เมื่อได้ยินชื่อ ‘ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (Queen Sirikit National Convention Center: QSNCC)’ เชื่อว่าหลายคนจะนึกถึงศูนย์รวมงานอีเวนต์ดังใจกลางกรุงเทพฯ ถ้านับจนถึงปัจจุบันก็เป็นระยะเวลากว่า 3 ปีเข้าแล้วที่เราไม่ได้เจอ ไม่ได้เดินทางไปเยือนงานอีเวนต์ต่างๆ ที่คุ้นเคยที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ไม่ว่าจะเป็นงานสัปดาห์หนังสือ, งาน Mobile Expo, พิธีรับปริญญา หรืองานอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้เราอาจสงสัยว่าตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง และเมื่อไรเราจะได้กลับไปอีก
กว่า 30 ปีที่ผ่านมา ศูนย์ฯ สิริกิติ์ รองรับงานทั้งไทยและเทศกว่า 20,000 อีเวนต์ ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ศูนย์ประชุมแห่งนี้ได้เดินทางสู่เส้นทางการปฏิวัติวงการอีเวนต์ไทยด้วยการปรับโฉมทุกด้าน โดยเพิ่มศักยภาพของพื้นที่ให้สามารถรองรับความต้องการของผู้จัดงานและผู้เข้าใช้บริการได้มากยิ่งขึ้น พร้อมยกระดับการให้บริการด้วยมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล เรียกได้ว่าโฉมใหม่ของศูนย์ฯ สิริกิติ์ จะเปิดประสบการณ์ใหม่สุดประทับใจสำหรับทุกคนอย่างแน่นอน
และในเดือนกันยายนนี้ เราจะได้ยลโฉมใหม่ของศูนย์ฯ สิริกิติ์ อย่างแน่นอน ในโอกาสนี้ THE STANDARD อยากชวนผู้อ่านทุกคนมาร่วมอัปเดตภาพรวมของศูนย์ฯ สิริกิติ์ ที่เราผูกพันและคุ้นเคย มีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว
สำหรับความคืบหน้าของโครงการในปัจจุบันคืบหน้าไปแล้วกว่า 80% แต่สำหรับความพร้อมและความมุ่งมั่นในการให้บริการนั้นมีมากเกิน 100%
โดยงานก่อสร้างโครงการสำเร็จลุล่วงได้ตามกำหนด โดยอยู่ในช่วงเฟสสุดท้ายของการพัฒนา และกำลังเข้าสู่ขั้นตอนของการตกแต่งภายในภายใต้แนวคิด ‘สืบสาน รักษา ต่อยอด’ เพื่อให้ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ยังคงรักษาเสน่ห์ของความเป็นไทยที่เข้าถึงได้ง่าย แต่ในขณะเดียวกันก็มีความร่วมสมัยและสอดรับกับยุคดิจิทัล
และเมื่อการปรับปรุงโครงการเสร็จตามที่ได้วางแพลนไว้ ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ก็จะขึ้นแท่นอีเวนต์แฟลตฟอร์มที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดใจกลางกรุงเทพฯ โดยจะสามารถรองรับการจัดงานประชุมและอีเวนต์ระดับเวิลด์คลาสได้ทุกรูปแบบ ด้วยพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม 5 เท่า รวมกว่า 300,000 ตารางเมตรเลยทีเดียว
ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โฉมใหม่มีอะไรโดดเด่นและน่าสนใจบ้าง ต่างจากเดิมอย่างไร
อันดับแรกเลยคือ ‘ขนาดและความใหญ่’ ของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โฉมใหม่ ซึ่งจะใหญ่ขึ้นจากเดิมถึง 5 เท่า มาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ๆ ที่ทันสมัยและจะช่วยยกระดับประสบการณ์ในการจัดงานและการมาเดินงานนิทรรศการ, งานคอนเสิร์ต, งานประชุม, สัมมนา และงานอีเวนต์ต่างๆ ให้จัดจ้าน สนุกสนาน และสะดวกสบายแบบเต็มสูบ
โดยพื้นที่ของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โฉมใหม่ขนาดกว่า 300,000 ตารางเมตร จะประกอบไปด้วย 2 โซนหลักๆ เป็นพื้นที่รองรับการจัดการประชุมและนิทรรศการ แบ่งออกเป็น
- ฮอลล์สำหรับการจัดนิทรรศการขนาดใหญ่ขนาด 23,000 ตารางเมตร จำนวน 2 ฮอลล์ บริเวณชั้น G และ LG พื้นที่รวมมากกว่า 50,000 ตารางเมตร
- ห้องสำหรับจัดประชุมสัมมนาขนาดใหญ่ 5,000 ตารางเมตร จำนวน 2 ห้อง ได้แก่ Plenary Hall และ Ballroom พื้นที่รวมกันประมาณ 10,000 ตารางเมตร
- ห้องประชุมย่อยที่สามารถรองรับการประชุมได้อีกกว่า 50 ห้อง
ส่วนอีกโซนหลักคือโซนรีเทล บนพื้นที่ขนาด 11,000 ตารางเมตร บริเวณชั้น LG ซึ่งเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินโดยตรง และยังมีพื้นที่จอดรถภายในอาคารรองรับได้มากกว่า 3,000 คัน อำนวยความสะดวกให้ทั้งแก่ผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมงานได้ครบครัน
ทั้งนี้ แนวคิดการพัฒนาศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โฉมใหม่ที่จะเกิดขึ้นภายใต้คอนเซปต์ The Ultimate Inspiring World Class Event Platform for All หรือสุดยอดแพลตฟอร์มระดับโลกที่สร้างแรงบันดาลใจสำหรับทุกงานอีเวนต์เพื่อคนทุกคน จะประกอบไปด้วย 5 แนวคิดหลักๆ ที่จะทำให้ศูนย์การประชุมแห่งนี้โดดเด่นและแตกต่างจากศูนย์การประชุมแห่งอื่นๆ คือ
1. เดินทางง่าย สะดวกสบาย (Accessibility): ตั้งอยู่ทำเลใจกลางเมืองบนถนนรัชดาภิเษก เชื่อมต่อแยกพระราม 4-รัชดา สามารถเข้าออกได้จาก 4 เส้นทางสำคัญของกรุงเทพฯ ได้แก่ ถนนพระราม 4, ถนนสุขุมวิท, ถนนรัชดาภิเษก และถนนดวงพิทักษ์ นอกจากนี้ยังเชื่อมรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตรงถึงภายในศูนย์ฯ สิริกิติ์
2. ให้ความสำคัญอันดับหนึ่งกับความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ (Safety): ระบบรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุดตามมาตรฐานการดำเนินงานระดับสากล พร้อมคำนึงถึงความปลอดภัยด้าน Life Safety เพื่อรองรับการจัดงานระดับโลกทุกรูปแบบ
3. ยกระดับประสบการณ์การเดินงานอีเวนต์ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง (Technology): ระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่สุดในประเทศไทยรองรับได้ถึงอนาคต (5G) มั่นใจว่าจะสามารถสนับสนุนการจัดอีเวนต์รูปแบบออนไลน์และไฮบริดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถอำนวยความสะดวกผู้จัดงานและผู้เข้าชมได้อย่างไร้ขีดจำกัด
นอกจากนี้ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ได้ติดตั้งระบบเข้าใช้งานพื้นที่แบบไร้สัมผัส (Touchless Access) และใช้ระบบบริหารอาคารอัจฉริยะ (Intelligence Event Platform Management System) ในการควบคุมการให้บริการพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยขั้นสูงสุด
4. สะดวกต่อการจัดงานเพื่อผู้จัดงานทุกรูปแบบ (Flexibility): ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างขั้นสูง Sliding Super Truss ในการติดตั้งโครงสร้างเหล็กที่สามารถรับน้ำหนักได้มาก ทำให้พื้นที่จัดงานของอาคารศูนย์ประชุมมีพื้นที่กว้างขวางและยืดหยุ่นสูง เพราะไม่มีเสาค้ำยัน จึงสะดวกต่อการจัดการระบบโลจิสติกส์และขนย้ายสินค้าจัดแสดงทุกประเภทเข้าในพื้นที่ช่วงก่อนการจัดงาน พร้อมทั้งรองรับการจัดประชุมและนิทรรศการหลากหลายรูปแบบได้พร้อมๆกัน
5. ยั่งยืน คิดถึงสิ่งแวดล้อม (Sustainability): ศูนย์ประชุมของไทยที่มุ่งสู่การรับรองตามมาตรฐานอาคารเขียว LEED ระดับ Silver โดยได้วางแผนการพัฒนาอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นจนแล้วเสร็จ เน้นใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า 25% และวัสดุที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้มากกว่า 75% รวมถึงมีแผนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์โดยรอบโครงการ และใช้อุปกรณ์อัตโนมัติเพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำ นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์ประชุมแห่งเดียวที่ห้อมล้อมด้วยพื้นที่สีเขียวผืนใหม่ล่าสุดของกรุงเทพฯ อย่างสวนป่าเบญจกิติ
รูปลักษณ์การออกแบบที่ทันสมัย แต่ยังคงเอกลักษณ์ความเป็นไทยได้อย่างสง่างาม
อย่างที่เกริ่นเอาไว้ในช่วงต้นว่า ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์จะดำเนินการออกแบบตกแต่งด้วยแนวคิด ‘สืบสาน รักษา ต่อยอด’ เพราะฉะนั้นทุกๆ เสน่ห์และเอกลักษณ์ความเป็นไทยในแบบฉบับของศูนย์การประชุมเดิมก็จะถูกเก็บไว้ครบทุกกระเบียดนิ้ว เพียงแต่แค่ปรับเปลี่ยนและปรับดีไซน์ให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น ผสมผสานความเป็นไทยและความเป็นสากลให้เบลนด์เข้าด้วยกันได้อย่างมีเสน่ห์
โดยที่แรงบันดาลใจส่วหนึ่งของการออกแบบศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์นั้นทีมออกแบบได้แรงบันดาลใจจากลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ของ ‘ผ้าไทย’ ซึ่งได้ถ่ายทอดผ่านการออกแบบห้องประชุมและพื้นที่โดยรวม เพื่อสะท้อนความประณีต วิจิตร บรรจง ผ่านองค์ประกอบสถาปัตยกรรม และการออกแบบแสงในพื้นที่ห้องจัดงาน
ทิ้งท้ายไปด้วยการให้สัญญาของศูนย์ฯ สิริกิติ์ ที่เชื่อมั่นว่าการกลับมาครั้งใหม่อย่างยิ่งใหญ่ของพวกเขาจะกลายเป็น ‘การกำหนดนิยามใหม่ของธุรกิจไมซ์’ ให้พลิกโฉมไปจากเดิม พร้อมมั่นใจว่าศูนย์ฯ สิริกิติ์ จะเป็นจุดมุ่งหมายแห่งใหม่ของชาวกรุงเทพฯ และชาวต่างชาติ หลังจากเปิดประเทศเต็มรูปแบบ
หลังจากเปิดตัวศูนย์ประชุมไปแล้ว พวกเขาก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้จัดงานระดับนานาชาติ โดยมีอีเวนต์จองใช้บริการต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 ที่เปิดให้บริการยาวข้ามปีไปจนถึงปีหน้าแล้ว
รวมถึงการที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ได้รับเกียรติและความไว้วางใจจากคณะผู้จัดงานประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ของรัฐบาลไทย ให้จัดงาน APEC ประจำปี 2565 พร้อมต้อนรับผู้นำจาก 21 เขตเศรษฐกิจ ในเดือนพฤศจิกายนนี้
ถือเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงชื่อชั้น ความน่าเชื่อถือ และมาตรฐานระดับเวิลด์คลาส ของศูนย์ฯ สิริกิติ์ ได้เป็นอย่างดี
จับตาดูให้ดี เพราะอีกเพียงไม่ถึง 6 เดือนต่อจากนี้ ความยิ่งใหญ่ ความอลังการ และความครึกครื้นของงานอีเวนต์ระดับโลกจะจ่อคิวกลับมาเยือนเราภายใต้ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โฉมใหม่แล้ว!