×

คำแนะนำ 4 ข้อจาก ราล์ฟ รังนิก ถึงแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เพื่อให้กลับมา Glory Glory United!

05.04.2022
  • LOADING...
คำแนะนำ 4 ข้อจาก ราล์ฟ รังนิก ถึงแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เพื่อให้กลับมา Glory Glory United!

HIGHLIGHTS

3 mins. read
  • ราล์ฟ รังนิก ได้ให้คำแนะนำ 4 ข้อต่อบอร์ดบริหารของสโมสรแมนฯ​ ยูไนเต็ดที่จะต้องทำตามหากอยากจะนำสโมสรกลับคืนสู่ช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่อีกครั้งให้ได้
  • สิ่งแรกที่รังนิกเสนอคือการที่แมนฯ​ ยูไนเต็ดจำเป็นต้องทำในสิ่งที่คู่ปรับร่วมเมืองอย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และคู่ปรับตลอดกาลอย่างลิเวอร์พูลทำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นั่นคือการเลือกนักฟุตบอลที่ตรงกับสไตล์การเล่นของโค้ช
  • จุดที่รังนิกเล็งเห็นว่าเป็นปัญหาสำหรับแมนฯ ยูไนเต็ดเวลานี้คือทีมนั้นเต็มไปด้วยนักเตะจอมเทคนิคเต็มทีมไปหมด แต่ทีมไม่มีนักเตะที่แข็งแกร่งมากพอ และมันเป็นสิ่งที่ควรจะได้รับการเติมเข้ามา

ดูเหมือนจะค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า ‘The Professor’ ราล์ฟ รังนิก จะไม่มีโอกาสได้นั่งแท่นในตำแหน่งผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดต่อไปหลังสิ้นสุดฤดูกาลนี้จากผลงานที่ปรากฏ

 

ในช่วงที่ผ่านมาทีม ‘ปีศาจแดง’ เองก็มีความเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างชัดเจนเกี่ยวกับตำแหน่งกุนซือคนใหม่ ซึ่งดูเหมือนตัวเลือกนั้นจะถูกตัดชอยส์แล้วให้เหลือแค่ 2 รายด้วยกันคือ เอริก เทน ฮาก โค้ชทีมอาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม และ เมาริซิโอ โปเชตติโน นายใหญ่ทีมปารีส แซงต์-แชร์กแมง โดยที่รายแรกนั้นได้รับการยกให้เป็นตัวเต็งที่เหนือกว่า

 

อย่างไรก็ดี รังนิกไม่ได้ถูกดึงตัวมาเพื่อหวังจะนั่งอยู่ในตำแหน่งระยะยาวอยู่แล้ว และสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดสำหรับปรมาจารย์ลูกหนังชาวเยอรมันผู้นี้คือสายตาที่แหลมคมสำหรับการสร้างสโมสรที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่เขาทำในช่วงหลังจากนี้ในบทบาทของที่ปรึกษาของสโมสร

 

เป้าหมายอยู่ที่การนำแมนฯ ยูไนเต็ดกลับมายิ่งใหญ่ให้ได้อีกครั้งหลังจากที่ตกต่ำต่อเนื่อง นับจากวันที่ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน อำลาทีมไปเมื่อปี 2013 และยังไม่สามารถค้นหาทางกลับมาได้อีกเลย

 

แต่กว่าจะถึงตรงนั้นมีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก และนี่คือ 4 สิ่งที่รังนิกได้ให้คำแนะนำต่อบอร์ดบริหารของยูไนเต็ดเอาไว้แล้ว

 

1. เลือกคนที่ใช่มากกว่าคนที่ชอบ

สิ่งแรกที่รังนิกเสนอคือการที่แมนฯ​ ยูไนเต็ดจำเป็นต้องทำในสิ่งที่คู่ปรับร่วมเมืองอย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และคู่ปรับตลอดกาลอย่างลิเวอร์พูลทำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

 

นั่นคือการเลือกนักฟุตบอลที่ตรงกับสไตล์การเล่นของโค้ช หรือพูดง่ายๆ คือนักเตะกับโค้ชต้องไปในทางเดียวกัน

 

“แมนฯ ซิตี้และลิเวอร์พูล ได้มีการสร้างทีมและเฟ้นหานักเตะไปด้วยกันตลอดช่วงระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา นักเตะทุกคนของพวกเขาจะต้องเป็นนักเตะในแบบที่โค้ชต้องการอยากจะให้ทีมเล่น” รังนิกกล่าว “ผมได้บอกกับบอร์ดแล้วว่านี่จะต้องเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับทีมเรา”

 

ปัญหาที่ผ่านมาคือแมนฯ ยูไนเต็ดมักจะซื้อผู้เล่นโดยขาดการวางแผนที่รอบคอบ และหลายครั้งที่เลือกนักเตะสตาร์ที่มีชื่อเสียงมากกว่านักเตะที่น่าจะเหมาะสมกับทีม ทำให้นักเตะหลายคนเมื่อย้ายมาแล้วไม่อาจเปล่งประกายได้เหมือนเล่นในสโมสรเดิม

 

คริสเตียโน โรนัลโด เป็นอีกหนึ่งการซื้อที่ใช้ ‘อารมณ์’ มากกว่า ‘เหตุผล’

 

2. กำหนด DNA ของสโมสรใหม่

อย่างต่อมาคือสิ่งที่ดูเหมือนว่าแมนฯ ยูไนเต็ดจะหลงทางในช่วงหลายปีที่ผ่านมากับการตามหา DNA ของสโมสรผ่านความทรงจำเพียงอย่างเดียว ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล

 

ในความเห็นของรังนิก DNA ของสโมสรคือสิ่งที่จะต้องกำหนดขึ้นจากแนวทางของโค้ชคนใหม่ว่าจะเล่นแบบไหน จะเล่นเร็ว จะเล่นคุมจังหวะ หรือจะเน้นความแข็งแกร่ง ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถามร่วมกันและค้นหาคำตอบไปด้วยกัน

 

“เมื่อใดที่รู้แล้วว่าโค้ชคนใหม่จะเป็นใคร จากนั้นเราต้องชัดเจนว่าเขาต้องการจะให้ทีมเล่นแบบไหน นักเตะในแบบไหนที่พวกเราต้องการ แล้วจากนั้นเราค่อยคิดถึงเรื่องของ DNA เรื่องความเร็ว เรื่องความแข็งแรง เรื่องจังหวะการเล่น ว่าตกลงเราต้องการแบบไหน?”

 

3. เติมพลังและความดุดัน

จุดที่รังนิกเล็งเห็นว่าเป็นปัญหาสำหรับแมนฯ ยูไนเต็ดเวลานี้คือทีมนั้นเต็มไปด้วยนักเตะจอมเทคนิคเต็มทีมไปหมด แต่ทีมไม่มีนักเตะที่แข็งแกร่งมากพอ และมันเป็นสิ่งที่ควรจะได้รับการเติมเข้ามา

 

“ทีมชุดนี้ไม่ได้ขาดนักเตะที่เป็นจอมเทคนิค แต่ทีมต้องการพละกำลังที่มากกว่านี้ ผมไม่คิดว่าเราเป็นทีมที่ไม่มีหัวใจของนักสู้ แต่ว่ามันเห็นได้ชัด ในบางช่วงของเกมที่เราตกเป็นรองในเรื่องของพละกำลัง” ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องพละกำลังและความแข็งแกร่งแล้วยังรวมถึงเรื่องของความดุดันและความปรารถนาที่จะต่อสู้เพื่อทีม

 

เหตุการณ์ตัวอย่างที่ชัดเจนคือเกมล่าสุดที่เสมอเลสเตอร์ ซิตี้ (และรอดตัวมาได้หวุดหวิด) ในจังหวะเสียประตูนั้นเกิดจากการที่ เฟร็ด โดน ยูริ ตีเลอมองส์ เข้าสกัดตัดบอลได้ง่ายก่อนไป ก่อนที่ บรูโน แฟร์นันด์ส จะเสียท่าให้ เคียร์แนน ดิวส์บิวรี-ฮอลล์ อีกคน และต่อด้วย พอล ป็อกบา ที่ไม่พยายามเข้าไปบล็อกการเปิดของ เจมส์ แมดดิสัน ก่อนจะจบด้วยการที่ อเล็กซ์ เตลเลส ก็ช้าเกินกว่าที่จะปิดทางของ เคเลชี อิเฮียนาโช

 

นักเตะที่มีฟิสิคัลดีอย่างเฟรด กลายเป็นคนที่เล่นได้เด่นที่สุดในช่วงที่ผ่านมา

 

4. ความสำเร็จไม่มีทางลัด

สิ่งสุดท้ายที่รังนิกเสนอต่อบอร์ดบริหารคือการที่บอร์ดต้องเข้าใจและยอมรับก่อนว่าเวลานี้แมนฯ ยูไนเต็ดเป็นทีมที่ยังขาดอะไรหลายอย่าง และในการจะกลับมาเป็นทีมที่ดีอีกครั้งนั้นทีมไม่ใช่แค่การตั้งผู้จัดการทีมคนใหม่แล้วหานักเตะซูเปอร์สตาร์เข้ามาแล้วจะจบ

 

ทีมจะต้องมีแผนการที่ดีและชัดเจน แล้วเดินตามแผนการนั้นอย่างเคร่งครัดและอดทน ซึ่งในมุมของรังนิกเชื่อว่าระยะเวลาที่จะสามารถจัดการปรับทัพเสริมทีมให้ดีขึ้นนั้นเขาต้องการเวลาอย่างน้อย 3 รอบของตลาดการซื้อขายผู้เล่น (Transfers Window) เพื่อผ่องถ่ายนักเตะที่ไม่จำเป็น และหานักเตะที่ใช่เข้ามา

 

“มันต้องเกิดการตัดสินใจที่ถูกต้องและชัดเจนว่าอยากจะไปแบบไหน อยากได้นักเตะแบบไหน อยากได้ผู้จัดการทีมแบบไหน และจากนั้นในช่วงตลาดการซื้อขายทุกรอบก็ต้องพยายามทำให้ดีที่สุด เรื่องนี้มันคือวิทยาศาสตร์ มันเคยมีคนทำได้สำเร็จมาแล้วและถ้ามันจะเกิดขึ้น มันไม่ได้จำเป็นเลยว่าจะต้องใช้เวลา 3-4 ปี บางทีอาจจะแค่ 2-3 รอบตลาดการซื้อขาย สถานการณ์ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้แล้ว

 

3 รอบตลาดนั้นหมายถึงอย่างเร็วที่สุดที่ทีมจะกลับมาลงตัวได้คือ 18 เดือน ซึ่งเขาจะต้องทำงานร่วมกับผู้จัดการทีมคนใหม่และ จอห์น เมอร์โท ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายฟุตบอลของสโมสร

 

ด้วยความหวังว่าทุกอย่างราบรื่นและกลับมาเดินได้ถูกทางเสียที

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising