เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขนาด 8.4 ที่มีศูนย์กลางอยู่ใกล้เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ห่างจากอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประมาณ 320 กิโลเมตร แรงสั่นสะเทือนสามารถรับรู้ได้ในประเทศไทย รวมถึงกรุงเทพมหานคร จนนำไปสู่ความเสียหายต่ออาคารและสิ่งปลูกสร้างจำนวนมาก โดยเฉพาะการถล่มของอาคารสำนักงานสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง
ไม่เพียงแค่ความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิตของผู้คนหลายราย แผ่นดินไหวครั้งนี้ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในหลายแง่มุม รวมทั้งความเชื่อมั่นของผู้คนในหลายด้าน และปมปัญหาคอร์รัปชันที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกต
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผ่านการแถลง BOT Monthly Briefing ภาวะเศรษฐกิจและการเงิน เดือนกุมภาพันธ์ 2568 โดย ปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ระบุว่า ตัวเลขผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวล่าสุด ยังเร็วเกินไปที่จะประเมิน โดยยังเห็นตัวเลขความเสียหายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก รวมทั้งความเชื่อมั่นที่ลดลง ซึ่งอาจกระทบต่อหลายอุตสาหกรรม เช่น การท่องเที่ยว หลังจากมีภาพข่าวที่ค่อนข้างรุนแรง อาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวยกเลิกหรือชะลอการเดินทางมาไทย
อย่างไรก็ตาม “ไม่เห็นการยกเลิกการเดินทางเพิ่มมากขึ้นอย่างผิดปกติ”
ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์อาจเห็นการชะลอการเช่าและซื้ออาคารสูง จากเดิมที่ภาคอสังหาฟื้นตัวได้ช้าอยู่แล้วจากอุปทานคงค้าง ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นการซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่เดิม
ส่วนการบริโภคภาคเอกชนน่าจะชะลอในระยะสั้น เพราะประชาชนบางส่วนต้องใช้เงินในการซ่อมสร้าง หลังจากนั้นสภาพคล่องจะกลับมาได้บ้างจากการเคลมประกัน และมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ
“รายได้ประชาชนยังไม่ได้ถูกกระทบในวงกว้าง ธุรกิจยังไม่ได้หยุดชะงัก และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ยังค่อนข้างปกติ ทำให้การบริโภคจะฟื้นตัวได้หลังจากนี้”
ด้าน บล.เอเซียพลัส ระบุว่า ประเทศไทยเคยเกิดเหตุภัยพิบัติ 3 ครั้งใหญ่ ได้แก่ เหตุการณ์สึนามิ, น้ำท่วมใหญ่ และแผ่นดินไหวเชียงราย หากย้อนรอยเศรษฐกิจไทยในช่วงนั้นจะเห็นได้ว่าทั้ง 3 เหตุการณ์ส่งผลลบให้เศรษฐกิจราว 4.55 แสนล้านบาท, 1.4 ล้านล้านบาท และ 2.2 พันล้านบาทตามลำดับ
โดยแผ่นดินไหวครั้งนี้หอการค้าคาดว่าจะฉุดเศรษฐกิจไทยระยะสั้น ประเมินความเสียหายราว 3-5 พันล้านบาท กระทบ GDP ราว 0.025% อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าหากเหตุการณ์คลี่คลายลง เศรษฐกิจไทยก็พร้อมฟื้นตัวขึ้นทันที
แรงกระแทกในตลาดหุ้น
อีกหนึ่งผลกระทบที่เห็นได้ชัดในวันนี้คือแรงเทขายในตลาดหุ้นไทย ส่งผลให้ดัชนี SET เปิดตลาดร่วงลงไปราว 20 จุด จนดัชนีร่วงไปแตะ 1,155.05 จุด ก่อนที่ระหว่างวันจะฟื้นตัวกลับมาได้เล็กน้อย
โดยหุ้นกลุ่มอสังหาเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ถูกเทขายอย่างหนักในวันนี้ อาทิ AP -12%, ANAN -11%, ORI -10%, NOBLE -9% และ PF -9%
บล.เอเซียพลัส ระบุต่อว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้คล้ายคลึงกับการเกิดสึนามิเมื่อปี 2547 มากกว่าการเกิดอุทกภัยปี 2554 เนื่องด้วยการเกิดอุทกภัยปี 2554 ช่วงเวลาที่เกิดต่อเนื่องนานถึง 5 เดือน
ทั้งนี้ เหตุการณ์สึนามิปี 2547 ดัชนี SET ปรับตัวลงเพียง 3 วันแรกเท่านั้น และหลังจากนั้นจะทยอยฟื้นตัวขึ้นในช่วง 1-3 เดือน ตามกระแสเงินลงทุนต่างชาติที่ทยอยไหลเข้าซึ่งต้องติดตามว่าการตื่นตระหนกขาย (Panic Sell) ครั้งนี้จะคล้ายกับเหตุการณ์ในอดีตหรือไม่ เนื่องด้วยปริมาณการซื้อขายขณะนี้เบาบางกว่าในอดีต
อสังหาสั่นสะเทือน
บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเป็นผลเชิงลบต่อผลการดำเนินงานต่อกลุ่มอสังหาทั้งกลุ่ม และกระทบต่อผลการดําเนินงานในอนาคตด้วยปัจจัยต่างๆ ดังนี้
- ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของผู้พัฒนาโครงการเนื่องจากบางโครงการอาจไม่มีการรับประกัน ส่งผลให้ผู้พัฒนาต้องรับผิดชอบในการซ่อมแซมอาคาร
- เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้ซื้อ และทำให้ผู้ซื้อชะลอการตัดสินใจซื้อ โดยเฉพาะโครงการที่เป็นคอนโดมิเนียม
- ยอดขายปีนี้มีโอกาสพลาดเป้าจากทั้งการตัดสินใจเลื่อนเปิดโครงการเพื่อเพิ่มมาตรฐานการออกแบบโครงการให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น และการชะลอการตัดสินใจซื้อโครงการแนวสูง
- การแข่งขันด้านราคาที่ยังดุเดือดเพื่อเพิ่มยอดขายในช่วงที่ตลาดอ่อนแอ กดดันอัตรากำไร
ทั้งนี้ ประเมินว่าหุ้นที่ได้ประโยชน์คือหุ้นที่มีสัดส่วนโครงการแนวราบสูง อาทิ QH และ LH ขณะที่ AP และ SPALI มีโครงการรอขายเป็นแนวราบอยู่มาก ส่วน CPN โครงการคอนโดมิเนียมพร้อมโอนส่วนใหญ่อยู่ในต่างจังหวัด จะได้รับผลกระทบจำกัด
ขณะที่ ANAN, SC และ ORI มีสัดส่วนโครงการจากคอนโดมิเนียมค่อนข้างสูง และสัดส่วนรายได้และโครงการส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพ อาจจะได้รับแรงกดดันมากกว่า
ด้าน พีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ (ORI) เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า เหตุการณ์ครั้งนี้คล้ายกับเหตุการณ์น้ำท่วม แต่ผลอาจจะกลับด้านกัน คือครั้งน้ำท่วมใหญ่บ้านจัดสรรได้รับผลกระทบ ทำให้คนสลับมาซื้อคอนโดมิเนียม ก่อนที่อีก 4-6 เดือนจะมาปกติ
ครั้งนี้คอนโดมิเนียมสูงในกรุงเทพได้รับกระทบ แต่คอนโดมิเนียม 8 ชั้น และคอนโดมิเนียมต่างจังหวัด เช่น ระยอง ภูเก็ต รวมทั้งบ้านจัดสรรไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
“ดีมานด์อาจตกไปบ้าง คิดว่า 3-4 เดือนหลังจากนั้นคงกลับไปปกติ หาไม่มีอาฟเตอร์ช็อกรุนแรง โดยโครงการส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมเสียหายเฉพาะการตกแต่งภายนอก คงใช้เวลาซ่อมและเคลมประกัน 1-2 เดือน”
สำหรับธุรกิจของ ORI ปัจจุบัน มีสัดส่วนกำไรจากคอนโดมิเนียมราว 1 ใน 3 นอกจากนี้ยังมีธุรกิจบ้านจัดสรรผ่าน BRI ปัจจุบันมีโครงการรอโอน 4-5 พันล้านบาท สร้างแล้วเสร็จ 3 พันล้านบาท และยังมีธุรกิจอื่นๆ เช่น บริการหลังการขาย โรงแรม คลังสินค้า
“ผู้ประกอบการอสังหาที่มีพอร์ตหลากหลายจะได้รับผลกระทบน้อย ส่วนผลประกอบการปีนี้คาดว่าจะไม่ต้องปรับมาก อาจกระทบแค่ 5-10% หรือถ้าความเชื่อมั่นกลับมาได้เร็วอาจไม่กระทบเลย โดยคาดว่าผลประกอบการปีนี้จะเติบโตได้กว่า 50% (หลังจากชะลอตัวเมื่อปีก่อน) หลังจากนี้คาดว่าผู้ประกอบการเจ้าใหญ่จะโหมไปที่บ้านจัดสรร”
