สำหรับใครที่เป็นสมาชิก Netflix จะรู้ดีว่าบริการสตรีมมิงช่องทางนี้จะมีการผลิตคอนเทนต์และรายการของตัวเองเยอะมากจนตามกันไม่ทัน และแน่นอนว่าทุกครั้งที่ The Crown, Stranger Things, 13 Reasons Why, Chef’s Table หรือ Riverdale (Netflix ถือลิขสิทธิ์ฉายทั่วโลก นอกเหนือจากอเมริกา) ออกตอนใหม่ ผู้คนก็จะตื่นเต้น แต่หนึ่งในรายการที่กำลังเป็นม้ามืดและกำลังเข้าไปอยู่ในใจหลายๆ คน แม้จะไม่ได้มีการโปรโมตแบบทุนมหาศาลคือเรียลิตี้โชว์ 8 ตอนชื่อ Queer Eye ที่ Netflix ได้นำกลับมาทำใหม่
คอนเซปต์ของรายการ Queer Eye คือเรียลิตี้โชว์สไตล์เมกโอเวอร์ที่มีกลุ่มเกย์ 5 คนชื่อ ‘The Fab Five’ ที่เป็นกูรูเฉพาะด้านทั้ง แฟชั่น อาหาร กรูมมิ่ง วัฒนธรรม และดีไซน์ มาช่วยพลิกโฉมและชีวิตของผู้ชายหนึ่งคนในแต่ละตอนที่กำลังเผชิญปัญหาที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเพื่อน พ่อแม่ หรือคนรัก ได้เสนอชื่อของผู้ชายเข้าไปในรายการ
เพราะเป็นรายการแนวเมกโอเวอร์ ในแต่ละตอนของ Queer Eye เราจะได้เห็น The Fab Five เข้ามาช่วยแนะนำและสอนผู้ชายเกี่ยวกับความคิด ทัศนคติ และการดูแลตัวเอง เช่น สอนทำอาหาร สอนการแต่งตัว สอนการเข้าสังคม พาไปดูแลความงาม และจะมีการเผยบ้านหรือสถานที่สำคัญที่ถูกพลิกโฉมและดีไซน์ใหม่อย่างน่าทึ่ง แต่! กิมมิกตอนท้ายรายการคือจะให้ผู้ชายที่ถูกแปลงโฉมไปอยู่ในสถานการณ์ที่เขาจะต้องโชว์ศักยภาพและสิ่งที่ถูกสอนมา โดย The Fab Five จะรอดูและสังเกตการณ์อยู่ที่อพาร์ตเมนต์ของพวกเขา
(จากซ้ายไปขวา) โจนาธาน แวน เนสส์, แทน ฟรานส์, แอนโทนี โปโรวสกี, บ็อบบี เบิร์ก และคาราโม บราวน์
The Fab Five
ถ้าถามว่าเสน่ห์ของรายการ Queer Eye อยู่ตรงไหน ก็ต้องบอกว่าผู้ชายที่ได้รับเลือก เช่น เจ้าหน้าที่ดับเพลิง เดี่ยวไมโครไฟน หรือคนผลิตแอปฯ ที่พ่อแม่อพยพมาจากอินเดีย ล้วนมีเรื่องราวชีวิตที่ต่างกันออกไป แต่กลับเป็นกระจกสะท้อนถึงมนุษย์และสังคมที่เราอยู่ไม่มากก็น้อย แถมรายการทำให้เห็นว่าถ้าคนเรารักตัวเอง ดูแลและใส่ใจในตัวเอง มันจะมีพลังบางอย่างที่ทำให้เราไม่จมปลักอยู่กับความคิดที่ว่าเราไม่มีค่าอะไร
ส่วน The Fab Five เองก็มีเคมีที่เข้ากันดี ดูไม่เฟก ตลก และในแต่ละตอนก็จะมาพร้อมทิปส์ต่างๆ ที่ผู้ชมนำไปปรับใช้ในชีวิตได้ ไม่ว่าจะเป็นเพศอะไรหรือสัญชาติใด ซึ่ง The Fab Five ในรายการ Queer Eye ประกอบไปด้วย
แทน ฟรานส์ กูรูด้านแฟชั่นลูกครึ่งอังกฤษ-ปากีสถาน เขาเป็นมุสลิมอย่างเปิดเผย เคยทำงานที่ห้างเซลฟริดจ์ส และแต่งงานกับผู้ชายที่ถูกเลี้ยงมาแบบมอรมอน
โจนาธาน แวน เนสส์ กูรูด้านกรูมมิ่ง เป็นเชียร์ลีดเดอร์ผู้ชายคนแรกของโรงเรียน เป็นเจ้าของร้านทำผมที่ลอสแอนเจลิสและนิวยอร์ก และเคยแสดงในเว็บซีรีส์ Gay of Thrones ที่ได้ชิงรางวัล Emmy
บ็อบบี เบิร์ก กูรูด้านดีไซน์ที่ตอนอายุ 22 ทำงานที่ Bed, Bath & Beyond ในนิวยอร์ก ก่อนจะเริ่มธุรกิจออนไลน์สโตร์ขายของตกแต่งบ้าน Bobby Berk Home ซึ่งประสบความสำเร็จสุดๆ
คาราโม บราวน์ กูรูด้านวัฒนธรรมที่เป็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวลูกสอง และเป็นเกย์ผิวสีคนแรกแบบเปิดเผยที่แข่งเรียลิตี้โชว์ในรายการ Real World ของ MTV ในปี 2004
แอนโทนี โปโรวสกี กูรูด้านอาหารที่พ่อแม่อพยพมาอยู่ประเทศแคนาดาจากประเทศโปแลนด์ ซึ่งแม้ตอนแรกแอนโทนีโฟกัสที่จะเป็นนักแสดง และไม่ได้เรียนด้านเชฟมา แต่เขาก็ทำงานในร้านอาหารเพื่อหารายได้เสริมและสั่งสมประสบการณ์มาเรื่อยๆ
รายการ Queer Eye เป็นการนำมาดัดแปลงและทำใหม่ของเวอร์ชันดั้งเดิม Queer Eye for the Straight Guy ที่ฉายทางช่อง Bravo ช่วงปี 2003-2007 โดยเวอร์ชันนั้น The Fab Five ประกอบไปด้วย เท็ก อัลเลน, เคียน ดักลาส, ทอม ฟิลิเซีย, คาร์สัน เครสลีย์ และเจ โรดริเกวซ ซึ่งก็สร้างเซอร์ไพรส์โด่งดังอย่างถล่มทลาย ได้ชิงรางวัล Emmy มีผลิตภัณฑ์ออกมามากมาย เช่น ซีดีเพลง และหลายประเทศอย่างอังกฤษ ฟินแลนด์ ออสเตรเลีย และฝรั่งเศส ก็ได้นำไปทำในเวอร์ชันของตัวเอง
The Fab Five เวอร์ชันดั้งเดิมและเวอร์ชันใหม่
The Fab Five กับจอน บอง โจวี
ความแตกต่างของเวอร์ชันใหม่คือมีการเมกโอเวอร์ผู้ชายที่เป็นเกย์ด้วย ซึ่งต่างจากเวอร์ชันดั้งเดิมที่โฟกัสแค่ผู้ชายที่รักเพศตรงข้ามอย่างเดียว ส่วนด้านการถ่ายทำ เวอร์ชันใหม่ก็ปักหลักอยู่ที่เมืองจอร์เจีย รัฐแอตแลนตา ที่มีความชนบทขึ้น ต่างจากเวอร์ชันแรกที่ถ่ายในนิวยอร์กที่มีความฟู่ฟ่า แถมในเชิงบริบทเนื้อหาและการเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎหมายของอเมริกาที่เพศเดียวกันแต่งงานกันได้ เหล่า The Fab Five ก็จะพูดถึงชีวิตส่วนตัวมากขึ้น และสามารถเรียกแฟนตัวเองว่า ‘สามี’ ถ้าแต่งงานแล้ว
แน่นอนว่ารายการ Queer Eye กำลังเดินตามกระแสของรายการแนว LGBTQ+ ที่กำลังได้รับความนิยมทั่วโลก เพราะการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เปิดมากขึ้น และสำหรับ Netflix เองก็ชอบการนำรายการไอคอนิกจากยุคก่อนๆ มาทำใหม่ เช่น ซีรีส์ Full House, Degrassi และ Sabrina the Teenage Witch ที่กำลังจะเริ่มถ่ายทำ
แต่สำหรับเราแล้ว Queer Eye ไม่ควรถูกมองว่าเป็นแค่รายการบันเทิงแนว LGBTQ+ อีกรายการหนึ่งเท่านั้น เพราะในประเทศอย่างเช่นในอเมริกา ที่ตอนนี้รัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังเดินถอยหลังในเชิงกฎหมายของ LGBTQ+ รายการเรียลิตี้โชว์แบบนี้ก็จะตอกย้ำว่ามนุษย์เราก็เหมือนกันหมด การสร้างกำแพงหรือแบ่งแยกสัดส่วนของคนก็ไม่ได้ช่วยให้โลกเดินหน้าต่อไป
สำหรับ Netflix ที่มีการสตรีมไปยังกว่า 190 ประเทศทั่วโลก การมีรายการแบบ Queer Eye ก็จะช่วยให้เยาวชนและคนที่กำลังค้นหาตัวเองในประเทศที่ถูกกดขี่และตีกรอบความเท่าเทียมเรื่องเพศมีพื้นที่ของเขา ทั้งยังช่วยตั้งคำถามว่า แม้ในประเทศที่ดูเหมือนสวรรค์ ยอมรับทุกเพศทุกวัย จริงๆ แล้วมันใช่อย่างนั้นจริงๆ ไหม
สำหรับซีซันต่อไปของ Queer Eye ถึงแม้ยังไม่มีการคอนเฟิร์มออกมาอย่างเป็นทางการ และ Netflix ไม่เคยเผยตัวเลขยอดผู้ชมของแต่ละรายการอยู่แล้ว แต่กับความนิยมที่ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดาราเซเลบออกมาช่วยโปรโมตอย่าง จอน บอง โจวี, ดูอา ลิปา และวง Little Mix เหล่า The Fab Five ไปออกรายการทีวีมากมาย และนักวิจารณ์ต่างชื่นชมเวอร์ชันนี้ แฟนๆ รายการนี้ก็ไม่น่าต้องเป็นห่วงอะไรว่า Queer Eye จะกลับมาอีกหรือไม่
Photo: Courtesy of Netflix
อ้างอิง:
- en.m.wikipedia.org/wiki/Queer_Eye_(2018_TV_series)
- www.whig.com/20180305/life-stories-van-ness-on-whirlwind-journey-as-one-of-fab-five-on-queer-eye-reboot#
- nypost.com/2018/02/21/how-a-muslim-immigrant-became-the-breakout-queer-eye-star
- ew.com/tv/2018/03/01/queer-eye-antoni-porowski
- www.advocate.com/arts-entertainment/2015/01/29/gay-real-world-stars-unexpected-journey-fatherhood
- www.bustle.com/p/who-is-bobby-berk-from-queer-eye-the-design-expert-turned-retail-jobs-into-a-home-decor-empire-8130052