นอกจากวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2022 จะเป็นวันสำคัญของชาวอังกฤษที่ร่วมกันเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงครองราชสมบัติครบ 70 ปี ซึ่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษแล้ว ในวันนี้ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถทรงมีพระราชดำรัสถึงดัสเชสแห่งคอร์นวอลล์ พระชายาในเจ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ รัชทายาทแห่งราชบัลลังก์อังกฤษว่า “…เมื่อเวลานั้นมาถึง ข้าพเจ้ามีความปรารถนาให้คามิลลาได้รับการยอมรับในฐานะพระราชินี…”
“…when the time comes, Camilla will be known as Queen Consort as she continues her own loyal service.”
เรื่องนี้ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อสถาบันกษัตริย์อังกฤษ รวมถึงประเทศอังกฤษและเครือจักรภพด้วย เนื่องจากเรื่องนี้ถือเป็นการกำหนดอนาคตของราชวงศ์อังกฤษ และมีนัยสำคัญถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้า ด้วยสมเด็จพระราชินีนาถทรงมีพระชนมายุถึง 95 พรรษาแล้ว และการสูญเสียเจ้าชายฟิลลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระราชสวามี ย่อมส่งผลกระทบต่อจิตใจของพระองค์อย่างยิ่ง
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ควีนเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคต
- จะเกิดอะไรขึ้นต่อ หลังควีนเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคต
- ผลัดแผ่นดิน เจ้าชายชาร์ลส์ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพพระองค์ใหม่
- ย้อนชมภาพประวัติศาสตร์ ช่วงพิธีราชาภิเษกและพิธีฉลองสิริราชสมบัติของควีนเอลิซาเบธที่ 2
- เล่าด้วยภาพ 70 ปี เหตุการณ์สำคัญบนราชบัลลังก์ของ ‘ควีนเอลิซาเบธที่ 2’
การประกาศครั้งนี้จึงเป็นเหมือนการสร้างความชัดเจนในสถานะของ คามิลลา ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ พระชายาในเจ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมารแห่งราชวงศ์อังกฤษ ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมาอย่างยาวนานว่า จะทรงมีสถานะอย่างไรเมื่อเจ้าชายแห่งเวลส์ขึ้นครองราชย์สืบต่อจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ
การมีสถานะเป็นพระราชินีหรือ Queen ของสถาบันกษัตริย์อังกฤษนั้นมีเกร็ดที่น่ารู้คือ แม้ในประวัติศาสตร์อังกฤษจะมี Queen มาโดยตลอด แต่สถานะของ Queen แต่ละพระองค์ก็มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ ตำแหน่ง Queen จะแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ตำแหน่งสมเด็จพระราชินีนาถ (Queen Regnant) ซึ่งทรงมีสิทธิธรรมในการครองราชสมบัติ ทำให้ทรงมีพระราชอำนาจในการขึ้นครองราชย์โดยพระองค์เอง และมีสถานะเป็นกษัตริย์ผู้ปกครองและเป็นประมุขของประเทศ โดยปัจจุบันมี 6 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 1 (1553-1558) สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 (1558-1603) สมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 2 (1689-1694) สมเด็จพระราชินีนาถแอนน์ (1702-1714) สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (1837-1901) และสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (1952-ปัจจุบัน)
ส่วนอีกตำแหน่งหนึ่งคือ สมเด็จพระราชินี (Queen Consort) ซึ่งเป็นเพียงพระมเหสีของกษัตริย์ ไม่มีพระราชอำนาจในการปกครอง โดยพระราชินีส่วนใหญ่ในประวัติศาสตร์อังกฤษจะดำรงตำแหน่งนี้ อันเป็นตำแหน่งที่กษัตริย์ทรงสถาปนาขึ้นภายหลังจากทรงขึ้นครองราชย์ เช่น สมเด็จพระราชินีแมรีในพระเจ้าจอร์จที่ 5 หรือสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธในพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระมารดาในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ หรือที่เรียกว่า ‘The Queen Mother’ เป็นต้น
โดยทั่วไปแล้ว พระชายาหรือคู่สมรสของกษัตริย์อังกฤษมักจะได้รับการสถาปนาเป็นพระราชินีคู่สมรส (Queen Consort) ซึ่งจะได้รับการยกย่องและมีสถานะเป็นพระราชินีเคียงคู่กัน เว้นแต่กรณีของสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 2 (1689-1694) ซึ่งทรงเป็น Queen Regnant มีอำนาจและสถานะเคียงคู่กับพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 เนื่องจากทรงมีสถานะเป็นพระราชธิดาในพระเจ้าเจมส์ที่ 2 จึงทรงมีสิทธิเป็นกษัตริย์เคียงคู่กัน มิใช่เป็นเพียง Queen Consort
แต่ในกรณีของคามิลลานั้น เนื่องจากเรื่องราวในอดีตและการเปรียบเทียบกับเจ้าหญิงไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์พระองค์ก่อน ซึ่งทรงเป็นที่นิยมและยังคงอยู่ในความทรงจำของประชาชน ทำให้คามิลลาไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร ทำให้มีการคาดการณ์กันว่า เธอจะได้รับการแต่งตั้งเป็นเพียงเจ้าหญิงคู่สมรส (Princess Consort) เท่านั้น ซึ่งมีสถานะต่ำกว่า Queen Consort
การมีพระราชดำรัสของสมเด็จพระราชินีนาถในครั้งนี้จึงเป็นการสร้างความชัดเจนและให้การยอมรับคามิลลาให้มีสถานะเเละความสำคัญในราชวงศ์อังกฤษ และที่สำคัญที่สุดคือ พระราชดำรัสนี้ยังเป็นการยืนยันว่า เจ้าชายแห่งเวลส์จะเป็นผู้สืบทอดราชบัลลังก์อังกฤษต่อไปอย่างแน่นอน
“…And when, in the fullness of time, my son Charles become King, I know you will give him and his wife the same support that you have given me.”
เนื่องจากในระยะหลังมีกระแสเรียกร้องจากคนบางกลุ่มให้การสืบราชสมบัตินั้นข้ามเจ้าชายแห่งเวลส์ไป และให้เจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งเคมบริดจ์ พระราชนัดดาขึ้นครองราชย์แทน ด้วยเหตุที่ทรงได้รับความนิยมมากกว่า แต่เรื่องนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้สำหรับสถาบันกษัตริย์อังกฤษ ซึ่งยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติ
พระราชดำรัสในครั้งนี้นอกจากจะช่วยสร้างความชอบธรรมและให้การยอมรับคามิลลาแล้ว ยังเป็นการยืนยันถึงความชัดเจนในการสืบราชสมบัติอังกฤษอีกด้วย
อาจกล่าวได้ว่า สมเด็จพระราชินีนาถทรงมองการณ์ไกลและทรงดำเนินการต่างๆ อย่างรอบคอบ เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่สถาบันกษัตริย์อังกฤษ เพราะหากเสด็จสวรรคตไปก่อนโดยไม่มีการประกาศใดๆ แก่สาธารณชน ย่อมสร้างความวุ่นวายและอาจเกิดเหตุที่ไม่อาจรับมือได้
สำหรับสถาบันกษัตริย์ สิ่งหนึ่งซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งคือ การสร้างความแน่นอนหรือมีหลักประกันในการสืบราชสมบัติอย่างชัดเจน หากไม่มีการกำหนดหรือกล่าวถึงผู้จะได้รับราชสมบัติสืบต่อแล้ว สถาบันกษัตริย์ซึ่งเป็นระบบสืบทอดสายโลหิตย่อมไม่มีความมั่นคงและไม่อาจสร้างความเชื่อมั่นได้
ดังนั้นแล้วพระราชดำรัสในครั้งนี้จึงเป็นการยืนยันได้ถึงพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระราชินีนาถในการดำรงสถานะประมุขของชาติมาอย่างยาวนานถึง 70 ปี ทำให้การเฉลิมฉลองในครั้งนี้จึงมิได้เป็นเพียงการเฉลิมฉลองให้แก่พระองค์เท่านั้น หากแต่พระองค์ยังทรงใช้โอกาสนี้ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจครั้งสำคัญ เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่สถาบันกษัตริย์และประเทศอังกฤษด้วย
อาจกล่าวได้ว่าความยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระราชินีนาถนั้นหาได้เกิดจากตำแหน่งหรือการดำรงสถานะประมุขของชาติที่ยาวนานถึง 70 ปี เพียงอย่างเดียว หากแต่เกิดจากพระราชกรณียกิจและพระจริยวัตรที่ทรงถือปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างเคร่งครัด อีกทั้งความพร้อมในการปรับเปลี่ยนตนเองเมื่อเกิดวิกฤตหรือมีความจำเป็น จึงทำให้พระองค์ทรงเป็นประมุขผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสำหรับชาวอังกฤษและชาวโลกด้วย และไม่อาจปฏิเสธได้ว่า หากพูดถึง ‘Queen’ ชื่อแรกที่คนส่วนใหญ่ทั่วโลกนึกถึงย่อมจะต้องเป็น ‘สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2’ อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม การรักษาความยิ่งใหญ่ของสถาบันกษัตริย์อังกฤษและการดำรงคงอยู่ของสถาบันดังกล่าวภายหลังการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ท้าทายสำหรับเจ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ และคามิลลา ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ ว่าที่กษัตริย์และพระราชินีแห่งอังกฤษในอนาคตอันใกล้นี้
อ้างอิง: