×

บุปผาราตรี ความสยองขวัญที่เป็นตัวแทนของหญิงสาวไร้ทางสู้

20.10.2018
  • LOADING...

นอกจากลายเซ็นหนังแอ็กชันมันๆ ในแฟรนไชส์ ‘มือปืน’ แห่งดวงดาว หนังรักซึมซึ้งปนดาร์กอย่าง กุมภาพันธ์ และ รักสามเศร้า ต้อม-ยุทธเลิศ สิปปภาค ยังได้สร้างตัวตนของ ‘ผีบุปผา’ ที่แจ้งเกิดให้เขากลายเป็นหนึ่งในผู้กำกับหนังสยองขวัญอันดับแรกๆ ที่คนไทยนึกถึง

 

ในขณะที่หนังผีส่วนใหญ่ของไทยจะเลือกหยิบเอาเรื่องเล่าที่มีอยู่ก่อนมาเล่าใหม่ซ้ำไปซ้ำมา แต่ยุทธเลิศเลือกที่จะสร้างผีบุปผาขึ้นมาใหม่ให้เป็นตัวแทนของหญิงสาวที่ถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจในบริบทสังคมชายเป็นใหญ่ โดยใช้ฉากสยองขวัญและมุกตลกมาฉาบเคลือบเมสเสจสำคัญได้อย่างเนียนตา

 

 

บุปผาราตรี เข้าฉายครั้งแรกในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2546 เล่าเรื่องของนักศึกษาแพทย์สาวสวยที่เก็บตัว ไม่สุงสิงกับใคร (รับบทโดย พลอย-เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) เพราะอดีตอันแสนเจ็บปวดที่ถูกลุงของตัวเองล่วงละเมิดทางเพศตั้งแต่เด็ก ซ้ำร้ายพอโตขึ้นมายังถูก เอก (รับบทโดย กฤษณ์ ศรีภูมิเศรษฐ์) หลอกให้มีเพศสัมพันธ์จนตั้งท้องเพื่อแลกกับเหล้าเพียง 1 ขวด สุดท้ายบุปผาต้องทำแท้งจนตกเลือดและเสียชีวิตอย่างเดียวดาย ณ ห้อง 609 ของออสการ์อพาร์ตเมนต์

 

กระทั่งเอกกลับไปใช้ชีวิตอยู่กับบุปผาอีกครั้งโดยไม่รู้ว่าเธอเสียชีวิตไปแล้ว เป็นเหตุให้บุปผาต้องออกมาจัดการคนที่พยายามจะบอกความจริงให้เอกรู้ รวมทั้งการ ‘แก้แค้น’ กับความผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยวิธีสุดโหดที่ทำให้ ‘เลื่อย’ กลายเป็นอีกหนึ่งภาพจำของหนังเรื่องนี้ ไปจนถึงการ ‘ต่อสู้’ กับหมอผีที่หมุนเวียนเปลี่ยนหน้ามาท้าทายความ ‘เฮี้ยน’ ของบุปผาจนลากยาวไปถึงภาคต่อ บุปผาราตรี เฟส 2 ในปี 2548

 

 

ในปี 2552 ยุทธเลิศได้ปลุกมนต์ขลังของผีบุปผาขึ้นมาอีกครั้งกับ บุปผาราตรี 3.1 และ บุปผาราตรี 3.2 คราวนี้เขาก็ยังไม่ประนีประนอมกับประเด็นความรุนแรงที่ผู้หญิงได้รับ ขยายเรื่องไปถึงเด็กผ่านตัวละคร ด.ญ.ปลา (รับบทโดย ด.ญ.นัดตะวัน ศักดิ์ศิริ) แต่ยังใจดีที่เปิดโอกาสให้บุปผาเริ่มมีความรักอีกครั้งกับ หรั่ง (รับบทโดย มาริโอ้ เมาเร่อ) เด็กหนุ่มจิตใจดีที่มองเห็นผีได้

 

ภายใต้เสียงกรีดร้องและเสียงหัวเราะของหนังทั้ง 4 ภาค สิ่งหนึ่งที่ผีบุปผาสื่อออกมาอย่างชัดเจนคือการเกิดเป็นผู้หญิงไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ พวกเธอไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ กับเหล่าผู้ชายที่คอยกดขี่ข่มเหงได้ทั้งสิ้น รวมไปถึงบรรดาตัวละครผู้หญิงอีกหลายคนในเรื่องที่พร้อมจะถูกถีบและด่าด้วยถ้อยคำรุนแรงได้ทุกเมื่อหากทำให้ฝ่ายชายไม่พอใจ และที่น่าเศร้าคือดูเหมือนว่าจะมีแต่ ‘โลกหลังความตาย’ เท่านั้นที่พวกเธอได้รับ ‘อำนาจ’ เพื่อกลับไปเอาคืน

 

นอกจากทำหน้าที่พรางประเด็นความรุนแรงเอาไว้อย่างมิดชิด ฉากสยองขวัญและมุกตลกยังเป็นเครื่องมือในการสะท้อนสังคมได้อย่างคมคาย ทั้งความเชื่องมงายเรื่องการทรงเจ้าเข้าผี การล้อเลียนสถานการณ์บ้านเมืองช่วงแบ่งสี ไปจนถึงการเสียดสีกองเซนเซอร์ที่ถือว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมาของคนทำหนังมานาน และอีกหลายสถานการณ์ที่หลายคนอาจมองว่าไม่สำคัญ แต่ก็ไม่อาจเล็ดลอดลายสายตาคู่เล็กที่คมกริบของเขาไปได้

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X