×

ย้อนความทรงจำ 27 ปี 22,709 งานของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ก่อนรีโนเวตครั้งใหญ่ [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
02.04.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถือกำเนิดขึ้นหลังจากประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ครั้งที่ 46 โดยใช้เวลาก่อสร้างทั้งหมดเพียง 20 เดือน และเป็นศูนย์การประชุมและจัดนิทรรศการมาตรฐานสากลแห่งแรกของประเทศไทย
  • 22,709 คือจำนวนงานทั้งหมดตลอดกว่า 27 ปีของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งมีตั้งแต่งานประจำปีอย่างสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ, มหกรรมบ้านและคอนโด ไปจนถึงงานใหญ่ระดับชาติอย่างการประชุมกรอบความร่วมมือเอเชีย-ตะวันออกกลาง ครั้งที่ 3, งานประชุมระดับนานาชาติ TBEX Asia: The Future of Travel Media ฯลฯ

หากเอ่ยถึง ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หลายคนอาจนึกถึงภาพจำอย่างการลากกระเป๋าล้อลากไปทั่วศูนย์ฯ เพื่อตามหาหนังสือเล่มโปรดในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ, ป้ายแพ็กเกจท่องเที่ยวและโปรไฟลุกที่ทำให้ตื่นตาตื่นใจในงานไทยเที่ยวไทย ไปจนถึงการเดินหาซื้ออุปกรณ์ตกแต่งบ้าน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และของเล่นสำหรับเจ้าตัวจิ๋วในงานมหกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นภายในศูนย์การประชุมแห่งนี้

 

ก่อนที่ภาพจำเหล่านั้นจะเปลี่ยนไปจากการรีโนเวตครั้งใหญ่ของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ในปีนี้ THE STANDARD ขอพาทุกคนย้อนรอยความทรงจำตลอด 27 ปีของสถานที่แห่งนี้ตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบัน หนึ่งในสถานที่สำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

 

 

ศูนย์การประชุมและจัดนิทรรศการมาตรฐานสากลแห่งแรกของประเทศ

ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน หลังจากประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ครั้งที่ 46 รัฐบาลไทยมีมติสร้างสถานที่จัดงานประชุมที่ได้มาตรฐานสากลขึ้นในช่วงปลายปี 2532 โดยกำหนดรูปทรงทางสถาปัตยกรรมให้แสดงออกถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย และใช้เทคนิค ‘สร้างและออกแบบ’ (A Build and Design Technique) เพื่อให้ศูนย์ประชุมเสร็จทันตามเวลาที่กำหนด

 

 

ทำให้กว่าจะกลายเป็นศูนย์การประชุมมาตรฐานสากลแห่งแรกของประเทศไทยได้นั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากนักออกแบบกว่า 100 คน และคนงานก่อสร้างมากถึง 1,000 คน

 

และจากความร่วมแรงร่วมใจกันของทุกฝ่ายจึงทำให้ศูนย์การประชุมของชาติแห่งแรกใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งหมดเพียง 20 เดือน (จากกำหนดการเดิมที่ต้องใช้ระยะเวลากว่า 40 เดือน)

 

 

หลังจากตกแต่งแล้วเสร็จ ช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2534 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 พระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้พระนามเป็นชื่อของศูนย์การประชุม เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบในเดือนสิงหาคม 2535 ก่อนที่หลายคนจะเรียกกันติดปากว่า ‘ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์’ มาจนถึงปัจจุบัน

 

Thailand Mobile Expo 2018 Showcase

 

27 ปีกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย

หลังจากศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ และประสบความสำเร็จจากการรองรับผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 10,000 คน จาก 154 ประเทศ ในการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ครั้งที่ 46 ในปี 2534 ก็ทำให้ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) ในประเทศไทยมากขึ้น

 

โดยอุตสาหกรรมไมซ์ในที่นี้หมายถึง 4 กลุ่มธุรกิจคือ ธุรกิจการจัดประชุม (Meeting) การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Incentive) ธุรกิจการจัดประชุมนานาชาติ (Convention) และธุรกิจการจัดแสดงสินค้าและนิทรรศการ (Exhibition) ซึ่งเชื่อมโยงกับหลายภาคส่วนตั้งแต่ธุรกิจที่พัก ร้านค้า ร้านอาหาร ฯลฯ

 

โดยศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ในขณะนั้นได้ตอบโจทย์รอบด้านของทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจ และสามารถช่วยกระตุ้นให้เกิดภาวะการลงทุนและการเติบโตทางตัวเลขของเศรษฐกิจมากขึ้น ก่อนจะกลายเป็นต้นแบบที่ทำให้เกิดรูปแบบของการจัดประชุมนานาชาติ ศูนย์การแสดงสินค้า และนิทรรศการอื่นๆ อีกหลายแห่งมาจนถึงปัจจุบัน

 

ซึ่งในปี 2561 ที่ผ่านมา การเติบโตของตลาดไมซ์ในไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสร้างรายได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทยกว่า 212,924 ล้านบาทจากการต้อนรับนักเดินทางไมซ์ต่างชาติกว่า 1,255,985 คน และนักเดินทางกลุ่มไมซ์ในประเทศกว่า 33,011,322 คน ซึ่งทำให้ปัจจุบันประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของการประชุมนานาชาติในทวีปเอเชีย

 

20th Bangkok International Symposium on HIV Medicine

 

Pakistan: Single Country Exhibition

 

ศูนย์กลางของการประชุมระดับนานาชาติและทวีปเอเชีย

ด้วยระยะเวลากว่า 27 ปีที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ได้รองรับการจัดงานสำคัญมากมายทั้งในและต่างประเทศบนพื้นที่ขนาด 65,000 ตารางเมตร ซึ่งครบครันไปด้วยการบริการด้านต่างๆ และได้รับการรับรองมาตรฐานจาก ISO 9001:2015 หรือระบบบริหารงานคุณภาพตามมาตรฐานสากล และ ISO 20121 Event Sustainability หรือมาตรฐานระบบการบริหารการจัดงานอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรฐานการคัดเลือกสถานที่จัดงานในต่างประเทศ บวกกับทำเลที่ตั้งที่อยู่ใจกลางกรุงเทพฯ ทำให้ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์มีโอกาสเปิดประตูต้อนรับการจัดงานมากมายกว่า 22,709 งาน

 

ตั้งแต่งานประจำปีอย่างสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ, งานไทยเที่ยวไทย, มหกรรมบ้านและคอนโด ไปจนถึงงานใหญ่ระดับชาติอย่างการประชุมภาคภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 13 (2004), การประชุมกรอบความร่วมมือเอเชีย-ตะวันออกกลาง ครั้งที่ 3 (2010), งานประชุมระดับนานาชาติ TBEX Asia: The Future of Travel Media (2015), งานประชุมวิชาการจักษุแพทย์ 34th Asia-Pacific Academy of Ophthalmology Congress 2019 ฯลฯ

 

ในปีนี้ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ กับการรีโนเวตที่จะปรับโฉมเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้สมกับการเป็นศูนย์กลางของการประชุมระดับนานาชาติและเอเชีย รูปลักษณ์ใหม่จะเป็นอย่างไร การออกแบบจะเป็นแบบไหน และจะมีอะไรแปลกใหม่ที่น่าสนใจบ้างนั้น… อีก 4 ปีเราจะได้รู้กัน!

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X