*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหา
อาจฟังดูเวอร์และคนพร้อมกลอกตาใส่ แต่เราเชื่อเสมอว่าป๊อปคัลเจอร์มีพลังบางอย่างที่สามารถขับเคลื่อนสังคมเราให้เปิดตา เปิดใจ และเปิดรับกันและกันเทียบเท่ากับสิ่งอื่นๆ ที่เราตีความว่า ‘สำคัญ’ ยิ่งพอสำนักข่าว THE STANDARD มีสโลแกนว่า Stand Up For The People คนอาจคิดว่า ‘วงการบันเทิงจะทำได้เหรอ’ เพราะฟีดข่าวปัจจุบันเต็มไปด้วยบทความแนว “สาวๆ ว่าไง เบลล่า ฮาดิด กลับมาคืนดีกับ The Weeknd แล้วนะ!” แต่พอเรามีโอกาสได้ดู Queer Eye ซีซัน 2 เพื่อเขียนบทความนี้ เรากล้าบอกอีกครั้งว่ารายการนี้แหละคือพลังของป๊อปคัลเจอร์ นี่แหละคือรายการที่คุณไม่ต้องไปนั่งดูนักวิชาการถกเถียงกันบนช่อง CNN อย่างเดียวเพื่อแก้ปัญหาสังคม แต่ถ้าทุกคนมีโอกาสได้ดูรายการนี้ โลกเราอาจค้นพบยาตัวใหม่ชื่อ ‘The Fab Five’ ที่ช่วยแก้ไขอาการต่างๆ ไม่มากก็น้อย
สำหรับทั้ง 8 ตอนใหม่ใน Queer Eye ซีซัน 2 ยังคงคอนเซปต์เดิมที่เป็นรายการแนวเมกโอเวอร์ โดยในแต่ละตอนเราจะได้เห็น The Fab Five เข้ามาช่วยแนะนำและสอนเกี่ยวกับความคิด ทัศนคติ และการดูแลตัวเองสำหรับผู้โชคดีในรัฐจอร์เจีย ซึ่งคนสนิทได้เสนอชื่อเข้าไปในรายการ เริ่มด้วยการสอนทำอาหารแบบง่ายๆโดย แอนโทนี โปโรวสกี, สอนเรื่องการแต่งตัวโดย แทน ฟรานส์, แนะนำวิธีการเข้าสังคมโดย คาราโม บราวน์, ดูแลความงามหัวจรดเท้าโดย โจนาธาน แวน เนสส์ และปิดท้ายด้วยการพลิกโฉมบ้านอย่างน่าทึ่งโดย บ็อบบี้ เบิร์ก
ในซีซันนี้ 6 ตอนยังคงเป็นผู้ชายที่ทำงานหลากหลายอาชีพ ทั้งพนักงานซูเปอร์มาร์เก็ต Walmart ที่วางแผนจะขอแฟนแต่งงาน, นายกเทศมนตรีชุมชนเล็กๆ ที่ก้าวหน้าทางความคิด, นักดนตรีวัยรุ่นอายุ 18 ปีที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย, พ่อลูกสองชาวเม็กซิกันที่ขาดความมั่นใจว่าพ่อคนอื่นในโรงเรียนลูกจะดูถูก, ผู้ชายตะวันออกกลางที่ลาออกจากงานและยังเรียนไม่จบ แม้จะรับปริญญาแล้ว และฮิปสเตอร์หนุ่มวัยราว 40 ที่อยากย้ายไปอยู่เมืองรีโน ในรัฐเนวาดา ที่จัดเทศกาล Burning Man ซึ่งเขารักเป็นชีวิตจิตใจ โดยในแต่ละตอนก็ยังคงแฝงไปด้วยเสน่ห์และทำให้เห็นว่าผู้ชายทุกคนก็มาพร้อมภาระ ความกดดัน และแนวคิดที่ต่างกันออกไป แต่สิ่งที่แชร์เหมือนกันคือตอนจบทุกคนจะเห็นคุณค่าของการเปลี่ยนแปลงตัวเอง
แต่! ยังเหลืออีก 2 ตอนที่เป็นคือหัวใจสำคัญของซีซันนี้ที่จะกลายเป็นกระบอกเสียงสำคัญของการยอมรับเพื่อนมนุษย์เราด้วยกัน โดยเฉพาะกับกลุ่ม LGBTQ ซึ่งในเดือน Pride (มิถุนายน) ที่ซีซันใหม่เริ่มฉาย ถึงแม้เราจะเฉลิมฉลองการก้าวหน้า เสรีภาพ และจุดยืนที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล แต่เราก็ยังต้องเตือนสติและทำงานร่วมกันต่อไปเพื่อให้คำว่า ‘เท่าเทียม’ เป็นเอกฉันท์ตามความหมายของมันจริงๆ
เริ่มด้วยอีพีแรกที่เปิดซีซันด้วยการเมกโอเวอร์ผู้หญิงคนแรกของรายการชื่อ แทมมี่ ที่เธอเป็นคนผิวสี ประกอบอาชีพเป็นอาจารย์ เพิ่งรอดมาจากโรคมะเร็ง ทำงานช่วยเหลือโบสถ์ของชุมชนเสมอ และมีลูกชายเป็นเกย์ ซึ่งถ้าใครนำสมการนี้มาคิดก็จะรู้ว่าในสังคมอเมริกาเรื่องของ ‘เกย์+ศาสนา+ผิวสี’ เป็นอะไรที่เซนซิทีฟและนำพาไปสู่ความแตกแยกบ่อยครั้ง ตลอดกว่า 51 นาทีของอีพีนี้เรารู้สึกเหมือนต่อสู้กับอารมณ์ทุกประเภท (อย่าได้ถามว่าใช้ทิชชู่ไปกี่แผ่น) และเป็นการตอกย้ำที่ว่าความแตกต่างไม่ควรแปลว่าความแตกแยก และความแตกแยกก็ไม่ควรนำไปสู่ความรุนแรง แม้จะแค่กับคำพูดหรือกิริยาที่เรานำเสนอออกมาต่อกันและกัน
สำหรับเรา แทมมี่คือหนึ่งในผู้หญิงที่สะท้อนวลีที่ใช้กันบ่อยจนกลายเป็นเรื่องตลกของยุคนี้ว่า ‘แม่ก็คือแม่’ แต่เธอเป็นอย่างนั้นจริงๆ การที่เธอยอมรับในตัวตนของลูกและยังเดินหน้าทำงานในโบสถ์ที่คำสอนของศาสนาอาจปิดกั้นด้านไลฟ์สไตล์ LGBTQ และคนอื่นอาจนินทาใส่ ก็เป็นอะไรที่เราขอใช้คำว่า ‘วิเศษ’ ในการจำกัดความ เพราะเรารู้ว่ายังมีเยาวชน LGBTQ ที่โดนทอดทิ้งเพราะสิ่งนี้เยอะมากในทุกวันนี้ ซึ่งก็ไม่ต้องมองไกลไปกว่า บ็อบบี้ หนึ่งในสมาชิก The Fab Five ที่ในอีพีนี้เข้าไม่ยอมเข้าโบสถ์ช่วงแรก เพราะความรู้สึกฝังใจที่มีต่อโบสถ์ Assemblies of God ที่เขาเติบโตมาตอนเด็ก และเจอการเหยียดเพศเมื่อคนรู้ว่าเป็นเกย์จนต้องตัดสินใจย้ายออกจากเมืองที่ตัวเองอยู่ โมเมนต์นี้ถึงแม้จะแค่ 10 วินาที แต่สำหรับเรามันทำให้เห็นว่า Queer Eye ไม่ใช่แค่จะเปิดโลกของคนดู แต่แม้แต่ The Fab Five เองยังได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่ก็ทำให้เปลี่ยนแปลงตัวเองในทางที่ดีขึ้น
ส่วนตอนที่ 5 หลายคนเตรียมครีมใต้ตาเพื่อกันการช้ำไว้ได้เลย เพราะบุคคลที่ The Fab Five เมกโอเวอร์ชื่อ สกายเลอร์ ซึ่งเป็นผู้ชายข้ามเพศ (Trans Man) คนแรกของรายการ การร้อยเรื่องของอีพีนี้ถือว่ามีความอิมแพ็กและมีความดิบอยู่ในตัว เพราะเปิดตัวด้วยฉากในห้องผ่าตัดหลังแปลงเพศที่เปรียบเสมือนการเริ่มชีวิตใหม่ของสกายเลอร์ ที่เป็นแคนวาสเปล่ารอให้ The Fab Five มาแต่งเติมสีสันลงไป
มีบทสนทนาหนึ่งระหว่างสกายเลอร์กับแทนที่มาพร้อมบริบทและทัศนคติที่สำคัญในการให้คนได้เห็นว่าเบื้องหลังความเป็นหนึ่งของกลุ่ม LGBTQ ที่ถูกสะท้อนออกมาบ่อยครั้งก็ยังมีการไม่เข้าใจกันและกัน โดยก่อนหน้าการมาเมกโอเวอร์ ถึงแม้แทนจะเป็นเกย์ แต่เขาไม่เคยใช้ชีวิตกับกลุ่มคนข้ามเพศ และเข้าใจถึงประสบการณ์ของคนกลุ่มนี้ที่ถือว่ามาพร้อมความลำบาก และการที่ยังคงต้องต่อสู้เพื่อสิทธิตัวเองทุกวันนี้ แม้จะแค่การอยากเปลี่ยนคำนำหน้าเป็นนายหรือนางสาวก็ยังไม่ถูกต้องตามกฎหมายในหลายประเทศ ซึ่งสำหรับคนกลุ่ม L, G หรือ B ก็ไม่ได้ต้องมานั่งกังวลเหมือนคนในกลุ่ม T
