×

ดันร่าง พ.ร.บ. โค้ชและกรรมการ ยกระดับมาตรฐานกีฬาไทยเทียบสากล

21.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • เมื่อวันที่ 20 กันยายน กรมพลศึกษาได้จัดงานเสวนา ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมมาตรฐานผู้ฝึกสอนและผู้ตัดสินกีฬา พ.ศ. … โดยดึงคนในวงการกีฬาทั้งจากสมาคมกีฬาและผู้ฝึกสอนอย่าง โค้ชโย่ง-วรวุฒิ ศรีมะฆะ หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย U23 ชุดแชมป์ซีเกมส์ 2017 มาเข้าร่วม
  • พ.ร.บ. ฉบับนี้จะผลักดันให้เกิดใบอนุญาตการเป็นผู้ฝึกสอนและผู้ตัดสินกีฬาในประเทศไทย โดยใช้มาตรฐานที่จัดตั้งร่วมกันระหว่างรัฐบาล กรมพลศึกษา การกีฬาแห่งประเทศไทย และสมาคมกีฬาชนิดต่างๆ
  • ปัญหาที่ผ่านมาของวงการกีฬาไทยคือ คนเข้ามาทำกีฬามักจะเป็นอาสาสมัครหรือจิตอาสามากกว่าเป็นลักษณะอาชีพเต็มตัว ทำให้การพัฒนาเป็นไปได้ช้า

     เมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา แม้ว่าสำนักข่าวต่างๆ จะรายงานผลการแข่งขันของฟุตบอลไทยลีก ซึ่งมีเก้าอี้ของ ซิโก้-เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง เป็นเดิมพัน หรือ #ตบเพื่อชาติ กับการแข่งขันวอลเลย์บอลชิงแชมป์โลก 2018 รอบคัดเลือก ระหว่างไทยกับอิหร่าน ซึ่งเป็นบทสะท้อนภาพของสองชนิดกีฬาที่กำลังได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศไทย

     แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อเวลา 8.00 น. ที่ห้องประชุมของโรงแรมเดอะ ทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพมหานคร ได้มีงานเสวนาที่มีความสำคัญต่ออนาคตของกีฬาทั้งสองชนิด รวมถึงวงการกีฬาของประเทศไทยในอนาคต

     นางสาวดารณี ลิขิตวรศักดิ์ รองอธิบดีกรมพลศึกษา ได้เป็นประธานในการเสวนาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมมาตรฐานผู้ฝึกสอนและผู้ตัดสินกีฬา พ.ศ. … ที่กรมพลศึกษาเป็นผู้เสนอให้มีการจัดตั้งขึ้น

     โดยภายในงานเสวนาได้ดึงบุคลากรในวงการกีฬาทั้ง โค้ชโย่ง-วรวุฒิ ศรีมะฆะ อดีตผู้ฝึกสอนฟุตบอลทีมชาติไทย U23 ชุดแชมป์ซีเกมส์ 2017 ที่ประเทศมาเลเซีย มาในฐานะตัวแทนผู้ฝึกสอนกีฬาในประเทศไทย พร้อมด้วย โค้ชตึก-ธนาวิชญ์ โถสกุล เลขาธิการสมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแทนสมาคมกีฬา และ ผศ.ดร. นิลมณี ศรีบุญ ที่ปรึกษาสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬาและพัฒนากีฬา คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาร่วมเสวนาเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ. ฉบับนี้

     โดยท่ามกลางการเสวนา คำที่ทุกคนจะได้ยินบ่อยที่สุดคือ One Standard หรือการสร้างมาตรฐานเดียวกันให้กับผู้ฝึกสอนกีฬาในประเทศ เช่นเดียวกับกรรมการผู้ตัดสินในกีฬาชนิดต่างๆ

 

ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมมาตรฐานผู้ฝึกสอนและผู้ตัดสินกีฬา พ.ศ. … คืออะไร

     พระราชบัญญัติ หรือ พ.ร.บ. ฉบับนี้เกิดขึ้นหลังจากที่กรมพลศึกษาได้มอบหมายให้ ผศ.ดร. นิลมณี ศรีบุญ ที่ปรึกษาสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬาและพัฒนากีฬา คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำงานวิจัยเกี่ยวกับมาตรฐานของผู้ฝึกสอนและผู้ตัดสินในประเทศไทย โดยได้ผลสรุปออกมาว่า ทางรัฐบาลจำเป็นต้องมีการวางมาตรการและข้อกำหนดสำหรับผู้ฝึกสอนและผู้ตัดสินในประเทศ

     โดย พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้กำหนดคณะกรรมการส่งเสริมมาตรฐานผู้ฝึกสอนและผู้ตัดสินที่ประกอบไปด้วย รัฐมนตรีว่าการท่องเที่ยวและกีฬา, ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, ปลัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน และกระทรวงศึกษาธิการ, ผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย, ประธานคณะกรรมการกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย, ประธานคณะกรรมการกีฬาพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย, ประธานคณะกรรมการกีฬาสเปเชียลแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

     ขณะที่ฝ่ายสมาคมกีฬาและผู้แทนสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดแต่ละภาคส่วนจะต้องเลือกตัวแทน 2 คนมาร่วมเป็นกรรมการ ด้านตัวแทนของผู้ตัดสินและผู้ฝึกสอนจะมาจากการเลือกกันเองของผู้ตัดสินและผู้ฝึกสอนฝ่ายละ 1 คน โดยต้องเป็นกีฬาต่างชนิดกันมาร่วมเป็นกรรมการ

     ซึ่ง พ.ร.บ. ฉบับนี้จะมีการผลักดันให้เกิดใบอนุญาตในการทำงานทั้งผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬาในวงการกีฬา ไม่ว่าจะเป็นส่วนพื้นฐาน การเล่นกีฬาเพื่อมวลชน เพื่อความเป็นเลิศ หรือมืออาชีพ ต่างก็ต้องมาทดสอบให้ผ่านมาตรฐานกลางที่คณะกรรมการพิเศษที่แต่งตั้งขึ้นจาก พ.ร.บ. ฉบับนี้

     โดยคณะกรรมการพิเศษประกอบไปด้วย 2 คณะคือ คณะกรรมการกำหนดมาตรฐาน 5 คน โดยแต่ละคนจะต้องมีประสบการณ์การตัดสินและฝึกสอนไม่ต่ำกว่า 10 ปี และมีความโปร่งใส ไม่เคยถูกแบน หรือมีบทลงโทษติดตัว เป็นผู้ออกประกาศ​และกำหนดหลักเกณฑ์ในการตัดสิน และฝึกสอนให้เป็นมาตรฐานในกีฬาชนิดต่างๆ

     คณะที่ 2 คือคณะกรรมการจรรยาบรรณ โดยมีประสบการณ์และคุณวุฒิเดียวกับคณะกรรมการกำหนดมาตรฐาน แต่หน้าที่ของกรรมการชุดนี้คือการออกประกาศจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ฝึกสอนและผู้ตัดสิน นอกจากนี้ยังมีหน้าที่สอบสวน พิจารณา และวินิจฉัยพฤติกรรมผิดจรรยาบรรณของผู้ฝึกสอนและผู้ตัดสิน ก่อนรายงานให้คณะกรรมการตัดสิน โดยโทษทางจรรยาบรรณจะมีทั้งการตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใบอนุญาตไม่เกิน 2 ปี และยึดใบอนุญาต

 

Photo: FA Thailand

 

ที่ผ่านมาปัญหาของวงการกีฬาคืออะไร

     ผศ.ดร. นิลมณี ศรีบุญ ที่ปรึกษาสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬาและพัฒนากีฬา คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากกรมพลศึกษาให้จัดทำงานวิจัยเพื่อตรวจสอบหาปัญหาที่ขัดขวางการพัฒนาวงการกีฬาในประเทศไทย ซึ่ง ผศ.ดร. นิลมณี พบว่ามีปัญหาในด้านมาตรฐานของทุกภาคส่วน ตั้งแต่การประสานงานระหว่างภาครัฐ มาตรฐานของผู้ตัดสิน และผู้ฝึกสอนในระดับเยาวชน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างนักกีฬาที่มีคุณภาพ

     รวมถึงที่ผ่านมา ผู้ที่มีส่วนร่วมกับวงการกีฬาไทยมักจะทำงานแบบอาสาสมัคร ซึ่งเป็นปัญหาในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพ เนื่องจากการทำงานไม่สม่ำเสมอ

     โดย ผศ.ดร. นิลมณี ยอมรับว่าคุณภาพของผลงานขึ้นอยู่กับคุณภาพของบุคคลในวงการนั้นๆ ซึ่งในวงการกีฬาไทยพบว่ามีคนทำงานในรูปแบบของอาสาสมัครและเป็นงานพาร์ตไทม์ ซึ่งมีจุดอ่อนตรงที่การพัฒนางานและบุคลากรที่ไม่เป็นระบบ รวมถึงการทำงานของหน่วยงานสำคัญๆ ยังไม่มีความสอดคล้องกันเท่าที่ควร

     กีฬาในประเทศไทยแทบไม่มีนักกีฬาในระดับพื้นที่ได้คุณภาพที่สามารถส่งไปแข่งขันให้เป็นเลิศและต่อยอดสู่ความสำเร็จได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้สนับสนุนหรือคนที่เข้ามาสู่เส้นทางการเป็นนักกีฬาอาชีพนั้นมีน้อยคนที่จะหวังเป็นอาชีพตั้งแต่ต้น ส่วนใหญ่มักจะเข้ามาด้วยความสนุกสนาน หรือแม้กระทั่งผู้ปกครองที่ให้การสนับสนุนก็มองเพียงว่าให้ลูกสามารถเข้าสู่มหาวิทยาลัยได้โดยไม่จำเป็นต้องสอบ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุหลักว่าทำไมวงการกีฬาไทยถึงยังได้ทรงตัวและไม่มีพัฒนาการแบบยั่งยืน

     เมื่อเปรียบเทียบกับประสบการณ์ที่ ผศ.ดร. นิลมณี ได้มีโอกาสไปศึกษาที่ประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว วงการกีฬาในประเทศนั้นมีการพัฒนาที่เป็นระบบชัดเจน

     “โรงเรียน มหาวิทยาลัย ชุมชน ทุกหน่วยทำงานสอดคล้องกันหมด มีการลงทะเบียบผู้ฝึกสอนทุกระดับ มีการให้ทุนพัฒนาผู้ฝึกสอนทั้งระบบ เพราะฉะนั้นคนที่เล่นกีฬาในสหรัฐฯ จึงไปด้วยกันได้หมด ตั้งแต่ชนิดกีฬาที่เด็กเขามีสิทธิ์ได้เลือกเล่น จนถึงระบบการพัฒนาตั้งแต่โรงเรียนถึงสโมสรอาชีพ และมีลีกไว้แข่งขันทุกระดับอย่างชัดเจน

     “ในขณะที่บ้านเราเองไม่มีความชัดเจน เรื่องสถานที่หรือกิจกรรมกีฬา หนึ่งปีเล่นครั้งเดียว เช่น กีฬามหาวิทยาลัยของประเทศไทย เราก็จัดครั้งเดียว แต่เกมพวกนี้มันมีความจำเป็นที่จะต้องต่อเนื่อง เพราะทักษะคือการที่เราได้ทำซ้ำๆ และเกิดความชำนาญ ซึ่งระบบพวกนี้เราไม่ได้นำมาใช้ในประเทศไทย”

     ส่วนกรณีศึกษาจากประเทศอื่น เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อังกฤษ​ และ สหรัฐอเมริกา ประเทศเหล่านี้มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันหมดคือการมองกีฬาเป็นอาชีพ เป็นงานแบบฟูลไทม์ ซึ่งมีระบบโครงสร้างที่ออกแบบให้แต่ละชนิดกีฬามีขั้นตอนการพัฒนาของตัวเอง และบริหารจัดการผู้ฝึกสอนตามระดับ

     กลับมาที่ประเทศไทย ถือว่าเรายังอยู่ห่างไกลจากระบบดังกล่าว แต่ ผศ.ดร. นิลมณีก็เชื่อว่าการเริ่มต้นบังคับใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ให้ผู้ฝึกสอนและกรรมการผู้ตัดสินทุกคนมีมาตรฐานเดียวกันหมดอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการสร้างนักกีฬาที่ได้มาตรฐานโดยใช้รูปแบบใบอนุญาต

     “เรามองไว้ว่าผู้ที่จะออกใบอนุญาตในการประกอบอาชีพก็ต้องเป็นคณะกรรมการ โดยมีมาตรฐานอาชีพที่แบ่งเป็น 3 ระดับ”

     ระดับที่ 1 ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์

     ระดับที่ 2 ความรู้ในหน้าที่

     ระดับที่ 3 จรรยาบรรณในการสอน และในการตัดสิน

     ทั้ง 3 ส่วนนี้เป็นองค์ประกอบที่จะผ่านมาตรฐานและได้รับใบอนุญาต  

 

Photo: สนามมวยเวทีลุมพินี

 

การขาดมาตรฐานและการรับรอง อีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ตัดโอกาสผู้ฝึกสอนและผู้ตัดสินไทย

     สิ่งที่น่ากังวลสำหรับบุคลากรกีฬาไทยคือการขาดมาตรฐานและการรับรอง โดยที่ผ่านมาวงการกีฬาไทยเสียเปรียบอย่างหนัก โดยเฉพาะวงการมวยไทยที่มีครูมวยหลายคนเดินทางไปต่างประเทศ และไม่สามารถสอนมวยไทยได้ เพราะไม่มีใบรับรอง ซึ่งพอต้องไปสอบทำใบรับรองที่ต่างประเทศก็ประสบปัญหาด้านภาษา

     ตรงกันข้ามกับผู้ฝึกสอนต่างประเทศที่เข้ามาในประเทศไทย ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีใบรับรองก็สามารถเป็นผู้ฝึกสอนได้ จึงเป็นข้อเสียเปรียบที่ทำให้บุคลากรกีฬาในไทยไม่สามารถพัฒนาในเชิงธุรกิจได้

     ซึ่งทาง นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มองว่าเป็นโอกาสที่จะทำให้ใบอนุญาตการทำงานของคนในวงการกีฬาไทยได้รับการยอมรับจากสากล เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับบุคลากรไทยในอนาคต

     “ท่านรัฐมนตรีก็มองว่าถ้าเขาเข้ามา เราไม่ได้ปิดกั้น แต่ทำยังไงเราจึงจะส่งออกไปได้ ฉะนั้นใบอนุญาตอาจจะต้องมองเป็นใบอนุญาตสากลด้วย เพื่อให้เราส่งออกไปได้ เพราะว่าที่ผ่านมามีเยอะที่เขามาหาเรา เช่น กีฬาบ็อกเซีย (Boccia) ไทยเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่ว่าส่งผู้ฝึกสอนไปไม่ได้ เพราะไม่มีใบรับรอง รวมถึงกีฬาอื่นๆ เช่น ฟุตซอล วอลเลย์บอล เราส่งออกได้หมด ฟุตบอลอาจจะบางส่วน และมวยไทยที่ชัดเจนที่สุด แต่คนเหล่านี้ไปทำงานต่างประเทศไม่ได้”

 

หลักพื้นฐานที่ผู้ฝึกสอนระดับโลกต้องผ่านมาหมด แม้กระทั่ง วินซ์ ลอมบาร์ดี ตำนานโค้ชของอเมริกันฟุตบอล

     ที่ผ่านมาในวงการอเมริกันเกมของสหรัฐฯ ไม่ได้ตัดสินหรือวัดคุณภาพการทำงานของผู้ฝึกสอนจากผลงานหรือประวัติการทำงานในขณะที่เป็นนักกีฬา แต่วัดจากมาตรฐานและความรู้พื้นฐานที่ผู้ฝึกสอนจำเป็นต้องมี

     “ที่สหรัฐฯ ผู้ฝึกสอนที่ผ่านมาตรฐานเขาจะดูจากวิธีการเน้นความปลอดภัยของนักกีฬา วิธีการออกกำลังกายที่ถูกต้อง เรื่องของวิทยาศาสตร์การกีฬา หลักพื้นฐานในการที่ฝึกซ้อมที่ถูกต้อง ซึ่งเขาไม่ได้กำหนดว่าต้องเก่ง แต่ต้องรู้พื้นฐานทั้งหมด ทำ CPR ได้ไหม กระตุ้นหัวใจได้ไหม ซึ่งตัวนี้ถือเป็นมาตรฐานขั้นพื้นฐาน ซึ่งทุกคนต้องรู้

     “โค้ชระดับโลกในสหรัฐฯ ทุกคนต้องผ่านมาตรฐานหมด ความหมายของ Performance ในต่างประเทศไม่ได้ดูที่ว่าชนะหรือแพ้ แต่ดูที่พฤติกรรม จริยธรรม การเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับสังคมด้วย ซึ่งคนเหล่านี้มีหมด เพราะถูกสร้างมาตั้งแต่แรก

     “วินซ์ ลอมบาร์ดี ตำนานโค้ชของอเมริกันฟุตบอลเขาสร้างโปรไฟล์ของตัวเอง กว่าจะเป็นยอดโค้ชใช้เวลานานมาก แต่เมื่อเทียบกับบ้านเรา เราไม่ได้พูดถึงเรื่องพวกนี้เลย พวกนี้มีปรัชญาหมด แต่ของบ้านเรากลับไม่ได้ถูกสร้าง”

 

 

แล้วทำไมเราถึงต้องพัฒนากีฬาในบ้านเราให้เป็นอาชีพ

     ปัจจุบันกีฬาในประเทศไทยถูกจัดแบ่งเป็น 4  ส่วนคือ พื้นฐาน มวลชน เป็นเลิศ และอาชีพ เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศซึ่งมีด้วยกัน 3 ส่วนคือ กีฬาสำหรับทุกคน (Sport for all) กีฬาระดับสูง (Elite) และ Professional หรือกีฬาอาชีพ จุดอ่อนของประเทศไทยที่ผ่านมาคือการพัฒนานักกีฬาในระดับเยาวชน หรือระดับล่าง ที่จำเป็นต้องได้รับการปลูกฝังตั้งแต่เด็ก

     “นักกีฬาจริงๆ คือต้องรักที่จะออกกำลังกาย รักที่จะเล่นกีฬา หรือคำว่า For the love of sport ถ้าเยาวชนมีความเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่เด็ก เราจะพัฒนาต่อไปเอง แต่ถ้าเราไม่ปลูกฝังสิ่งนี้ตั้งแต่ต้นมันก็ลำบาก

     “เรื่องพวกนี้ประเทศที่พัฒนาแล้วเขามองว่ากีฬามีคุณค่าทั้งในเชิงสังคมและเศรษฐศาสตร์ แต่ของบ้านเรามีแค่ด้านการออกกำลังกายและชัยชนะอย่างเดียว ซึ่งมันไม่พอที่จะนำคุณค่าที่แท้จริงของกีฬาออกมาได้

     “ผมแค่อยากให้คนมองเห็นว่ากีฬาเป็นประโยชน์ต่อชีวิต และผมเชื่อว่าคนที่จะสื่อได้ดีคือคนที่มีความรู้ความสามารถ มีมาตรฐาน ได้ทำงานในสิ่งที่ตัวเองควรจะทำ ประเทศไทยผมว่ายังไม่สายที่จะเอากีฬามาเป็นเครื่องมือพัฒนา”

 

     จากที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าวงการกีฬาไทย แม้กระทั่งในการแข่งขันกีฬาที่ได้รับความนิยมก็ยังขาดพัฒนาการที่มีความต่อเนื่อง เห็นได้จากปัญหาในวงการเทนนิสที่เมื่อหมดยุคของภราดร ศรีชาพันธุ์, แทมมารีน ธนสุกาญจน์ และดนัย อุดมโชค เราก็ยังไม่สามารถสร้างเยาวชนขึ้นมาแข่งขันในระดับเดียวกับนักกีฬาเหล่านี้ได้เลย แม้สมาคมจะมีระบบการสร้างเยาวชนมารองรับแล้วก็ตาม

     แต่สมาคมกีฬาอื่นๆ อย่างฟุตบอล หรือวอลเลย์บอลอาจจะไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากมีทั้งผู้สนับสนุนและแฟนกีฬาที่เหนียวแน่น ซึ่งเชื่อว่ามีเยาวชนไทยหลายๆ คนอยากเดินตามรอยฮีโร่ในวงการของพวกเขา แต่สำหรับสมาคมกีฬาชนิดอื่นๆ ยังคงต้องรอลุ้นต่อไปว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวงการได้มากน้อยขนาดไหน

     สำหรับขั้นตอนในขณะนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมมาตรฐานผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬา พ.ศ. … เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 และตอนนี้อยู่ในระหว่างเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวันที่ 5 ตุลาคมนี้ต่อไป

FYI
  • สำหรับผู้ที่สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมโดยเข้าไปที่แฟนเพจเฟซบุ๊ก ‘ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมมาตรฐานผู้ฝึกสอนกีฬาและผู้ตัดสินกีฬา’
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising