×

เปิดปมทุจริตวัคซีนพิษสุนัขบ้า เมื่อมหกรรมการโกงลุกลามมาถึงสัตว์สี่ขา

29.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ร่องรอยการทุจริตวัคซีนพิษสุนัขบ้าดูจะชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ได้ออกมาแฉว่า มี อบต. แห่งหนึ่งในจังหวัดปทุมธานี นำวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าที่ อย. เรียกคืนไปแล้วมาฉีดให้กับสุนัขและแมวในพื้นที่
  • คนดังหลายคนทั้ง อั้ม-พัชราภา, เก๋-ชลลดา, เมย์-พิชญ์นาฏ รวมถึง กันต์ กันตถาวร นัดกันโพสต์ IG ต่อต้านทุจริตวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ทำให้ประเด็นนี้อยู่ในความสนใจของคนทั่วประเทศ
  • อย. แถลงยืนยันว่าได้ให้บริษัทผู้นำเข้าทำลายยาดังกล่าวแล้ว โดยมีเจ้าหน้าที่ อย. ไปกำกับดูแลการทำลาย และได้ดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้นำเข้าแล้ว
  • “ผมมั่นใจว่ามีการทุจริตแน่ๆ ถ้าไม่มี บริษัทฯ คงไม่กล้าส่งยาที่ไม่ได้คุณภาพมาให้กรมปศุสัตว์แน่นอน” อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD

นอกจากสถานการณ์พิษสุนัขบ้าในหลายพื้นที่ซึ่งต้องจับตารายวันแล้ว ประเด็นการทุจริตในแวดวงราชการก็มีความน่ากังวลไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ตั้งแต่ปมทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้ไร้ที่พึ่ง ทุจริตกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ล่าสุดปมทุจริตได้ลามมาถึงการจัดซื้อวัคซีนพิษสุนัขบ้า ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การควบคุมโรคร้ายแรงนี้มีปัญหา และทำให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้แล้วถึง 7 รายทั่วประเทศ

 

ขณะที่คนดังหลายคนทั้ง อั้ม-พัชราภา, เก๋-ชลลดา, เมย์-พิชญ์นาฏ รวมถึง กันต์ กันตถาวร นัดกันโพสต์ IG ต่อต้านทุจริตวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ทำให้ประเด็นนี้อยู่ในความสนใจของคนทั่วประเทศ

 

แม้จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงปมปัญหาการทุจริตการจัดซื้อวัคซีนพิษสุนัขบ้า และวัคซีนที่ไม่ได้คุณภาพ ที่มีนายสุรพงศ์ เจียสกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ​เป็นประธาน ไปตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา หลังจากนี้ยังต้องรออีกเกือบ 30 วัน จึงจะได้ข้อสรุป แต่ก่อนจะถึงเวลานั้นมาดูกันว่าปมทุจริตครั้งนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร และมีใครที่น่าจะเกี่ยวข้องกับการทุจริตครั้งนี้บ้าง

 

 

สางปมปัญหาที่ทำให้พิษสุนัขบ้ากลับมาระบาดอีกครั้ง

ศ.สพ.ญ.ดร.สันนิภา สุรทัตต์ รองคณบดีนโยบายและแผน อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยข้อมูลบนเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 12 เรื่อง ‘ฝ่าวิกฤตโรคพิษสุนัขบ้า’ ว่าในปี 2559 ดูเหมือนสถานการณ์การระบาดของพิษสุนัขบ้าจะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่การให้วัคซีนต้องหยุดชะงักลง  

 

เมื่อปี 2558 สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ทักท้วงถึงบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าว่าสามารถทำได้หรือไม่ แม้ภายหลังจะยืนยันแล้วว่าสามารถทำได้ แต่ในระหว่างการตรวจสอบบทบาทดังกล่าว ทำให้วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าเหลือใช้ได้เพียง 5 ล้านโดสในปี 2559 จากที่เคยใช้ 10 ล้านโดสในปี 2558 ในขณะที่สุนัขมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ตัวเลขการหยุดแพร่ระบาดไม่คงที่

 

ประกอบกับในปี 2559 ยังเป็นปีเดียวกับที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เรียกคืนวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าถึง 3.5 ล้านโดส เนื่องจากตรวจพบว่าไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ปีนั้นเหลือวัคซีนที่ใช้ได้เพียง 1.5 ล้านโดสเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เองจึงไม่สามารถหยุดการแพร่ระบาดของโรคได้ เพราะในทางทฤษฎีระบุไว้ว่า สุนัขและแมวทั้งประเทศต้องมีภูมิคุ้มกันโรคมากกว่าร้อยละ 70 จากทั้งหมด 10.3 ล้านตัว

 

หลังจากนั้นประเด็นเรื่องวัคซีนพิษสุนัขบ้าที่ไม่ได้มาตรฐานจึงนำมาสู่การตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของกรมปศุสัตว์ที่อาจมีช่องโหว่และเอื้อให้เกิดการทุจริต

 

แฉทุจริตชัด วัคซีนไม่ได้มาตรฐานถูกนำกลับมาใช้ใหม่

ร่องรอยการทุจริตวัคซีนพิษสุนัขบ้าดูจะชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ได้ออกมาแฉว่า มี อบต. แห่งหนึ่งในจังหวัดปทุมธานี นำวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าที่ อย. เรียกคืนไปแล้วมาฉีดให้กับสุนัข และแมวในพื้นที่

 

จนท้ายที่สุด นายสิทธิเกียรติ์ เจนวนิช นายก อบต. บึงคำพร้อย ได้ออกมายอมรับว่า ได้รับวัคซีนที่มีปัญหาจากกรมปศุสัตว์จำนวน 200 หลอดมาจริง และใช้ไปแล้วจนเหลือเพียง 30 หลอด ก่อนจะส่งคืนให้กรมปศุสัตว์เมื่อทราบว่าวัคซีนลอตดังกล่าวมีปัญหา พร้อมติงการทำหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ และเผยว่ารู้สึกผิดกับข้อผิดพลาดดังกล่าว

 

ด้านองค์การอาหารและยา ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า สาเหตุที่ต้องเรียกคืนวัคซีนพิษสุนัขบ้าทั้ง 3 ลอตในปี 2559 เนื่องจากสถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้แจ้ง อย. เกี่ยวกับผลวิเคราะห์ยา DOG-VAC RABIA Reg.No.1F 6/53 รุ่นการผลิตที่ 225THF030A ซึ่งได้เก็บตัวอย่างจากคลินิกรักษาสัตว์จังหวัดนครสวรรค์ พบว่ามีความแรง (Potency) ต่ำกว่ามาตรฐาน จึงได้เรียกคืนยาดังกล่าวซึ่งนำเข้าจากประเทศสเปนทั้ง 3 รุ่นการผลิตตั้งแต่ปลายปี 2559 และให้บริษัทผู้นำเข้าทำลายยาดังกล่าวแล้ว โดยมีเจ้าหน้าที่ อย. ไปกำกับดูแลการทำลาย และได้ดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้นำเข้าแล้ว

 

ส่วนตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน อย. ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมปศุสัตว์ เพื่อสุ่มตรวจวิเคราะห์วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แต่ไม่พบว่ามีการตกมาตรฐานแต่อย่างใด

 

 

คำถามที่หน่วยงานรัฐต้องตอบ

ด้านนายอัจฉริยะ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ถึงกรณีดังกล่าวโดยตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมา อย. และกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินคดีกับบริษัทผู้นำเข้ายาที่ไม่ได้มาตรฐานจริงหรือไม่ แล้วเหตุใดวัคซีนที่ไม่ได้คุณภาพซึ่งเคยถูกเรียกคืนไปแล้วโดย อย. ตั้งแต่ปี 2559 ถึงยังคงถูกใช้ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาจนถึงปัจจุบัน

 

“ผมมั่นใจว่ามีการทุจริตแน่ๆ ถ้าไม่มี บริษัทฯ คงไม่กล้าส่งยาที่ไม่ได้คุณภาพมาให้กรมปศุสัตว์แน่นอน ซึ่งการที่บอกว่าจะพยายามแก้ไขปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไป แต่ผลสะท้อนตอนนี้มันกลับกลายเป็นว่าทำไม่ได้อย่างที่บอก ถ้าคุณมีวัคซีนที่ดี แต่วัคซีนที่ไปฉีดให้สุนัขกลับไม่ได้ผล แล้วมีผู้เสียชีวิตมากขึ้น มันก็สะท้อนได้เหมือนกันว่าจริงหรือเปล่าที่บอกว่าวัคซีนดี จะกล้ายืนยัน 100% ไหมว่ามันไม่เกี่ยวกับการทุจริต”

 

ผูกขาดวัคซีน อีกปมที่ต้องคลี่คลาย

นอกจากประเด็นเรื่องวัคซีนที่ไม่ได้คุณภาพแล้ว ยังมีกรณีที่ภรรยาของอดีตรองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดบริษัทนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และเข้าร่วมการประมูลโครงการจัดซื้อวัคซีนของกรมปศุสัตว์มายาวนานหลายปี ซึ่งทำให้เกิดข้อครหาว่ามีการผูกขาดการจัดซื้อจัดจ้างหรือไม่