ความเชื่อมั่นในตลาดบอนด์
ส่วนผลกระทบต่อตลาดหุ้นกู้ พีระพงศ์ยอมรับว่าหุ้นกู้ที่จะออกขายในเดือนเมษายนมูลค่า 1,000 ล้านบาท อาจได้รับผลกระทบบ้าง ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบความต้องการ แต่แม้ว่าจะขายได้เพียง 50% หรือถ้าต้องเลื่อนการขายออกไป จะไม่กระทบต่อสภาพคล่องบริษัท ซึ่งมีกระแสเงินสดเพียงพอต่อการชำระคืนหนี้ที่มีอยู่
ด้าน เจษฎา สุขทิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Finnomena Group ระบุผ่านบัญชี Facebook ส่วนตัวว่า “ล่าสุด จากการดู Altman Z Score และ Bloomberg Probability of Default ผ่าน Bond Health Check น่าจะได้เห็นบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์บางบริษัทผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้เร็วๆ นี้”
ทั้งนี้ เจษฎาเปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า หลายบริษัทพึ่งพิงการออกหุ้นกู้ และหลายบริษัทมีหนี้จากหุ้นกู้เกิน 50% ซึ่งหุ้นกู้ที่จะออกขายใหม่อาจถูกกระทบจากความเชื่อมั่นที่ลดลง
“ถ้าหุ้นกู้ออกใหม่ขายไม่ได้หรือได้ไม่หมด ก็ต้องกลับไปพึ่งแบงก์ ถ้าแบงก์ไม่ปล่อยก็ต้องเร่งขายสินค้า ถ้ายังขายไม่ออกก็ต้องขายทรัพย์สินที่มี ซึ่งอาจทำได้ไม่ง่ายในภาวะที่ความเชื่อมั่นลดลง”
สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวกระทบสองเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทย หนึ่งในนั้นคืออสังหา ผู้คนน่าจะชะลอการตัดสินใจซื้อ
ทั้งนี้ การชะลอของภาคอสังหาอาจกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมได้มาก เพราะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีห่วงโซ่อุปทานยาว และโดยปกติถ้าเติบโตดีจะช่วยเพิ่มตัวคูณทางเศรษฐกิจได้ดี แต่เมื่ออสังหาชะงักอาจทำให้สภาพคล่องฝืด
สำหรับนักลงทุนที่อาจจะไม่มั่นใจเกี่ยวกับการลงทุนในตราสารหนี้ สามารถใช้บริการ Bond Health Check ของ Finnomena ได้ฟรี เพื่อตรวจสอบระดับความเสี่ยงของหุ้นกู้แต่ละตัว
ปมปัญหาคอร์รัปชัน
อีกหนึ่งแรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ คงหนีไม่พ้นการตั้งคำถามของประชาชนในวงกว้างเกี่ยวกับการคอร์รัปชันว่ามีหรือไม่ โดยเฉพาะกับโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงาน สตง. ซึ่งเป็นสิ่งที่คงต้องพิสูจน์และตรวจสอบกันต่อไป
อย่างไรก็ตาม ปัญหาคอร์รัปชันเป็นหนึ่งในประเด็นที่ไทยต้องเร่งแก้ไข โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากผลคะแนนดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index: CPI) ประจำปี 2567 ซึ่งไทยอยู่ที่ 107 ของโลก จากคะแนน 34/100 คะแนน ทั้งนี้ ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 43 คะแนน นั่นหมายความว่าเราอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย
เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 คะแนนดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชันของไทยลดลง 1 คะแนน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับทั้งโลกอันดับเราดีขึ้น 1 อันดับ สะท้อนว่าสถานการณ์คอร์รัปชันทั่วโลกเลวร้ายลงกว่าเดิม
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยหล่นมาอยู่อันดับ 5 ของอาเซียน ตามหลังสิงคโปร์ (84 คะแนน), มาเลเซีย (50 คะแนน), เวียดนาม (40 คะแนน) และอินโดนีเซีย (37 คะแนน) ตามลำดับ