นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงวันนี้ว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในปี 2561 มีผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกรมควบคุมโรคได้รับรายงานว่า ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มอีก 1 ราย เป็นเพศหญิงอายุ 50 ปี เสียชีวิตที่จังหวัดตาก โดยมีประวัติถูกสุนัขกัดบริเวณหลังมือขวาเมื่อประมาณ 1 ปี ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งหลังจากถูกกัดไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีนของสุนัข
ขณะนี้เมื่อรวมกับรายล่าสุดแล้ว ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าในปี 2561 รวมเป็น 16 ราย (จากบุรีรัมย์และระยอง จังหวัดละ 2 ราย สุรินทร์ สงขลา ตรัง นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง หนองคาย ยโสธร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ตาก และสุราษฎร์ธานี จังหวัดละ 1 ราย)
จากรายงานการสอบสวนโรคผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าในปี 2561 พบว่า มีการรับเชื้อจากสุนัข 15 ราย (ร้อยละ 93.7) จากแมว 1 ราย (ร้อยละ 6.3) เป็นสัตว์มีเจ้าของ ร้อยละ 62.5 และไม่มีเจ้าของ ร้อยละ 37.5 นอกจากนี้ยังพบว่า หลังจากสัมผัสแล้วไม่ได้ล้างแผลและไม่ได้รับการรักษาถึง 14 ราย ล้างแผลที่บ้านแต่ไม่ได้ไปสถานพยาบาล 1 ราย และอีก 1 ราย ไปรับบริการที่สถานรักษาพยาบาลแต่ไม่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
นายแพทย์สุวรรณชัยกล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรคขอแนะนำว่า หากถูกสุนัขหรือแมวกัด ข่วน หรือเลียบาดแผล แม้เพียงเล็กน้อย อย่าชะล่าใจ ควรรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันทีหลายๆ ครั้ง นานประมาณ 10 นาที และใส่ยาเบตาดีน เพื่อลดการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จากนั้นรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อวินิจฉัยและรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หากฉีดวัคซีนแล้วควรไปตามนัดทุกครั้ง นอกจากนี้ควรสังเกตสุนัขว่ามีอาการผิดปกติหรือตายใน 10 วันหรือไม่ ภายหลังสุนัขตัวนั้นไปกัดข่วนคน ต้องรีบไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
ทั้งนี้ขอให้ยึดหลัก ‘คาถา 5 ย.’ ดังนี้ 1. อย่าเหยียบบริเวณลำตัว ขา หรือหางของสัตว์ 2. อย่าแยกสัตว์ที่กำลังกัดกัน 3. อย่าแหย่สัตว์ เพราะอาจโดนข่วนหรือกัดได้ 4. อย่าหยิบอาหารขณะสัตว์กำลังกิน และ 5. อย่ายุ่งกับสัตว์ที่ไม่รู้จักคุ้นเคย เพื่อลดความเสี่ยงการรับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า
นอกจากนี้ หากท่านเคยถูกสัตว์เลี้ยงกัดหรือข่วนนานแล้ว แม้ว่ารอยแผลจะเพียงเล็กน้อยก็ตาม แล้วไม่ได้ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ขอให้ท่านไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัย เนื่องจากระยะฟักตัวของโรคตั้งแต่ได้รับเชื้อจนมีอาการป่วยอาจสั้นมากตั้งแต่ 1 สัปดาห์ หรืออาจนานถึง 1 ปีได้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล