×

เล่าด้วยภาพ 70 ปี เหตุการณ์สำคัญบนราชบัลลังก์ของ ‘ควีนเอลิซาเบธที่ 2’

โดย THE STANDARD TEAM
04.06.2022
  • LOADING...
ควีนเอลิซาเบธที่ 2

จากเจ้าหญิง ‘เอลิซาเบธ อเล็กซานดรา แมรี วินด์เซอร์’ พระธิดาองค์โตในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 สู่การเสด็จขึ้นครองราชบัลลังก์แห่งสหราชอาณาจักรอย่างไม่คาดฝัน ด้วยพระชนมายุ 25 พรรษา พระองค์กลายเป็น ‘สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2’ ผู้ทรงมีบทบาทในการนำพาประเทศ และเป็นประจักษ์พยานต่อการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญในยุคสมัยต่างๆ 

 

ตลอดระยะเวลากว่า 70 ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็นสมเด็จพระราชินีผู้เด็ดเดี่ยวและแน่วแน่ ทรงเป็นทั้ง ‘พระราชมารดา’ และเป็น ‘สมเด็จย่าแห่งชาติ’ ผู้เป็นที่รักยิ่งของพสกนิกรแห่งสหราชอาณาจักร

 

ช่วงเวลาที่ผ่านมา พระองค์ได้รับการถวายการรับใช้ จากนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรทั้งสิ้น 14 คน และทรงได้พบกับประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ 13 คน อีกทั้งยังทรงเผชิญกับเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมือง ตั้งแต่การล่มสลายของจักรวรรดิอังกฤษ ไปจนถึงการถือกำเนิดขึ้นของยุคโลกาภิวัตน์ ตลอดจนเรื่องราวทั้งดีและร้ายของราชวงศ์สหราชอาณาจักร ซึ่งพระองค์ยังทรงยืนหยัดอย่างมั่นคง และเป็นขวัญกำลังใจในการนำพาประเทศชาติผ่านพ้นวิกฤตและความไม่แน่นอนจวบจนปัจจุบัน

 

เนื่องในวโรกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติ (Platinum Jubilee) THE STANDARD รวบรวมเรื่องราวและภาพเหตุการณ์สำคัญๆ ในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มาไว้ที่นี่

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง: 

 


 

ควีนเอลิซาเบธที่ 2

 

1947: เจ้าหญิงเอลิซาเบธ ผู้อุทิศตนปฏิบัติพระกรณียกิจเพื่อปวงชน

ในวัย 21 ปี เจ้าหญิงเอลิซาเบธ ที่ทรงอยู่ระหว่างการเสด็จเยือนแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอังกฤษในขณะนั้น ทรงมีพระดำรัสต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกๆ และมีการกระจายเสียงทางวิทยุจากเมืองเคปทาวน์ โดยพระองค์ตรัสว่า “ข้าพเจ้าขอประกาศต่อหน้าท่านว่า ตลอดชีวิตไม่ว่าจะยาวหรือสั้น จะต้องอุทิศให้กับการรับใช้พวกท่าน (ประชาชน) และรับใช้ราชวงศ์จักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ของเรา ซึ่งเราทุกคนรวมอยู่ด้วย”  

 

ภาพ: Topical Press Agency / Hulton Archive / Getty Images

 


 

ควีนเอลิซาเบธที่ 2

 

1953: เสด็จขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการ

เส้นทางสู่ราชบัลลังก์ของเจ้าหญิงเอลิซาเบธ รัชทายาทในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ถูกเร่งให้เร็วขึ้น โดยการสละราชสมบัติของพระปิตุลาของพระองค์ และการเสด็จสวรรคตของพระราชบิดา พระองค์กลายเป็นราชินีในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1952 ขณะมีพระชนมายุ 25 พรรษา และพระชนมายุ 27 พรรษา ในช่วงที่มีพระราชพิธีราชาภิเษกอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายนปี 1953 

 

ภาพ: Hulton Archive / Getty Images

 


 

ควีนเอลิซาเบธที่ 2

 

1957: เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการครั้งแรก

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะ เหนือจากการเสด็จพระราชดำเนินเยือนเครือจักรภพอังกฤษ พระองค์ยังช่วยกระชับความสัมพันธ์กับบรรดาชาติพันธมิตรและเสริมสร้างความสัมพันธ์อันราบรื่นในหลายประเทศ เช่น อินเดีย รัสเซีย แอฟริกาใต้ และไอร์แลนด์

 

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเคยเสด็จไปพบประธานาธิบดีแฮร์รี เอส. ทรูแมน ของสหรัฐฯ ในปี 1951 เมื่อครั้งทรงเป็นเจ้าหญิง แต่ได้เสด็จเยือนสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกในฐานะสมเด็จพระราชินีในปี 1957 โดยได้พบกับประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ เพื่อเฉลิมฉลองวันครบรอบ 350 ปี ของการตั้งถิ่นฐานถาวรครั้งแรกของอังกฤษที่เมืองเจมส์ทาวน์ รัฐเวอร์จิเนีย

 

ภาพ: Keystone / Getty Images

 


 

ควีนเอลิซาเบธที่ 2

 

1957: ตรัสสุนทรพจน์วันคริสต์มาสออกอากาศทางโทรทัศน์ครั้งแรก

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ไม่เคยพระราชทานสัมภาษณ์มาก่อน แต่พระองค์พบวิธีเชื่อมต่อกับอาณาประชาราษฎร์ด้วยการตรัสสุนทรพจน์ ส่งข้อความอวยพรในวันคริสต์มาสผ่านทางโทรทัศน์ ซึ่งกลายเป็นส่วนสำคัญของประเพณีในวันคริสต์มาสของอังกฤษ 

 

โดยในฐานะประมุขแห่งรัฐและประมุขแห่งคริสตจักรแห่งอังกฤษ พระองค์ทรงใช้ถ้อยคำแห่งปัญญา ศรัทธา และแฝงด้วยความคิดส่วนพระองค์ในบางครั้ง

 

“ฉันไม่สามารถนำคุณเข้าสู่การต่อสู้ ฉันไม่ได้ให้กฎหมายหรือความยุติธรรมแก่คุณ แต่ฉันสามารถทำอย่างอื่นได้ ฉันสามารถมอบหัวใจและความทุ่มเทของฉันให้แก่หมู่เกาะเก่าแก่เหล่านี้ และแก่ประชาชนทุกชนชาติในกลุ่มภราดรภาพของเรา” สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงตรัสในสุนทรพจน์คริสต์มาสที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ครั้งแรกในปี 1957

 

ภาพ: PA Images via Getty Images

 


 

ควีนเอลิซาเบธที่ 2

 

1963-1965: กระแสความนิยมวง The Beatles มาถึงวังบักกิงแฮม

หนึ่งในช่วงเวลาทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น ในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 คือการที่วง The Beatles วงร็อกแอนด์โรลชื่อดังแห่งยุคจากเมืองลิเวอร์พูล ได้ไปเยือนพระราชวังบักกิงแฮม ในกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 1965 โดยมีแฟนเพลงผู้คลั่งไคล้หลายพันคนไปเฝ้ารอดู สมาชิกหลักของวงทั้ง จอห์น เลนนอน, พอล แม็กคาร์ตนีย์, จอร์จ แฮริสัน และ ริงโก สตาร์ ที่เดินทางไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 

 

โดยพระองค์ทรงสวมชุดสีทองอ่อน มอบเหรียญเกียรติยศให้กับไอคอนแห่งวัฒนธรรมป๊อปของอังกฤษ ซึ่งแม็กคาร์ตนีย์กล่าวหลังการเข้าเฝ้าว่า “พระองค์ทรงเป็นกันเองมาก พระองค์เป็นเหมือนแม่ของพวกเรา” 

 

ขณะที่สี่ปีต่อมา เลนนอนจะคืนเหรียญเกียรติยศของเขา เพื่อเป็นการประท้วงที่อังกฤษสนับสนุนสงครามสหรัฐฯ ในเวียดนามและการมีส่วนร่วมในสงครามกลางเมืองไนจีเรีย

 

ภาพ: George Freston / Fox Photos / Getty Images

 


 

ควีนเอลิซาเบธที่ 2

 

1966: เหตุภัยพิบัติเหมืองอะเบอร์ฟาน

หนึ่งในเหตุการณ์ที่กลายเป็นช่วงเวลาแห่งการสูญเสียของชาติ และเกิดขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 คือเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เหมืองอะเบอร์ฟาน (Aberfan) เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 1966 โดยเศษถ่านหินจำนวนมหาศาลถล่มลงมาจากภูเขาที่เปียกโชกไปด้วยฝน ก่อนจะไหลบ่าผ่านเมืองอะเบอร์ฟาน และคร่าชีวิตประชาชนไป 144 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กๆ ที่อยู่ในโรงเรียน

 

โดยในระหว่างที่ทั้งประเทศกำลังไว้อาลัยต่อโศกนาฏกรรมนี้ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ จากการที่รอถึงแปดวันก่อนจะเสด็จไปเยือนสถานที่เกิดภัยพิบัติ ซึ่งเป็นการตัดสินพระทัยที่พระองค์ตรัสว่า เสียพระทัย

 

ภาพ: Stan Meagher / Express / Getty Images

 


 

ควีนเอลิซาเบธที่ 2

 

1969: การเยือนของนักบินอวกาศ Apollo 11

การสำรวจอวกาศนั้นถูกจัดอยู่ในอันดับที่สูงในหมวดหมู่ของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

 

หลังการสร้างประวัติศาสตร์ของยาน Apollo 11 ที่ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้เป็นครั้งแรก 3 นักบินอวกาศชาวอเมริกัน ได้แก่ นีล อาร์มสตรอง, ไมเคิล คอลลินส์ และ บัซ อัลดริน ได้เข้าร่วมทัวร์สันถวไมตรีทั่วโลก และได้ไปเยือนพระราชวังบักกิงแฮม เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 1969

 

โดยอาร์มสตรองเปิดเผยในภายหลังว่า เขาป่วยมากในวันนั้น และคิดว่าจะไม่ไปเยือนพระราชวังบักกิงแฮมในตอนแรก แต่สุดท้ายเขาก็ไปและจบลงด้วยการไอต่อหน้าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ขณะที่อัลดรินเปิดเผยในโพสต์ทางทวิตเตอร์เมื่อปี 2016 ว่า คอลลินส์เกือบตกบันไดเพราะพยายามจะไม่หันหลังให้พระองค์

 

ภาพ: Getty Images

 


 

ควีนเอลิซาเบธที่ 2

 

1970: การเดินพบปะพสกนิกรครั้งแรกของสมาชิกราชวงศ์

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงทำลายประเพณีที่มีมาหลายศตวรรษ โดยแทนที่จะทรงโบกพระหัตถ์จากระยะไกล พระองค์ทรงเดินเข้าไปทักทายพสกนิกรอย่างใกล้ชิด ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ในปี 1970 

 

โดยภาพอันน่าประทับใจเกิดขึ้น หลังสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในฉลองพระองค์สีเหลืองมะนาว พร้อมด้วยพระมาลาอันเป็นเอกลักษณ์และมีกระเป๋าถือในพระหัตถ์ ทรงพระดำเนินผ่านถนนในนครซิดนีย์ พร้อมทั้งยิ้มและตรัสกับพสกนิกรที่ไปเฝ้ารอรับเสด็จ

 

ซึ่งตั้งแต่นั้นมา ‘การเดินทักทายพสกนิกร’ ก็ได้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับสมาชิกราชวงศ์หลายพระองค์

 

ภาพ: Keystone / Hulton Archive / Getty Images

 


 

ควีนเอลิซาเบธที่ 2

 

1981: พิธีเสกสมรสของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์และไดอานา

ช่วงเวลาที่คึกคักที่สุดช่วงหนึ่งของครอบครัวสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เริ่มต้นด้วยพิธีเสกสมรสของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์และไดอานา สเปนเซอร์ ในวันที่ 29 กรกฎาคม 1981 

 

โดยประชาชนมากถึงหนึ่งล้านคนพยายามที่จะไปเฝ้ารอดูขบวนแห่ระหว่างพิธีในใจกลางกรุงลอนดอน ขณะที่ BBC ประเมินว่า มีผู้ชมการถ่ายทอดสดพิธีผ่านทางโทรทัศน์ทั่วโลกราว 750 ล้านคน

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไดอานาจะเป็นที่รักในฐานะ ‘เจ้าหญิงของประชาชน’ แต่ก็มีปัญหาในชีวิตคู่กับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ โดยมีการกล่าวหาอีกฝ่ายว่าไม่ซื่อสัตย์ ก่อนจะแยกทางกันในปี 1992 ซึ่งเป็นปีที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เรียกว่า ‘แอนนัส ฮอริบิลิส’ (Annus Horribilis หรือ ‘ปีแห่งความหายนะ’ ในภาษาละติน) เนื่องจากเกี่ยวข้องกับหลายเหตุการณ์ ทั้งการสิ้นสุดชีวิตคู่ของเจ้าชายแอนดรูว์ พระราชโอรส และการหย่าร้างของเจ้าหญิงแอนน์ พระราชธิดา ตลอดจนเหตุการณ์ไฟไหม้ที่ปราสาทวินด์เซอร์

 

ภาพ: Terry Fincher / Princess Diana Archive / Getty Images

 


 

ควีนเอลิซาเบธที่ 2

 

1986: ราชวงศ์อังกฤษเสด็จเยือนจีนครั้งแรก

เดือนตุลาคมปี 1986 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 กลายเป็นสมาชิกราชวงศ์อังกฤษพระองค์แรกที่เสด็จเยือนประเทศจีน โดยการเสด็จพระราชดำเนินเยือนครั้งนี้ ถูกมองว่าเป็นส่วนสำคัญของความพยายามทางการทูตของสหราชอาณาจักร ในขณะที่เตรียมจะคืนฮ่องกงให้อยู่ภายใต้การปกครองของจีน

 

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ยังได้เสด็จไปทอดพระเนตรกำแพงเมืองจีน ตลอดจนหุ่นนักรบดินเผาที่เพิ่งค้นพบใหม่และได้พบกับ เติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำจีนในขณะนั้นด้วย 

 

ภาพ: Tim Graham Picture Library / Getty Images 

 


 

ควีนเอลิซาเบธที่ 2

 

1996: เป็นเจ้าภาพต้อนรับ เนลสัน แมนเดลา

ประธานาธิบดีเนลสัน แมนเดลา แห่งแอฟริกาใต้ เดินทางถึงอังกฤษในเดือนกรกฎาคมปี 1996 เพื่อปฏิบัติภารกิจการเยือนประเทศอดีตเจ้าอาณานิคมของเขาอย่างเป็นทางการเป็นเวลา 4 วัน และได้แถลงต่อรัฐสภาอังกฤษ โดยประณามการเหยียดเชื้อชาติว่าเป็น “การทำลายจิตสำนึกของมนุษย์”

 

ในการเดินทางครั้งนั้น แมนเดลาและสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้พัฒนาความประทับใจซึ่งกันและกันอย่างยาวนาน พระองค์ทรงต้อนรับแมนเดลาที่พระราชวังบักกิงแฮม และพาเขานั่งรถม้าผ่านใจกลางลอนดอน ซึ่งในงานปาร์ตี้ที่รอยัล อัลเบิร์ต ฮอลล์ แมนเดลายังได้เต้นรำกับสมเด็จพระราชินี แม้ว่าปกติแล้วพระองค์มักจะไม่เต้นรำในที่สาธารณะ

 

ภาพ: Tom Stoddart / Getty Images

 


 

ควีนเอลิซาเบธที่ 2

 

1997: การสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงไดอานา

ข่าวการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงไดอานา ในอุบัติเหตุรถชนที่กรุงปารีส ของฝรั่งเศส สร้างความตกตะลึงไปยังทั่วโลก และทำให้ครอบครัวราชวงศ์อังกฤษตกเป็นเป้าการตรวจสอบจากประชาชน

 

โดยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์จากความล่าช้าในการแสดงท่าทีต่ออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเจ้าหญิงไดอานา ซึ่งไม่กี่วันหลังเกิดเหตุ พระองค์ตรัสกับพสกนิกรทั้งประเทศในการถ่ายทอดสดจากพระราชวังบักกิงแฮม โดยตรัสว่า “ไม่มีใครที่รู้จักไดอานาจะลืมเธอได้ อีกหลายล้านคนที่ไม่เคยพบเธอ แต่รู้สึกว่าพวกเขารู้จักเธอ จะจดจำเธอ” พร้อมตรัสเสริมว่า “เราทุกคนต่างพยายามรับมือกับเรื่องนี้ด้วยวิธีที่ต่างกัน”

 

ภาพ: John Shelley Collection / Avalon / Getty Images

 


 

ควีนเอลิซาเบธที่ 2

 

2012: ลอนดอนโอลิมปิก

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ผู้เงียบขรึม ทรงสร้างความประหลาดใจต่อผู้ชมในมหกรรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงลอนดอน ในปี 2012 โดยทรงปรากฏพระองค์ในช่วงพิธีเปิดเคียงข้าง เจมส์ บอนด์ ตัวละครจากภาพยนต์สายลับที่โด่งดังที่สุดของอังกฤษ ซึ่งแสดงโดย แดเนียล เคร็ก

 

โดยคลิปวิดีโอแสดงให้เห็น เจมส์ บอนด์ 007 มาที่พระราชวัง เพื่อพาสมเด็จพระราชินีไปยังพิธีเปิด ซึ่งทั้งสองดูเหมือนจะกระโดดร่มลงจากเฮลิคอปเตอร์เข้าไปยังสนามกีฬาโอลิมปิก ท่ามกลางเสียงปรบมือจากแฟนๆ ที่ตกใจ ในขณะที่สมเด็จพระราชินีตัวจริง ซึ่งมีพระพักตร์เงียบขรึมเหมือนเคย ได้เข้าไปยังที่ประทับของพระองค์ 

 

ภาพ: Pool / Getty Images

 


 

ควีนเอลิซาเบธที่ 2

 

2020: การเอาใจออกห่างของเจ้าชายแฮร์รี และเมแกน มาร์เคิล

พิธีเสกสมรสระหว่างเจ้าชายแฮร์รีกับนักแสดงหญิงชาวอเมริกัน เมแกน มาร์เคิล ในปี 2018 เป็นงานระดับโลกที่ทำให้เกิดคำถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่การมีบุคคล 2 เชื้อชาติ และมักเคลื่อนไหวทางการเมือง ตลอดจนอ้างตัวเป็นสตรีนิยม เข้าร่วมเป็นสมาชิกราชวงศ์ จะช่วยให้ราชวงศ์อังกฤษมีความทันสมัยมากขึ้นได้

 

แต่ในปี 2020 แฮร์รีและเมแกนประกาศว่า พวกเขารู้สึกว่าถูกสื่อไล่ล่าและจะถอนตัวจากพระราชกรณียกิจต่างๆ ของพวกเขา ซึ่งสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็นตัวแทนที่ยืนยันการแยกตัวของทั้งคู่ออกจากครอบครัวราชวงศ์ ด้วยการเขียนลงในแถลงการณ์ว่า “แม้ว่าเราจะต้องการให้พวกเขาดำรงตำแหน่งสมาชิกราชวงศ์ที่ทำงานเต็มเวลา แต่เราเคารพและเข้าใจความปรารถนาของพวกเขาที่จะมีชีวิตที่เป็นอิสระมากขึ้นในฐานะครอบครัว ในขณะที่ยังคงเป็นส่วนสำคัญของครอบครัวของฉัน”

 

ภาพ: Chris Jackson / Getty Images

 


 

ควีนเอลิซาเบธที่ 2

 

2021: เจ้าชายฟิลิปสิ้นพระชนม์

ในวันที่ 9 เมษายน 2021 เป็นอีกวันแห่งความเศร้าโศกของสมาชิกราชวงศ์อังกฤษ หลังสำนักพระราชวังบักกิงแฮมประกาศข่าวการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายฟิลิป 

 

พิธีพระศพของพระองค์จัดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด ทำให้มีเพียงสมาชิกครอบครัวราชวงศ์และพระสหายที่ใกล้ชิดเท่านั้นที่ได้เข้าร่วม โดยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ประทับเพียงลำพังบนพระที่นั่งภายในโบสถ์ และทรงสวมหน้ากากอนามัยสีดำเพื่อป้องกันการระบาดตามมาตรการของรัฐ

 

ขณะที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าชายฟิลิปมา 73 ปี โดยสมเด็จพระราชินี ซึ่งเจ้าชายฟิลิปเรียกด้วยความรักว่า ‘ลิลิเบธ’ พรรณนาถึงเจ้าชายฟิลิปว่าเป็น “พละกำลังและการคงอยู่” ของพระองค์

 

ในการตรัสข้อความวันคริสต์มาสในปีนั้น พระองค์ตรัสด้วยความระลึกถึงเจ้าชายฟิลิปว่า “แววตาเจ้าเล่ห์และสงสัยของเขานั้นเจิดจ้าในท้ายที่สุด เหมือนกับตอนที่ฉันมองดูเขาครั้งแรก” และตรัสเสริมว่า “แต่แน่นอนว่าชีวิตนั้นประกอบไปด้วยการจากลาครั้งสุดท้ายและการพบกันครั้งแรก”

 

ภาพ: Dominic Lipinski – WPA Pool / Getty Images

 


 

ควีนเอลิซาเบธที่ 2

 

2022: ฉลองครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี (Platinum Jubilee)

ขบวนพาเหรด งานปาร์ตี้ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ จะมีขึ้นในระหว่างการเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี หรือการครองราชย์ครบรอบแพลทินัม (Platinum Jubilee) ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ระหว่างวันที่ 2- 5 มิถุนายนนี้ โดยเป็นการเฉลิมฉลองในฐานะประมุขแห่งราชวงศ์อังกฤษพระองค์แรกและพระองค์เดียว ที่ครองราชย์ถึง 70 ปี 

 

โดยอนุสาวรีย์สำคัญๆ ในลอนดอนและเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ มีการประดับตกแต่งและติดธงชาติอย่างสวยงาม ซึ่งเป็นบรรยากาศของความคึกคักและการเฉลิมฉลองที่จะเกิดขึ้น 

 

ภาพ: Max Mumby / Indigo / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X