ความน่าสนใจต่อไปคือค่าย Netflix จะเล่นหมากอะไรกับรายการ Queer Eye ที่กลายเป็นรายการม้ามืดสุดฮอตแห่งปี และมีการคาดเดาว่าน่าจะได้เข้าชิงรางวัล Emmy Awards สาขาเรียลิตี้โชว์ยอดเยี่ยม เราได้เห็นว่าก่อนซีซันแรกจะฉาย รายการนี้ก็ไม่ได้มีการมาร์เก็ตติ้งมากมายเทียบเท่ากับออริจินัลซีรีส์อื่นๆ แต่พอมาซีซันนี้ก็เหมือนเป็นลูกรักคนใหม่ โดยมีการทำมิวสิกวิดีโอประกอบตัวใหม่ที่ได้นักร้องสาวออสเตรเลีย เบ็ตตี้ ฮู มาร้องให้, เป็นไฮไลต์ของงาน Fysee ของค่ายเพื่อผลักดันช่วงการเสนอชื่อเข้าชิง Emmy Awards และมีการให้ไปโปรโมตซีรีส์ทั่วโลกทั้งที่อังกฤษและออสเตรเลีย
ส่วนเหล่า The Fab Five ที่โด่งดังในชั่วข้ามคืนกลายเป็นขวัญใจของมหาชนและกลายเป็นอินฟลูเอนเซอร์ในตัว เช่น แอนโทนีก็เป็นพรีเซนเตอร์กางเกงในยี่ห้อ Hannes, ทำ Paid Partnership กับซูเปอร์มาร์เก็ตในอินสตาแกรม และกำลังจะมีหนังสือทำอาหารออกมา ส่วนแทนก็จะมีหนังสืออัตชีวประวัติออกมาปีหน้ากับสำนักพิมพ์ St. Martin’s Press
แม้ตอนนี้ยังไม่มีการประกาศซีซัน 3 อย่างเป็นทางการ แต่เราเชื่อว่าต้องมีแน่นอน และหวังว่า The Fab Five จะมีโอกาสได้ไปรัฐอื่น หรือแม้แต่ประเทศอื่นๆ เพื่อเสาะหาเรื่องราวของบุคคลที่แม้คนหมู่มากอาจเข้าไม่ถึง แต่ก็ควรรู้ เพราะสังคมเราไม่ควรหยุดที่จะเปิดกว้างและให้คนทุกแบบมีสิทธิ์มีเสียง ส่วนอีกหนึ่งคอนเซปต์ที่เราอยากเห็นคือการกลับบ้านเกิดของแต่ละคนใน The Fab Five และหาคนที่มีเรื่องราวคล้ายๆ กันและต้องการทางออกของชีวิต ซึ่งแทน, คาราโม, โจนาธาน, บ็อบบี้ และแอนโทนี เคยอยู่จุดนั้นมาแล้ว
แล้ว Queer Eye ซีซัน 2 ดีกว่าซีซันแรกไหม เรามองว่านั่นเป็นสิ่งที่ตอบไม่ได้ ถ้าถามต่อว่าทำไม ก็ต้องบอกว่านี้คือเรียลิตี้โชว์ที่ติดตามเรื่องราวของชีวิตคนจริงๆ โดยไม่ได้มาปรุงแต่งให้อื้อฉาวตลอดเวลา แน่นอน ในบางอีพีอาจจะตัดต่อให้ดูสนุกกว่า หรือเราชอบดีไซน์การตกแต่งบ้านที่บ็อบบี้ทำมากกว่า หรือบุคคลที่เลือกเมกโอเวอร์อาจเข้าถึงเรามากกว่า แต่นั่นคงไม่สำคัญไปมากกว่าความรู้สึกและเมสเสจของรายการที่ยังคงเปี่ยมล้นไปด้วยการเปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ว่าจะสัดส่วนใดของชีวิตให้ดีขึ้นก็เป็นสิ่งที่มนุษย์เราทุกคนสามารถทำได้ โดยมันอาจจะเริ่มต้นจากภายใน และมุมมองที่มีต่อตัวเองและคนรอบข้าง
เมื่อก่อนเรามี 5 สาว Spice Girls เพื่อสร้าง Girl Power!, มี 5 สมาชิก Planeteers ในการ์ตูน Captain Planet เพื่อพิทักษ์โลก, มี 5 ศิลปินวง The Jackson 5 เพื่อสร้างเพลงประกอบชีวิต และมาวันนี้เราก็มีผู้ชาย 5 คนจาก Queer Eye มาเป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่นำความสุขและเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น
นั่นแหละคือพลังของป๊อปคัลเจอร์
*Queer Eye ซีซัน 2 ฉายวันแรกพร้อมกันทั่วโลก 15 มิถุนายนนี้ ทาง Netflix