internal contamination) เท่านั้น ไม่ใช้รักษาหากได้รับทางผิวหนังหรือปนเปื้อนตามเสื้อผ้า

 

สำหรับกลไกการออกฤทธิ์หลักของพรัสเซียนบลูคือ จับกับซีเซียมในลำไส้ ป้องกันไม่ให้ซีเซียมดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย อย่างไรก็ตาม การใช้ยาดังกล่าวมีผลข้างเคียง ได้แก่ ท้องผูก หรือภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ อาจทำให้สีอุจจาระ เยื่อบุ หรือฟันเปลี่ยนสีได้

 

ดังนั้นประชาชนจึงไม่ควรซื้อรับประทานเอง เนื่องจากพรัสเซียนบลูที่ซื้ออาจไม่ได้ถูกผลิตเพื่อเป็นยา การรักษาควรใช้ภายใต้การดูแลรักษาของแพทย์ โดยความเหมาะสมในการรับยาจะขึ้นอยู่กับปริมาณและระยะเวลาในการได้รับรังสี อาจไม่ใช่ 5-7 วัน แต่ต้องประเมินร่างกายแบบวันต่อวัน

 

พญ.สาทริยากล่าวต่อไปว่า ตามที่ชี้แจงนั้นพรัสเซียนบลูที่เป็นยาต้านเป็นชนิดเดียวกับที่ใช้ในการเขียนภาพ แต่เมื่อเป็นยาที่ใช้กับคนจะแตกต่างที่เกรดและกรรมวิธีในการผลิต ฉะนั้นขอยืนยันว่าไม่แนะนำให้ประชาชนสั่งซื้อผ่านอินเทอร์เน็ต

 

ขณะที่ นพ.วินัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ในระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ศูนย์พิษวิทยาของประเทศไทยเก็บพรัสเซียนบลูไว้ในคลัง แต่ด้วยตลอด 20 ปีไม่มีการถูกเรียกใช้งาน ทำให้ยาที่จัดเก็บหมดอายุไปแล้ว ขณะนี้ประเทศไทยจึงยังไม่มีสำรองยาชนิดนี้ แต่มีข้อมูลว่าทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้สั่งเพื่อเตรียมไว้ใช้แล้วในอนาคต

 

ส่วน พญ.สาทริยากล่าวต่ออีกว่า สำหรับผลในระยะสั้นเมื่อสัมผัสซีเซียม-137 มี 2 รูปแบบคือ

 

  1. ผลที่เกิดเฉพาะที่ เมื่อสัมผัสทางผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นแดง คัน บวม มีตุ่มน้ำหรือแผลเกิดขึ้น อาจมีขนหรือผมร่วงได้ 

 

  1. ผลต่อระบบอื่นในร่างกายที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันเมื่อได้รับปริมาณที่สูงมาก เรียกว่า กลุ่มอาการเฉียบพลันจากการได้รับรังสีปริมาณสูง โดยจะมีอาการ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย หลังจากนั้นอาการจะหายไปชั่วคราว ขึ้นกับปริมาณที่ได้รับ โดยผลกระทบแต่ละระบบ มีดังนี้

 

  • ระบบโลหิต มีผลกดไขกระดูก ทำให้เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือดต่ำลงได้
  • ระบบทางเดินอาหาร มีผลทำให้คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ถ่ายเป็นเลือด
  • ระบบประสาท ทำให้สับสน เดินเซ ซึมลง และชักได้โดยเฉพาะในรายที่รุนแรง

 

ส่วนผลในระยะยาวคือ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้

 

ด้านกฤศณัฏฐ์กล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นที่จังหวัดปราจีนบุรีจะมีโอกาสที่จะแพร่กระจายออกมาสู่ภายนอกได้หรือไม่ว่า ซีเซียมมีจุดเดือดต่ำเมื่อเทียบกับเหล็ก คือจุดเดือด 671 องศาเซลเซียส จึงทำให้ถ้าเกิดการหลอม ชีเซียมจะระเหยเป็นไอและเป็นฝุ่นในห้องหลอม การล้างห้องหลอมหรือควันที่เกิดจากการหลอมมีโอกาสปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม ฉะนั้นไอและฝุ่นในห้องหลอม ถ้าไม่ถูกจัดเก็บในระบบปิดและถูกจัดการให้เป็นกากกัมมันตรังสี มีโอกาสปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ หรือปลิวไปในอากาศ และอาจไปสะสมในสิ่งแวดล้อมได้ 

 

แต่จากข้อมูลตามการแถลงข่าวของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ การหลอมเป็นระบบปิดและมีตัวกรองของเตาหลอม ถ้ามีการจัดเก็บฝุ่นในระบบปิดตามที่แถลง โอกาสที่จะมีรังสีซีเซียมปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อมจึงน้อย

 

กฤศณัฏฐ์ยังกล่าวเปรียบเทียบเหตุการณ์ของซีเซียมในเหตุการณ์ที่จังหวัดปราจีนบุรี ว่าปัจจุบันค่าความแรงรังสีอยู่ที่ 41.4 มิลลิคูรี เมื่อเทียบกับความแรงรังสีที่วัดจากโรงงานเดียวกันเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2538 อยู่ที่ 80 มิลลิคูรี คิดเป็นน้ำหนักอยู่ที่ 505 ไมโครกรัม เมื่อเปรียบเทียบแล้วจะมีรายละเอียดดังนี้

 

  • ซีเซียม-137 ตามปกติที่ใช้ในทางการแพทย์เพื่อควบคุมคุณภาพเครื่องมือทางรังสีวิทยา มีความแรงรังสีมากกว่าเหตุที่จังหวัดปราจีนบุรี 1,000 เท่า
  • อุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2529 มีการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม 27 กิโลกรัม มีความแรงรังสีมากกว่าเหตุที่จังหวัดปราจีนบุรี 56.76 ล้านเท่า
  • อุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 มีความแรงรังสีมากกว่าเหตุที่จังหวัดปราจีนบุรี 11 ล้านเท่า
  • เหตุการณ์โคบอลต์-60 ที่จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อปี 2543 ที่ครอบครัวซาเล้งขายของเก่าได้รับซื้อเศษเหล็กและแท่งเหล็กรูปทรงกระบอก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 20 เซนติเมตร ยาวประมาณ 80 เซนติเมตร มีความแรงรังสีมากกว่าเหตุที่จังหวัดปราจีนบุรี 1,000 เท่าโดยประมาณ เนื่องจากเป็นรังสีต่างชนิดกัน

 

กฤศณัฏฐ์กล่าวถึงความเหมาะสมในการตรวจในพื้นที่ที่คาดว่ามีการปนเปื้อนของรังสีว่า ต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 1 ปีในการตรวจสอบการปนเปื้อน ในส่วนที่มีข้อมูลเผยแพร่ว่าสารกัมมันตรังสีจากการหลอมครั้งนี้สามารถฟุ้งกระจายได้รัศมีกว่า 1,000 กิโลเมตร ขอยืนยันว่าไม่จริง เพราะตามการรายงานปริมาณซีเซียม-137 ครั้งนี้มีน้อยมาก อีกทั้งฝุ่นที่ได้จากการหลอมเป็นฝุ่นโลหะหนัก จะไม่มีการปลิวไปไกล และจะเจือจางไปตามธรรมชาติ

 

สำหรับที่หลายคนกังวลว่าผลไม้และผักในจังหวัดที่พบการปนเปื้อนของรังสีจะบริโภคได้หรือไม่ กฤศณัฏฐ์กล่าวว่า ตามปกติ นม ผลไม้ ข้าวที่บริโภคอยู่ ล้วนมีสารกัมมันตรังสีตามธรรมชาติอยู่แล้ว ถ้าอ้างอิงปริมาณตามที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติให้ข้อมูลถือว่าซีเซียม-137 มีปริมาณน้อย ฉะนั้นโอกาสที่จะแทรกซึมลงสู่ชั้นดินจึงไม่ปนเปื้อน ขอให้ประชาชนมั่นใจได้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising