×

‘เปลี่ยน AI เป็นฮีโร่’ งานวิจัย AI ตรวจเบาหวานขึ้นตาโดยโรงพยาบาลราชวิถีและ Google ที่จะพลิกโฉมปัญญาประดิษฐ์

14.12.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS READ
  • โรงพยาบาลราชวิถี ทำงานร่วมกับ Google เพื่อพัฒนาและทดลองนำปัญญาประดิษฐ์มาเป็นผู้ช่วยแพทย์ช่วยคัดกรองผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีความเสี่ยงจะเกิด ‘ภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา’ มีอัตราความแม่นยำในการคัดกรองสูงถึง 97%
  • จุดเริ่มต้นของปัญหาคือวงการแพทย์ไทยมักขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการตรวจจอเรตินา ปัจจุบันจำนวนจักษุแพทย์ในไทยมีทั้งหมด 1,400 คน เป็นผู้เชี่ยวชาญจอเรตินา 200 คน และเกือบทั้งหมดอยู่ในกรุงเทพฯ
  • การทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์ (มนุษย์) และ AI ในครั้งนี้จะก่อให้เกิด ‘ฮีโร่เคส’ ส่งผลให้หลายฝ่ายเห็นประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ในการเข้ามาช่วยเสริมศักยภาพของมนุษย์ จนนำไปสู่ความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นระหว่างภาครัฐ หน่วยงานต่างๆ และบริษัทเอกชน รวมถึงเอ็นจีโอ

พับเก็บชุดความคิดเรื่องปัญญาประดิษฐ์ AI จะลุกขึ้นมาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ลงไปก่อน เพราะระยะหลังๆ ที่ผ่านมา บริษัทเทคโนโลยีและสถาบันทางการแพทย์หลายแห่งทั่วโลกได้เริ่มนำมันมาประยุกต์ใช้งานเพื่อประโยชน์ด้านเฮลท์เทค (Health Tech) จนแพร่หลายและเริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้นในวงกว้าง

 

เรากำลังพูดถึงกรณีของโรงพยาบาลราชวิถีที่ทำงานร่วมกับ Google เพื่อพัฒนาและทดลองนำปัญญาประดิษฐ์มาเป็นผู้ช่วยแพทย์ช่วยคัดกรองผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีความเสี่ยงจะเกิด ‘ภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา’ ซึ่งอาจจะส่งผลให้ผู้ป่วยตาบอด มีอัตราความแม่นยำในการคัดกรองสูงถึง 97%

 

จุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่าง Google และโรงพยาบาลราชวิถี นำโดย ลิลลี เพง (Lilly Peng) ผู้จัดการด้านผลิตภัณฑ์ที่ดูแลโครงการวิจัยทำนายเบาหวานจากภาพดวงตาของ Google และนายแพทย์ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข ผู้เชี่ยวชาญโรคจอประสาทตา ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี โดยทั้งคู่เป็นนักวิจัยที่รู้จักและคุ้นเคยในแวดวงกันเป็นอย่างดี

 

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับวงการจักษุแพทย์คือ แต่ไหนแต่ไรวงการแพทย์ไทยมักขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการตรวจจอเรตินา โดยปัจจุบันจำนวนจักษุแพทย์ในไทยมีทั้งหมด 1,400 คน เป็นผู้เชี่ยวชาญจอเรตินา 200 คน และเกือบทั้งหมดอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อนำมาคำนวณกับผู้ป่วยโรคเบาหวานไทยในปัจจุบันที่ประมาณ 4-5 ล้านคน (ทุกคนมีสิทธิ์เสี่ยงเกิดภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาทั้งหมด) เท่ากับว่าแพทย์ 1 คนจะต้องตรวจผู้ป่วยมากถึงประมาณ 3,570 คน

 

ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาสามารถป้องกันและรักษาได้หากผู้ป่วยถูกตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ แต่การขาดบุคลากรที่เพียงพออาจทำให้ผู้ป่วยเบาหวานที่เสี่ยงจะสูญเสียการมองเห็นมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าเดิม

 

เมื่อจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วย โรงพยาบาลราชวิถีจึงได้ริเริ่มโครงการพัฒนาและฝึกฝนพยาบาล เจ้าหน้าที่เทคนิคให้ขึ้นมาเป็นผู้ช่วยแพทย์คัดกรองผู้ป่วยที่มีสิทธิ์จะเป็นเบาหวานขึ้นจอประสาทตาเบื้องต้น แล้วส่งเคสต่อให้กับทีมแพทย์อีกทอดหนึ่ง โดยในช่วงแรกๆ พบว่าเจ้าหน้าที่พยาบาลเหล่านี้ถูกฝึกฝนจนเชี่ยวชาญ และมีระดับความแม่นยำในการคัดกรองสูงถึง 86%

 

ต่อมารัฐบาลไทยที่เห็นความสำคัญของประเด็นนี้จึงยกให้การคัดกรองผู้ป่วยเบาหวานที่เสี่ยงจะเกิดภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาให้เป็นวาระสำคัญทั่วประเทศ จนนำไปสู่การตั้งเป้าดัชนีชี้วัดให้สามารถคัดกรองประชากรในสัดส่วน 60% พร้อมสนับสนุนงบประมาณให้ประชาชนสามารถตรวจความเสี่ยงได้ผ่านสวัสดิการบัตรทองโดยไม่เสียเงิน

 

อย่างไรก็ดี ที่สุดแล้วลำพังเจ้าหน้าที่พยาบาลก็ยังคงไม่เพียงพอต่อการช่วยแพทย์คัดกรองผู้ป่วย ไหนจะปัญหาเรื่อง Workflow ในการสแกนผู้ป่วยซึ่งต้องส่งภาพเรตินาตาผู้ป่วยอัดลงแผ่นซีดีแล้วส่งต่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอีกทอดหนึ่ง

 

 

คำตอบของปัญหาคือ ‘AI’

ปัญหาผู้ป่วยเบาหวานเสี่ยงเกิดภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะกับประเทศไทยเท่านั้น (ผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลกสูงกว่า 400 ล้านราย) เรื่องนี้คือภัยเงียบทั่วโลกและเป็นหนึ่งในหลายๆ สิ่งที่ Google ให้ความสำคัญ พวกเขาจึงพัฒนาความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ให้ไปไกลกว่าแชตบอต ฯลฯ จะได้สามารถเข้ามาช่วยจักษุแพทย์ดูแลรักษาผู้ป่วย

 

เริ่มต้นในปี 2016 จากการจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านดวงตา 54 คนมาวิเคราะห์ภาพด้านหลังดวงตา 130,000 ภาพ และวินิจฉัยออกมาเป็นจำนวน 880,000 ครั้ง ก่อนนำผลวินิจฉัยทั้งหมดไปฝึกให้ Machine Learning เรียนรู้อัลกอริทึม เพื่อวิเคราะห์ภาพดวงตาและตั้งค่าระดับความเสี่ยงออกเป็น 5 ระดับ

 

ทั้งนี้ขั้นตอนการจำแนกภาพผู้ป่วยออกเป็น 5 ระดับจะไม่มีการเปิดเผยตัวตนผู้ป่วยเด็ดขาดเพื่อเหตุผลความเป็นส่วนตัว ทุกคนเข้าใจการเข้าเป็นส่วนหนึ่งในโครงการวิจัยวินิจฉัยโรคโดย AI เป็นอย่างดี ในมุมกลับกันก็ถือเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างท้าทายสำหรับแพทย์และ AI ในการทำงานร่วมกันด้วย ขณะที่ปัจจุบัน ลิลลี เพง เผยว่าปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้ถูกฝึกฝนให้เก่งในระดับที่เทียบเท่ากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว

 

สังเกตว่าปัญญาประดิษฐ์จะรู้จักการแยกแยะภาพ และการ Detect ได้ค่อนข้างดีผ่านการเรียนรู้ด้วยตัวเอง นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ Google นำความสามารถในส่วนนี้ของมันมาประยุกต์เข้ากับการใช้แยกภาพความเสี่ยงเบาหวานขึ้นจอประสาทตานั่นเอง (ในเคสของบริษัทเทคฯ เจ้าอื่นๆ ประยุกต์ไปใช้วิเคราะห์โรคมะเร็งหรืออัลไซเมอร์จากภาพดวงตา รวมถึงความเสี่ยงโรคอื่นๆ)

 

เมื่อ Google เห็นว่าประเทศไทย และโรงพยาบาลราชวิถีที่นำโดยนายแพทย์ไพศาลก็ให้ความสำคัญเรื่องนี้ไม่แพ้กัน จึงได้เริ่มมีการพูดคุยระหว่างหลายๆ ฝ่ายจนเกิดเป็นความร่วมมือจริงระหว่าง Google และกระทรวงสาธารณสุขประเทศไทย เพื่อทดสอบว่าอัลกอริทึมจะสามารถใช้ในไทยเพื่อเป็นผู้ช่วยแพทย์คัดกรองผู้ป่วยได้มากน้อยแค่ไหน

 

 

โดยผลจากการทดลองคัดกรองผู้ป่วยจริงพบว่า AI สามารถสแกนผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเบาหวานขึ้นจอประสาทตาได้เร็วกว่ามนุษย์ที่ 97% ต่อ 74% วิธีการคือใช้ภาพถ่ายดวงตาของผู้ป่วยอัปโหลดขึ้นไปให้ปัญญาประดิษฐ์ผู้ช่วยแพทย์ที่อยู่บนคลาวด์วิเคราะห์ หลังจากนั้นระบบจะทำการประมวลผลและส่งข้อมูลการวินิจฉัยต่อไปให้แพทย์ทันที

 

ผลลัพธ์ที่ได้จากการทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์ ปัญญาประดิษฐ์ และพยาบาล คือเพิ่มทั้งความเร็วในกระบวนการตรวจสอบรักษา คัดกรองผู้ป่วย และช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่พยาบาลให้ไปโฟกัสงานด้านอื่นๆ ในโรงพยาบาลได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยก็จะไม่เสียโอกาสได้เข้ารับการรักษาตั้งแต่ช่วงระยะแรกเริ่มที่เข้าข่ายภาวะเสี่ยง

 

โดยตั้งแต่เดือนธันวาคมนี้เป็นต้นไป Google ได้เริ่มนำร่องพา AI ผู้ช่วยจักษุแพทย์ไปทดลองใช้จริงแล้วในระยะแรกที่ปทุมธานี ก่อนจะขยายไปเชียงใหม่ รวมถึงอีกหลายๆ จังหวัดตั้งแต่ช่วงปี 2019 เป็นต้นไป ขณะที่ทางนายแพทย์ไพศาล เชื่อว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะก่อให้เกิด ‘ประโยชน์ทางสายตา’ ของมนุษย์ในสังคมได้แน่นอน ซึ่งนอกจากที่ไทย Google ยังรันโครงการคู่ขนานในอินเดียเช่นกัน

 

 

จุดเริ่มต้น ‘ฮีโร่ ยูส เคส’ ที่จะทำให้ AI ต่อยอดไปสู่ความร่วมมือและการพัฒนาที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม

อย่างที่เรากล่าวไว้ในตอนต้นว่าคนส่วนใหญ่มักมองภาพ AI ในลักษณะ ‘อาชญากร’ มากกว่า ‘ฮีโร่’ ความคิดเห็นจากบุคลากรระดับโลกส่วนใหญ่ต่างชี้ว่ามนุษย์อย่างเราควรเฝ้าระวังมัน ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่มีมูลความจริงอยู่เหมือนกัน เนื่องจากมันสามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างรวดเร็ว และแม้แต่ตัว ซันดาร์ พิชัย ซีอีโอของ Google เองก็ยังต้องบัญญัติวัตถุประสงค์ 7 ประการในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ เพื่อควบคุมการละเมิดจริยธรรมประกอบไปด้วย

 

1. เป็นประโยชน์ต่อสังคม (Be socially beneficial.)

2. หลีกเลี่ยงการสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนให้เกิดการกระทำที่แบ่งแยก อคติ ไม่เป็นธรรม (Avoid creating or reinforcing unfair bias.)

3. สร้างขึ้น และได้รับการทดสอบด้านความปลอดภัย (Be built and tested for safety.)

4. รับผิดชอบต่อผู้คน (Be accountable to people.)

5. ถูกออกแบบโดยคำนึงถึงหลักการด้านความเป็นส่วนตัว (Incorporate privacy design principles.)

6. รักษามาตรฐานที่สูงของความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์เอาไว้ (Uphold high standards of scientific excellence.)

7. สร้างขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับหลักประการเบื้องต้นเหล่านี้ (Be made available for uses that accord with these principles.)

 

 

ด้วยเหตุนี้เอง เจย์ ยาคนิก (Jay Yagnik) ผู้นำโครงการพัฒนา Google AI จึงให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนไทย โดยบอกว่าเขาเองเชื่อว่าโครงการปัญญาประดิษฐ์ช่วยคัดกรองผู้ป่วยเสี่ยงเกิดภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาที่ทาง Google ได้ทำร่วมกับประเทศไทยในครั้งนี้จะก่อให้เกิด ‘ฮีโร่ ยูส เคส (Hero used case)’ ทำให้ตัว AI ได้รับการยอมรับมากขึ้นในอนาคต กลายเป็นกรณีศึกษาที่ใช้แล้วเป็นประโยชน์จริงให้เห็น

 

ประโยชน์ที่จะเกิดตามมาคือเมื่อหลายฝ่ายเห็นผลดีและคุณูปการที่มากมายของ AI ก็จะเกิดการสานต่อไปสู่การทำงานจริงร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ และภาครัฐที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นเพื่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อหลายๆ อุตสาหกรรม

 

การใช้ประโยชน์ AI ในด้านการแพทย์ระหว่าง Google และประเทศไทยที่นำโดยโรงพยาบาลราชวิถีจึงเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่ของฮีโร่ ยูส เคสที่ว่านั่นเอง

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

FYI
  • นอกจาก AI ช่วยคัดกรองผู้ป่วยเสี่ยงเกิดภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา Google ยังพัฒนาโครงการปัญญาประดิษฐ์ช่วยแจ้งเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น อุทกภัย และอาฟเตอร์ช็อกหลังแผ่นดินไหว หรือปกป้องธรรมชาติจากมนุษย์อย่างการตัดไม้ทำลายป่า เป็นต้น
  • ประเด็นหลักๆ ในงานแถลงข่าวความร่วมมือระหว่าง Google และ UN-ESCAP คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมของแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม คือการประกาศความร่วมมืออย่างเป็นทางการในการร่วมพัฒนาเครือข่ายวิจัยด้าน AI เพื่อประโยชน์ต่อสังคมในเอเชียแปซิฟิก

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X