 

ต่อประเด็นนี้ข่าวไทยพีบีเอส รายงานการให้สัมภาษณ์ นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ซึ่งยอมรับว่ารับทราบเรื่องที่ภรรยาของนายไพโรจน์ เฮงแสงชัย อดีตรองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ซึ่งปัจจุบันถูกโยกย้ายให้ไปรับตำแหน่งรองอธิบดีกรมหม่อนไหมในปี 2560

 

ขณะที่บริษัทของภรรยานายไพโรจน์ ได้ดำเนินธุรกิจนำเข้าวัคซีนสัตว์ และเข้าร่วมการประมูลโครงการจัดซื้อวัคซีนของกรมฯ มานานหลายปีแล้ว โดยไม่เคยทักท้วงถึงปัญหาจริยธรรม หรือความเสี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากขณะนั้น นายไพโรจน์ ยังเป็นเพียงข้าราชการ ยังไม่ขึ้นสู่ตำแหน่งระดับบริหาร

 

อธิบดีกรมปศุสัตว์ชี้แจงอีกว่า ปัจจุบันกรมฯ ได้ขึ้นบัญชีดำห้ามบริษัทของภรรยานายไพโรจน์เข้าร่วมประมูลโครงการจัดซื้อวัคซีนมาตั้งแต่ปี 2557 หลังนายไพโรจน์ขึ้นสู่ตำแหน่งระดับผู้บริหาร และตลอดระยะเวลาที่บริษัทดังกล่าวชนะประมูล ก็เป็นไปตามระเบียบพัสดุจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งยังคงยึดหลักพิจารณาด้านราคาเป็นที่ตั้ง ดังนั้นประเด็นดังกล่าวจึงไม่มีความเกี่ยวข้องกับการตรวจพบวัคซีนที่ไม่ได้คุณภาพของ อย. แต่อย่างใด เพราะเป็นคนละบริษัทผู้นำเข้า

 

ขณะที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงปัญหาการทุจริตการจัดซื้อวัคซีนพิษสุนัขบ้า และวัคซีนที่ไม่ได้คุณภาพ ได้เริ่มทำการสอบสวนข้อเท็จจริงใน 2 ประเด็นหลัก คือกระบวนการขั้นตอนของมาตรการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และกระบวนการขั้นตอนของการจัดหาวัคซีนของกรมปศุสัตว์ รวมทั้งประเด็นสำคัญ 4 ประเด็นที่มีการกล่าวหา โดยเฉพาะกรณีครอบครัวข้าราชการของกระทรวงเกษตรฯ ผูกขาดการขายวัคซีนหลายสิบปี และกรณีนำวัคซีนที่ไม่มีคุณภาพ ไม่ผ่านการตรวจสอบไปฉีดให้สัตว์ เพื่อหาตัวผู้รับผิดชอบต่อไป และคาดว่าจะสรุปผลข้อเท็จจริงได้ภายใน 30 วัน

 

สถานการณ์พิษสุนัขบ้าล่าสุด

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดของโรคพิษสุนัขบ้า ทางกรมปศุสัตว์ ได้เปิดเผยรายงานความก้าวหน้าเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา พบว่าการฉีดวัคซีนให้กับสุนัขและแมวที่ตั้งเป้าไว้ 8.24 ล้านตัว ได้มีการดำเนินการสะสมตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 3,219,150 ตัว โดยการฉีดวัคซีนรอบจุดเกิดโรคในรัศมี 5 กิโลเมตร ทำได้ 100% แล้ว และคาดว่าไม่เกินเดือนพฤษภาคมจะสามารถให้วัคซีนได้ 80% ของสุนัขและแมวทั่วประเทศ

 

สําหรับการผ่าตัดทําหมันซึ่งมีเป้าหมาย 300,000 ตัว มีการดําเนินการสะสมตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 จนถึงวันนี้รวมทั้งสิ้นจํานวน 144,017 ตัว ส่วนสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในคน มีผู้เสียชีวิต 7 ราย ผู้เสียชีวิตรายล่าสุดอยู่ที่จังหวัดพัทลุง ซึ่งมีการประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราว (อายุ 30 วัน) จำนวน 40 จังหวัด ปัจจุบันคงเหลือ 29 จังหวัด

 

Photo: shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X