×

จาก QE Tapering (with less tantrum?) สู่การลุ้น Debt Ceiling Lifting

27.09.2021
  • LOADING...
QE Tapering

ผ่านไปแล้วสำหรับการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหนึ่งในการประชุมที่ตลาดการเงินโลกให้ความสำคัญค่อนข้างมาก โดยสิ่งที่ตลาดจับตาจากการประชุมนี้คือสัญญาณที่เกี่ยวกับ QE Tapering และการขึ้นดอกเบี้ยหลังจากทำ QE Tapering เสร็จว่าจะเกิดขึ้นในปี 2022 หรือ 2023 แม้ Fed จะได้มีการส่งสัญญาณมาเป็นระยะตั้งแต่การประชุมรอบที่แล้วในเดือนกรกฎาคม และในการประชุม Jackson Hole Symposium ในเดือนสิงหาคม แต่การประชุมรอบนี้ตลาดต้องการสัญญาณเพิ่มเติมว่าจะเริ่มทำในช่วงเดือนไหน   

 

สิ่งที่ Fed ส่งสัญญาณคือ 

  1. ตอกย้ำการส่งสัญญาณล่วงหน้าว่าทำ QE Tapering น่าจะเริ่มขึ้นภายในปีนี้และน่าจะเสร็จสิ้นภายในช่วงกลางปี 2022 ซึ่งทำให้ตลาดเริ่มคำนวนได้ว่า QE Tapering น่าจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการและเริ่มทำในการประชุม FOMC 2-3 พฤศจิกายนนี้ และน่าจะลดการเข้าซื้อพันธบัตรเดือนละ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประเด็นนี้ค่อนข้างตรงกับคาดการณ์ของตลาด 
  2. การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed (Fed Fund Target Rate) อาจมีการขยับเร็วขึ้นและมากขึ้น โดยจาก Dot Plot ส่งสัญญาณว่าการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกหลังวิกฤตโควิด อาจขยับเร็วขึ้น จากปี 2023 มาเป็นปี 2022 ซึ่งต้องใช้คำว่า ‘อาจ’ เพราะจาก Dot Plot ยังคงสูสี เนื่องจากมีจำนวนโหวตเท่ากัน 9 ต่อ 9 ที่ระบุดอกเบี้ยในปี 2022 ควรจะคงและขึ้น 1 ครั้ง (นั่นคือที่มาว่าทำไมหลายคนบอกว่าจะมีการขึ้น 0.5 ครั้ง) และการขึ้นดอกเบี้ยในปี 2023 จะมีการขึ้น 3 ครั้ง (เทียบกับเดิมที่ 2 ครั้ง) และในปี 2024 ก็จะมีการขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 3 ครั้ง (การประชุมรอบนี้เป็นครั้งแรกที่มี Dot Plot ปี 2024) โดยดอกเบี้ยในระยะยาวยังอยู่ที่ระดับ 2.5%
  3. อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่เร่งตัวขึ้นค่อนข้างมากในปี 2021 ยังคงเป็นปัจจัยชั่วคราว แต่อาจใช้เวลานานขึ้นในการที่จะชะลอตัวลง สะท้อนจากคาดการณ์เงินเฟ้อของ Fed แม้ปีนี้จะเร่งตัวขึ้นมากจากคาดการณ์เดิม แต่ในปี 2022 และ 2023 ก็ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 2% ต้นๆ ได้ 

 

โดยถ้าดูจากการเคลื่อนไหวของตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นหลักๆ ที่ไม่ได้มีความผันผวนรุนแรง ก็เรียกได้ว่าการส่งสัญญาณให้ตลาดรับรู้อย่างต่อเนื่อง หรือที่เรียกว่า การนวดตลาดของ Fed ได้ผลค่อนข้างดี ซึ่งถ้าผลของการนวดตลาดอย่างต่อเนื่องยังไปได้ดี ก็มีโอกาสที่การทำ QE Tapering รอบนี้ของ Fed จะกลายเป็น QE Tapering with less tantrum  

 

โดยในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เป็นอีกธนาคารกลางหนี่งที่ประสบความสำเร็จในการประกาศลดการเข้าซื้อพันธบัตรแล้วตลาดไม่ได้ตกใจมาก โดยในการประชุมของ ECB ในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาได้มีการประกาศว่า QE ภายใต้โครงการ PEPP ที่ล่าสุดมีการเข้าซื้อพันธบัตรเดือนละประมาณ 8.0 หมื่นล้านยูโร จะเริ่มชะลอลง แต่ คริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB ระบุว่าไม่อยากให้เรียกว่าเป็นการทำ QE Taper เนื่องจาก ECB ยังมีการทำ QE อีกโครงการหนึ่งคือ APP โดยจากการตอบรับของตลาดที่ไม่ได้ผันผวนมากนัก ก็ต้องเรียกว่า ECB ทำการ QE Taper โดยแทบเรียกได้ว่าไม่ได้ทำให้เกิด Tantrum ตามมาในตลาด (QE Taper without tantrum)   

 

จากประเด็นการส่งสัญญาณการลดการเข้าซื้อพันธบัตร (QE Tapering) ประเด็นใหม่ที่เข้ามาในตลาดคือการยกเพดานหนี้สาธารณะ (Public Debt Ceiling Lifting) ของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเด็นที่เราจะได้ยินกันอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะในสิ้นปีงบประมาณ (ปลายไตรมาสที่ 3 ของทุกปี) โดยหากการยกเพดานหนี้เกิดขึ้นไม่ทัน ก็จะทำให้หน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ หลายหน่วยงานอาจต้องหยุดทำการเป็นการชั่วคราว (Temporary Government Shutdown) ซึ่งเกิดขึ้นค่อนข้างบ่อย (เกือบร้อยครั้งนับตั้งแต่จบสงครามโลกครั้งที่สอง) และกินเวลามีทั้งสั้นๆ แค่ไม่กี่วันและบางครั้งยาวเป็นหลักสัปดาห์ โดยจากการที่เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นบ่อย ตลาดเองก็มีความชินกับข่าวเหล่านี้พอสมควร 

 

แต่เหตุการณ์ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม ปี 2011 เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่มักจะถูกอ้างอิงเมื่อมีประเด็นการยกเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นปีที่รัฐบาลสหรัฐฯ ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลง จาก AAA (Negative Outlook) เป็น AA+ (Negative Outlook) เนื่องจากมีการปรับขึ้นเพดานหนี้ล่าช้า และแม้จะปรับเพดานหนี้ขึ้นได้ แต่ 4 วันหลังจากนั้น S&P Global Ratings (ซึ่งก่อนหน้านั้นได้มีการส่งสัญญาณเตือนโดยปรับแนวโน้มความน่าเชื่อถือหรือ Outlook ลงมาเป็น Negative ในช่วงเดือนเมษายน ปี 2011) มีความกังวลต่อการขาดดุลในระยะปานกลางและระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐฯ (ในช่วงนั้นการขาดดุลและหนี้สาธารณะของรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็วและมาก เนื่องจากมีการทำงบกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงวิกฤต Subprime ไปค่อนข้างมาก) 

 

การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือในครั้งนั้นถือเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลสหรัฐฯ และส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงอย่างมีนัย ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (US Treasury Yield) ปรับตัวลดลง (ซึ่งเป็นอะไรที่แปลกดีครับ แทนที่จะเพิ่มขึ้นเนื่องจากถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ แต่กลายเป็นนักลงทุนยิ่งวิ่งเข้าซื้อพันธบัตรสหรัฐจน US Treasury Yield ลดลง) และตามมาด้วยการลาออกของ CEO ของ S&P Global Ratings ในอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมา โดยหลังจากเหตุการณ์ในปี 2011 การยกเพดานหนี้ของสหรัฐฯ มีทั้งยกทันและยกไม่ทัน จนเกิด Temporary Government Shutdown หลายครั้ง แต่ไม่มีครั้งไหนที่ยืดเยื้อและส่งผลให้เกิดการถูกปรับอันดับความน่าเชื่อถือลง   

 

การจัดการเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ นอกจากจะมีการยกเพดานหนี้แล้ว ในบางช่วงเวลายังมีการยกเว้นการบังคับใช้เพดานหนี้เป็นการชั่วคราวได้ด้วย พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้ายกเพดานหนี้ขึ้นไม่ทัน ก็อย่าให้มันมีผลบังคับใช้เป็นการชั่วคราว แล้วค่อยมาตั้งเพดานกันใหม่เมื่อพร้อม ซึ่งครั้งล่าสุดที่มีการยกเว้นการบังคับใช้ชั่วคราวเกิดขึ้นในปี 2019 และมีการตั้งเพดานหนี้อีกครั้งในเดือนสิงหาคม ปี 2019 ที่ 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบกับหนี้สาธารณะล่าสุดในเดือนสิงหาคม ปี 2021 ที่ 28.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ)    

     

อะไรคือสาเหตุที่การขึ้นเพดานหนี้สาธารณะของรัฐบาลสหรัฐฯ ในครั้งนี้มีโอกาสล่าช้า 

เงื่อนไขการขึ้นเพดานหนี้สาธารณะรอบนี้ได้ผูกเข้ากับการแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการปรับปรุงโครงสร้างฟื้นฐานและทรัพยากรบุคคลในระยะปานกลางและระยะยาวของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่เรียกว่า The American Jobs Plan และ The American Families Plan ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะมีผลเกี่ยวเนื่องต่อไปด้วยว่า ถ้าขนาดโครงการใหญ่มหาศาลแบบนี้ ก็จะต้องมีการขึ้นภาษีมากตามไปด้วย (ทั้งภาษีนิติบุคคล ภาษีที่เก็บจากกำไรในการซื้อขายหลักทรัพย์ และภาษีที่เก็บจากรายได้ของบริษัทสหรัฐฯ ที่ได้รับมาจากนอกประเทศ) 

 

แต่ถ้าขนาดโครงการมีการปรับลดลงมาได้บ้าง การขึ้นภาษีก็ไม่ต้องถูกปรับขึ้นมาก ซึ่งในประเด็นรายละเอียดเหล่านี้ แม้แต่ในพรรคเดโมแครตของไบเดนเองก็มีความเห็นที่แตกต่างกัน แม้ล่าสุดสภาล่างของสหรัฐฯ จะมีการผ่านร่างกฎหมายเพื่อยืดระยะเวลาในการยกเว้นการบังคับใช้เพดานหนี้ออกไปจนถึงปลายปี 2022 ซึ่งจะช่วยให้ไม่เกิด Temporary Government Shutdown แต่ร่างกฎหมายนี้ยังต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา ซึ่งมีแนวโน้มที่การโหวตจะยืดเยื้อ เนื่องจากในวุฒิสภาปัจจุบันทั้งสองพรรคมีคะแนนเสียงเท่ากันคือพรรคละ 50 โดยหากคะแนนเท่ากัน รองประธานาธิบดีจะเป็นคนชี้ขาด ซึ่งคามาลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครต ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบัน 

 

ความซับซ้อนเพิ่มเติมอยู่ที่ แนนซี เพโลซี ประธานสภาล่างของเดโมแครต อยากให้การผ่านร่างกฎหมายนี้ได้รับความสนับสนุนจากรีพับลิกันด้วย จึงเสนอร่างกฎหมายผ่านวิธีปกติ ซึ่งต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาจากรีพับลิกันอย่างน้อย 10 เสียง ทำให้ประเด็นการขึ้นเพดานหนี้สาธารณะจะมีโอกาสยืดเยื้อค่อนข้างสูง และถ้าจะตกลงกันได้ก็คงเป็นประเภทได้ในนาทีสุดท้าย (Last Minute Deal)   

 

เรื่องการยกเพดานหนี้สาธารณะคงเป็นเรื่องที่หลายประเทศที่มีกฎหมายหรือกรอบหนี้สาธารณะต้องทำ เนื่องจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลใช้งบประมาณในการประคับประคองเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดกันอย่างมาก (รวมถึงประเทศไทยเราด้วย ที่ล่าสุดมีการปรับกรอบเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% ของ GDP) 

 

ข้อน่าสังเกตคือ การยกเพดานหนี้เพื่อจะทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังจะมาถึง งบประมาณจะถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านใดเป็นหลัก เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า หรือแค่นำมาเยียวยาผลกระทบ ซึ่งแม้จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น แต่ผลระยะปานกลางและระยะยาวในการปรับโครงสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพเศรษฐกิจจะมีไม่สูงนัก 

 

ประเด็นเหล่านี้นอกจากจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะก่อให้เกิดความแตกต่างของการเติบโตของเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนแล้ว ยังอาจกลายเป็นประเด็นที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือใช้ในการประเมินในระยะข้างหน้า เพราะถ้าหนี้ภาครัฐเพิ่มสูงและเร็วแต่รายได้ไม่ได้เพิ่มตามไปด้วย ความเสี่ยงด้านการคลังก็จะเพิ่มขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising