×

บุกทลายโกดังทุนจีนซุกวัตถุอันตราย-เครื่องสำอางเถื่อน ยึดของกลางกว่า 20 ล้านบาท

โดย THE STANDARD TEAM
22.07.2025
  • LOADING...
raid-illegal-hazardous-products

วันนี้ (22 กรกฎาคม) ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงผลการบุกทลายโกดังขนาดใหญ่ในเขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ ที่ลักลอบซุกซ่อนวัตถุอันตรายใช้ในครัวเรือนและเครื่องสำอางเถื่อนที่นำเข้าจากต่างประเทศผิดกฎหมาย เพื่อจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ 

 

พ.ต.อ. อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ รองผู้บังคับการ ปคบ. เปิดเผยว่า การเข้าตรวจค้นครั้งนี้สืบเนื่องจากกรณีที่มีผู้เสียชีวิตจากการสูดดมก๊าซพิษที่สันนิษฐานว่าเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์แก้ไขการอุดตันของท่อ ทำให้ พล.ต.ต. พัฒนศักดิ์ บุบผาสุวรรณ ผู้บังคับการ ปคบ. สั่งการให้เร่งสืบสวนจับกุมร้านค้าที่ลักลอบจำหน่ายผลิตภัณฑ์อันตรายดังกล่าว จนกระทั่งสืบทราบถึงสถานที่จัดเก็บสินค้าผิดกฎหมายนี้

 

จากการนำหมายค้นศาลอาญามีนบุรีเข้าตรวจค้น พบแรงงานต่างด้าวจำนวนหนึ่งกำลังบรรจุสินค้าลงกล่องพัสดุเพื่อเตรียมจัดส่งให้ลูกค้า โดยของกลางที่ตรวจยึดได้ประกอบด้วยวัตถุอันตรายยี่ห้อ SEAWAYS หลายรายการ 

 

อาทิ ผลิตภัณฑ์ซักผ้า, ทำความสะอาดพื้น, ขจัดคราบสกปรก, ทำความสะอาดอเนกประสงค์, ล้างเครื่องซักผ้า, ขจัดท่ออุดตัน, ทำความสะอาดห้องครัว, ทำความสะอาดห้องน้ำ และกำจัดเชื้อราในครัวเรือน นอกจากนี้ยังพบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางยี่ห้อ Dr. Leo ได้แก่ ครีมบำรุงผิว และป้องกันแสงแดด

 

พ.ต.อ. วีระพงษ์ คล้ายทอง ผู้กำกับการ 4 บก.ปคบ. กล่าวว่า จากการสอบสวน อุทุมวัลย์ เจ้าของสถานที่ ให้การยอมรับว่าสินค้าทั้งหมดเป็นของนายทุนชาวจีนที่มาเช่าโกดังเพื่อเก็บสินค้าและจ้างแรงงานต่างชาติบรรจุสินค้าส่งให้ลูกค้าที่สั่งซื้อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เมื่อลูกค้าชาวไทยสั่งซื้อ ข้อมูลจะถูกส่งไปยังร้านค้าในประเทศจีน จากนั้นร้านค้าจะส่งข้อมูลลูกค้าและสถานที่จัดส่งกลับมายังโกดัง พนักงานจะพิมพ์ข้อมูลลูกค้าพร้อมสินค้าบรรจุลงกล่องเพื่อจัดส่ง โดยโกดังไม่ทราบว่ามีร้านค้าใดบ้าง การดำเนินงานเช่นนี้มีมาประมาณ 3 ปี มียอดการส่งสินค้าแต่ละวันประมาณ 7,000 – 9,000 ชิ้น โดยได้ค่าจ้างบรรจุสินค้าชิ้นละ 5 – 7 บาท

 

พ.ต.ท. รุตินันท์ สัตยาชัย สารวัตร กก.4 บก.ปคบ. เสริมว่า จากการตรวจสอบการนำเข้าผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายยี่ห้อ SEAWAYS พบว่ามีทั้งผลิตภัณฑ์ที่ไม่แจ้งข้อเท็จจริง ไม่ขึ้นทะเบียน และบางรายการมีการยื่นคำขอจดทะเบียน แต่ไม่พบข้อมูลการนำเข้าผ่านด่าน อย. แต่อย่างใด ผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายเหล่านี้ต้องขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตทั้งการผลิต นำเข้า หรือครอบครอง 

 

เนื่องจากบางชนิดอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช และสิ่งแวดล้อม ส่วนการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางยี่ห้อ Dr. Leo ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 จนถึงปัจจุบัน ไม่พบข้อมูลการนำเข้าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจากบริษัทผู้ขออนุญาตนำเข้าแต่อย่างใด

 

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อหา มีไว้ในครอบครองวัตถุอันตรายไม่แจ้งข้อเท็จจริง, มีไว้ในครอบครองวัตถุอันตรายที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน, ขายวัตถุอันตรายที่ไม่แสดงฉลากภาษาไทยและมีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง, ขายเครื่องสำอางที่ไม่มีเลขจดแจ้ง, ขายเครื่องสำอางที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง และนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางโดยไม่ผ่านการตรวจสอบ ณ ด่านตรวจสอบเครื่องสำอาง

 

ด้าน นพ. รุ่งฤทัย มวลประสิทธิ์พร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้กล่าวเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมวัตถุอันตรายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเน้นย้ำให้เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากภาษาไทย มีเลขทะเบียนวัตถุอันตรายอย่างถูกต้อง และเครื่องสำอางต้องมีฉลากภาษาไทยพร้อมเลขจดแจ้ง อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาหรือเห็นแก่สินค้าราคาถูกเกินปกติ เพราะอาจเสี่ยงต่อการได้สินค้าปลอม ไม่มีคุณภาพ หรืออาจเป็นอันตรายถึงชีวิตจากสารระเหยได้

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising