×

ปลุกปีศาจไม่ต้องใช้ปีศาจ! ราล์ฟ รังนิก กับนักจิตวิทยาที่จะ ‘ปลุกสมอง’ ให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กลับมาเป็นสุดยอดทีมอีกครั้ง

08.12.2021
  • LOADING...
Ralf Rangnick

HIGHLIGHTS

  • ราล์ฟ รังนิก ไม่ได้เปลี่ยนแปลงทีมสตาฟฟ์แบบยกชุด โดยนอกจาก ไมเคิล คาร์ริก ที่ตัดสินใจอำลาแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แล้ว ไมค์ ฟีแลน และ คีแรน แมคเคนนา ยังอยู่เหมือนเดิม เพิ่มเติมคือสตาฟฟ์ใหม่ 2 คนที่ถูกขอตัวมาร่วมทีม
  • คนที่ถูกจับตามองคือ ซาสชา เลนส์ นักจิตวิทยาการกีฬาคนแรกของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดในรอบ 2 ทศวรรษ ที่รังนิกหวังจะให้มาช่วย ‘ปลุกสมอง’ ให้นักเตะปีศาจแดง

แค่เพียงไม่ถึงสัปดาห์นับจากที่ ราล์ฟ รังนิก เข้ารับตำแหน่งผู้จัดการทีมชั่วคราวของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด บรรยากาศภายในโรงละครแห่งความฝันก็ดูเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทันที

 

จากชัยชนะ 1-0 เหนือคริสตัล พาเลซ ที่มาพร้อมกับระบบการเล่นใหม่ 4-2-2-2 ที่เหมือนจะแก้ไขปัญหาความไม่สมดุลภายในทีมที่เป็นตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาได้แทบจะทันที

 

แฟนเรดอาร์มียังได้เห็นทีมกลับมาเล่นแบบบอลมีทรงอีกครั้ง แม้กระทั่งการเพรสซิงที่ถูกปรามาสมาโดยตลอดก็เห็นได้ชัดเจนว่ามีความพยายาม และสัมผัสได้ถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของนักเตะที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

 

แต่นี่เป็นแค่ก้าวเล็กๆ เท่านั้น ซึ่ง ‘The Professor’ ผู้เป็น ‘คุรุ’ ของวงการลูกหนังเยอรมนีสมัยใหม่ได้พยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อทันทีด้วยการนำทีมงานที่ตัวเองไว้ใจมาช่วยงานในโอลด์แทรฟฟอร์ดด้วย

 

สิ่งที่น่าสนใจคือ รังนิกไม่ได้เปลี่ยนแปลงทีมสตาฟฟ์แบบยกชุด หากแต่เก็บทีมงานชุดเดิมเอาไว้เกือบทั้งหมด ยกเว้นแค่ ไมเคิล คาร์ริก ที่ตัดสินใจอำลาสโมสรอย่างเป็นทางการหลังสิ้นสุดภาระในการประคองทีมเป็นเวลา 3 นัดระหว่างที่รอผู้จัดการทีมคนใหม่มาถึง

 

แต่ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘ศิษย์รังนิก’ แล้วสตาฟฟ์ 2 คนที่มาร่วมทีมใหม่จึงได้รับการจับตามองเป็นธรรมดา

 

คนที่ชื่อชั้นดีกว่าและถูกมองว่าจะเป็น ‘มือขวา’ คนสำคัญคือ คริส อาร์มาส อดีตมิดฟิลด์ทีมชาติสหรัฐอเมริกา ซึ่งภายหลังจากเลิกเล่นฟุตบอลแล้วได้โอกาสในการคุมทีมนิวยอร์ก เรดบูลส์ แทนที่ของ เจสซี มาร์ช ซึ่งอำลาทีมไปเพื่อรับตำแหน่งมือขวาในทีมแอร์เบ ไลป์ซิก

 

อาร์มาส จึงเป็นคนที่อยู่ในสายตาของรังนิกมาโดยตลอดเพราะปรมาจารย์ฟุตบอลเยอรมันนั่งแท่น Head of Sports and Development ให้กับสโมสรในเครือเรดบูลส์ทั้งหมดรวมถึงในสหรัฐอเมริกาและบราซิลด้วย

 

อย่างไรก็ดี ในความสนใจของสื่อแล้วคนที่โดดเด่นกว่าอาร์มาสคือ ซาสชา เลนส์ นักจิตวิทยาวัย 46 ปี ซึ่งเคยเป็นนักจิตวิทยาการกีฬา (Sports Psychologist) ให้กับทีมแอร์เบ ไลป์ซิก ในช่วงที่รังนิกลงมาคุมทีมเป็นเวลา 3 ปี และเคยมีประสบการณ์ในทีมชาลเก 04 และดินาโม เดรสเดนมาก่อน

 

เลนส์ไม่ใช่นักจิตวิทยาคนแรกของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เพราะสโมสรมีการว่าจ้างนักจิตวิทยาให้มาช่วยดูแลนักฟุตบอลมาโดยตลอด หากแต่เขาเป็นนักจิตวิทยาแบบเต็มตัวคนแรกของสโมสรในรอบ 20 ปี นับตั้งแต่ บิลล์ เบสวิก นักจิตวิทยาคนก่อนหน้าอำลาทีมไปในปี 2001

 

“จากที่เคยได้ร่วมงานกันมาในทีมไลป์ซิก ผมรู้ว่าเราจะได้อะไรมากมายจากการที่มีซาสชาอยู่กับเราที่นี่” รังนิกกล่าว “การที่เราจะได้คนที่เก่งที่สุดในงานนี้มาอยู่กับเราเป็นเรื่องสำคัญมาก เราจะแนะนำเขากับทีมทันทีที่เขาได้วีซ่าและใบอนุญาตทำงาน”

 

“ซาสชาไม่ใช่คนที่ทำงานตามทฤษฎี เขาเป็นคนที่ทำงานด้วยการสัมผัสใกล้ชิดจริง ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะได้เขาร่วมเดินทางในวันพรุ่งนี้หรืออย่างช้าในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา”

 

ฟุตบอลกับจิตวิทยาไม่ใช่เรื่องแปลก และในความเป็นจริงโค้ชคนแรกๆ ที่เป็นผู้บุกเบิกในเรื่องนี้คือรังนิกเองที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และมีการจ้างนักจิตวิทยาในทีมตั้งแต่ทำงานให้กับอูล์ม โดยแต่งตั้ง ฮันส์-ดีเตอร์ เฮอร์มานน์ เป็นนักจิตวิทยาการกีฬาคนแรกในวงการฟุตบอลเยอรมัน

 

นับจากนั้นมานักจิตวิทยาการกีฬาเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่สโมสรฟุตบอลหรือทีมกีฬาระดับชั้นนำพึงมีในทีมโดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยปรับสภาพจิตใจของนักกีฬาให้พร้อมสำหรับการทำผลงาน ไม่ใช่แค่ให้ดีแต่ให้ดียิ่งขึ้นไปอีกขั้น และรับมือกับความกดดันโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการลงเล่นต่อหน้าแฟนบอลจำนวนมาก

 

นักจิตวิทยาการกีฬายังจะช่วยดูแลและให้คำแนะนำแก่นักกีฬาสำหรับการใช้ชีวิตนอกสนามด้วย โดยเฉพาะเรื่องการรับมือกระแสวิจารณ์ที่ปัจจุบันเป็นหนึ่งในปัญหาที่บั่นทอนกำลังใจของนักกีฬาอย่างมาก

 

การมาของซาสชาจึงเป็นการแต่งตั้งที่มีเหตุมีผล ไม่ต่างอะไรจากการจ้างโค้ชผู้รักษาประตูหรือโค้ชกองหน้า เพราะ ‘สมอง’ ​เองก็ต้องการผู้เชี่ยวชาญที่จะดูแลมันเช่นกัน

 

รังนิกหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการ ‘ฝึกสมอง’ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการเล่นของนักเตะแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ปลดล็อกให้ไปสู่อีกขั้น และลืมภาพของนักจิตวิทยาที่จะนั่งบนโซฟาแดงแล้วจับมือคนไข้เพื่อร่วมหาทางออกให้ได้เลย เพราะไม่มีใครเขาทำกันแบบนั้น

 

“สำหรับผมมันคือการช่วยเหลือผู้เล่นให้สมองร่วมมือกับร่างกายโดยไม่ทำงานขัดกันเอง ทุกคนไม่ว่าจะเป็นทีมโค้ช หรือในทีมฟุตบอลควรจะคิดไปในทางเดียวกัน” รังนิก กล่าว

 

โดยเป้าหมายสูงสุดของเขาคือการทำให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดมี 3 สิ่งสำคัญซึ่งจะเป็นกุญแจไปสู่ความสำเร็จในอนาคต ไม่ว่าจะใน 6 เดือนนับจากนี้หรือยาวไกลกว่านั้น

 

‘หัวใจ-สมอง-เลือดเนื้อ’ ได้ครบ 3 อย่างนี้เมื่อไร ใครก็หยุดปีศาจแดงตนนี้ยาก โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้ปีศาจปลุกกันเองแต่อย่างใด

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising