×

กทม. หารือนโยบายด้านคนพิการ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต 5 ด้าน ให้เกิดรูปธรรม

โดย THE STANDARD TEAM
18.03.2023
  • LOADING...
คุณภาพชีวิตคนพิการ

วานนี้ (17 มีนาคม) ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายด้านคนพิการของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ครั้งที่ 1/2566 เพื่อติดตามการดำเนินงานนโยบาย 5 ด้าน ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ได้แก่ ด้านสุขภาพดี ด้านเรียนดี ด้านเศรษฐกิจดี ด้านเดินทางดี และด้านบริหารจัดการดี 

 

ศานนท์กล่าวภายหลังการประชุมว่า งานด้านคนพิการไม่ใช่งานที่สำนักพัฒนาสังคมทำเพียงหน่วยงานเดียว เพราะครอบคลุมหลายด้าน ฉะนั้นการประชุมเรื่องคนพิการจึงต้องมีหลายสำนัก ซึ่งเราได้ 5 อนุกรรมการที่ทำงานเกี่ยวข้องกับนโยบาย 5 ด้าน 5 ดี สำหรับการประชุมวันนี้มีประเด็นสำคัญคือ

 

ในด้านเศรษฐกิจดี กฎหมายกำหนดให้มีการจ้างงานคนพิการในองค์กร 1% ของบุคลากร สำหรับหน่วยงานของ กทม. 1% คือ 600 กว่าคน ซึ่งตอนนี้ กทม. มีการจ้างงานคนพิการแล้วกว่า 300 คน โดยปัญหาคอขวดคือคนพิการเดินทางมาทำงานยาก จึงมีการแก้ไขให้คนพิการ Work from Home ได้ภายในเดือนมีนาคมนี้ 

 

อย่างที่สองจะมีระบบ Live Chat Agent ซึ่งพัฒนามาตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว โดยมี Start-up มานำเสนอโครงการที่อยากให้คนพิการได้ทำงาน รูปแบบคล้าย Customer Service ให้ กทม. ซึ่งมี 50 สำนักงานเขต 17 สำนัก แต่ละหน่วยงานมีหลายช่องทางสื่อสาร โดย Live Chat Agent ได้นำทุกช่องทางมารวมในระบบแชตเดียว และทำการฝึกคนพิการให้มีการตอบคำถามประชาชนผ่านแชตได้ โดยระบบจะเสร็จภายในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งจะปลดล็อกอย่างแรกคือ Work from Home อย่างที่สองคือเราสามารถจ้างคนพิการได้อย่างมีความหมาย เพราะที่ผ่านมามีการจ้างคนพิการแล้วไม่มีงานที่ชัดเจนให้ทำ แต่ระบบนี้จะมีตัวงานที่ชัดเจนให้ทำ ทั้งยังต่อยอดทักษะพิเศษของคนพิการบางคนไปสู่การเขียนโค้ด หรือนักพัฒนาได้

 

ศานนท์ยังได้กล่าวต่อถึงนโยบายด้านเดินทางดี ว่าก่อนหน้านี้ได้มอบนโยบายให้ปรับปรุงด้านการเดินทางของคนพิการในส่วนต่างๆ ให้เป็น Universal Design แต่หลายๆ ที่ไม่ใช่ที่ของ กทม. จึงปรับปรุงยาก จึงสรุปให้ทำพื้นที่เดียวอย่างเต็มรูปแบบเพื่อเป็นโมเดล โดยเลือกโซนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิตีวงเป็นบล็อกใหญ่ไปเขตพญาไท และราชเทวี เพราะบริเวณนี้มีคนพิการอาศัยอยู่มาก รวมถึงหน่วยงานต่างๆ เช่น โรงพยาบาล ทำให้เป็น Universal Design ให้ได้ภายในปี 2567 

 

“การพัฒนาระบบฐานข้อมูลคนพิการ กทม. เพื่อการเข้าถึงสิทธิและคุณภาพชีวิต โดย LINE OA ‘Bangkok For ALL’ สิ่งสำคัญคือต้องสร้างชุมชนของคนพิการให้ได้ โดยจะเพิ่มสิทธิประโยชน์จากการเข้าใช้ LINE OA อาทิ การเชื่อมต่อแอปพลิเคชัน ‘หมอกทม.’ การจองคิวโรงพยาบาล การสมัครงานของ กทม. โดยตั้งเป้าให้มีผู้ใช้ 4,000 คนภายในปีนี้”  ศานนท์กล่าว

 

ในส่วนนโยบายด้านเรียนดีของคนพิการ ศานนท์กล่าวว่า สำหรับคนพิการปัจจุบันมี 2 แนวคิดคือ เรียนร่วมกับเรียนรวม ซึ่งเรียนร่วมคือนำเด็กไปรวมกันไว้ในโรงเรียนเดียวกัน แต่เรียนรวมคือนำเด็กไปอยู่ในห้องเรียนเดียวกัน เพราะคนพิการอยากเรียนรวมไม่ได้ต้องการเรียนร่วม เพราะเรียนร่วมทำให้เขารู้สึกเหมือนเป็นประชาชนชั้นสอง แต่การจะไปสู่เรียนรวมได้นั้นข้อจำกัดคือไม่มีครูเฉพาะดูแล 

 

โดยอย่างแรกจะทำให้ครูทุกคนในโรงเรียนเรียนร่วมของ กทม. เป็นครูการศึกษาพิเศษได้ด้วย เพราะปัจจุบันครูการศึกษาพิเศษสำหรับคนพิการต้องจ้างแยก แต่แนวคิดนี้คือทำให้ครูทุกคนเข้าใจการดูแลเด็กพิการทั้ง 158 โรงเรียนเรียนร่วม ที่มีครูประมาณ 6,800 คน และจะมีการอบรมครูทั้งหมดภายในปีนี้

 

อย่างที่สองคือต้องมีพี่เลี้ยงผู้พิการ ซึ่งตอนนี้กำลังดูเรื่องอัตราส่วนระหว่างพี่เลี้ยงกับเด็กนักเรียนพิการว่าควรจะเป็นเท่าไร รวมถึงการจ้างลูกจ้างที่ปัจจุบันจำกัดว่าต้องเป็นข้าราชการเท่านั้น

 

อย่างที่สาม คือจัดคอร์สอบรมครูการศึกษาพิเศษของ กทม. เอง ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้ กทม. ได้ครูการศึกษาพิเศษเพิ่มขึ้นสำหรับนักเรียน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X