×

กาตาร์ทุ่ม 4.5 พันล้านปอนด์ ซื้อแมนฯ ยูไนเต็ด มีโอกาสเกิดขึ้นจริงหรือไม่?

09.02.2023
  • LOADING...
Qatar

ไฟสปอตไลต์ของวงการยังคงฉายอยู่เหนือเมืองแมนเชสเตอร์ แต่คราวนี้เปลี่ยนจากคดีของทีม ‘สีฟ้า’ มาเป็นข่าวฮือฮากับโอกาสในการเปลี่ยนแปลงเจ้าของสโมสรของทีม ‘สีแดง’ กันบ้าง

 

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มีโอกาสจะตกถังน้ำมันกับเขาเหมือนกัน เมื่อ ชีค ตะมีม บิน ฮะมัด อัษษานี เจ้าผู้ครองนครหรือเอมีร์แห่งกาตาร์ ตกเป็นข่าวให้ความสนใจที่จะเทกโอเวอร์ทีมต่อจากครอบครัวเกลเซอร์ที่เป็นเจ้าของสโมสรมายาวนานตั้งแต่ปี 2005

 

เรื่องนี้มีโอกาสที่จะเป็นความจริงหรือไม่? และมันมีประเด็นอะไรที่ควรรู้เกี่ยวกับข่าวการซื้อขายสโมสรเรื่องนี้บ้าง

 

 

กาตาร์สนใจอยากซื้อจริงไหม?

ตามรายงานจาก The Guardian ยืนยันว่า ‘ราชวงศ์กาตาร์’ นำโดยเอมีร์แห่งกาตาร์สนใจที่จะซื้อแมนฯ ยูไนเต็ด จริง

 

โดยในรายงานยังระบุอีกด้วยว่าฝ่ายกาตาร์ได้เป็นหนึ่งในกลุ่มนักลงทุนจากทั่วโลกที่ติดต่อ Raine Group ธนาคารจากนิวยอร์กที่ได้รับมอบหมายในการดำเนินการขายสโมสร ซึ่งเปิดกว้างสำหรับนักลงทุนทั่วโลก แต่จะต้องยื่นข้อเสนออย่างเป็นทางการภายในวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้เท่านั้น

 

ด้าน Daily Mail รายงานในวันพุธที่ผ่านมา (8 กุมภาพันธ์) ว่า มีกลุ่มนักลงทุนจากกาตาร์ที่พร้อมจะยื่นข้อเสนอที่สามารถชนะขาดทุกเจ้าได้ เพียงแต่ The Guardian ระบุว่าทางกาตาร์ประเมินข้อเสนอที่ 4.5 พันล้านปอนด์ ที่คิดว่าเป็นตัวเลขที่เหมาะสม ไม่ถึงกับ 6 พันล้านปอนด์ ที่ครอบครัวเกลเซอร์ตั้งราคาไว้แต่อย่างใด

 

ขณะที่ The Times เคยรายงานข่าวในเดือนที่แล้วว่า ภายหลังจากที่เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 ที่จบลงด้วยดีไปแล้ว ทางกาตาร์ต้องการที่จะขยายพอร์ตโฟลิโอทางเกมกีฬาด้วยการลงทุนกับสโมสรในพรีเมียร์ลีก

 

ก่อนหน้านี้ นาสเซอร์ อัล เคไลฟี ประธานสโมสรปารีส แซงต์ แชร์กแมง ซึ่งเป็นประธานของช่องกีฬา beIN SPORTS และประธานกองทุน Qatar Sports Investments (QSI) ได้เคยพูดคุยกับ แดเนียล เลวี ประธานบริหารของทีมท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ซึ่งแม้จะมีการปฏิเสธว่าการพบกันไม่ใช่เรื่องการซื้อขายสโมสรหรือการขายชื่อสนามแห่งใหม่ของสเปอร์ส แต่เป็นที่เชื่อกันว่านี่เป็นความพยายามของกาตาร์ที่จะเจาะพรีเมียร์ลีก

 

The Times ได้อ้างแหล่งข่าวจากกาตาร์ระบุว่า การเจรจากับแมนฯ ยูไนเต็ด นั้นอยู่ใน ‘โปรเจกต์’ เดียวกัน เพียงแต่จะไม่มีการเข้าร่วมของ QSI เพราะจะผิดกฎของสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (UEFA) ที่ห้ามไม่ให้มีสโมสรที่มีเจ้าของเดียวกันลงแข่งในรายการสโมสรยุโรปได้ 

 

ถ้าไม่ใช่ QSI จะเป็นใคร? และจะมีข้อเสนอจริงไหม?

กาตาร์ไม่ได้มีแค่ QSI และในความจริงแล้ว QSI เป็นเพียงแค่ ‘ลูก’ เท่านั้น เพราะตัวจริงคือแม่อย่าง Qatar Investment Authority (QIA) ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งของชาติ (ที่เป็นทุนของ QSI อีกที)

 

ด้าน มานซูร์ บิน อิบราฮิม อัล มาห์มูด ประธาน QIA ซึ่งมีหุ้นอยู่ในสโมสรฟุตบอลเอสซี บรากา ในโปรตุเกส ให้สัมภาษณ์ในการประชุมประจำปี The World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ว่า “ไม่ต้องประหลาดใจที่จะเห็นเราลงทุนในเรื่องนี้​ (ฟุตบอล)” ก่อนจะบอกว่าประเทศอังกฤษเป็นประเทศที่น่าสนใจในการลงทุนในวงการฟุตบอล แต่แมนฯ ยูไนเต็ด จะเป็นสโมสรที่ถูกต้อง และจะเป็นการเทกโอเวอร์ทั้งหมดหรือไม่เป็นสิ่งที่ต้องรอดูกัน

 

และยังเป็นไปได้ที่อาจจะไม่ใช่ทั้ง QSI หรือ QIA แต่อาจจะเป็นกองทุนอื่นในร่มของ QIA ที่ลงมาลุยก็เป็นไปได้

 

อย่างไรก็ดี วันนี้ (9 กุมภาพันธ์) ทางด้านกาตาร์ ไม่ว่าจะเป็นขาไหนก็ยังไม่มีการจ้างบริษัทพีอาร์สำหรับการประชาสัมพันธ์ข่าวการยื่นข้อเสนอนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นเพราะทางกาตาร์กำลังศึกษารายละเอียดและกฎของ UEFA ในเรื่องของการเป็นเจ้าของสโมสรว่าหากทับซ้อนกันจะเป็นอย่างไร

 

และอาจเป็นไปได้ถึงขั้นที่กาตาร์อาจจะมีการเกลี้ยกล่อม UEFA ให้พยายามปรับเปลี่ยนกฎระเบียบเพื่อเอื้อให้เกิดการเทกโอเวอร์ครั้งนี้ได้

 

 

กฎของ UEFA บอกเอาไว้ว่าอย่างไร?

อย่างที่บอกไปข้างต้น กฎของ UEFA ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่าห้ามมิให้สโมสรสองแห่งที่มีเจ้าของสโมสรเดียวกันลงแข่งขันพร้อมกันในรายการของ UEFA อย่างเด็ดขาด ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะอาจหมายถึงการรู้เห็นเป็นใจในเรื่องของผลการแข่งขัน ซึ่งขัดต่อหลักการพื้นฐานที่สุดของเกมกีฬาที่ต้องแข่งขันกันอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม

 

ตรงนี้หากเกิด QSI หรือ QIA เข้ามายื่นข้อเสนอขอซื้อหุ้นหรือเทกโอเวอร์แมนฯ ยูไนเต็ด ทางด้าน UEFA โดยคณะกรรมการที่ชื่อว่า Club Financial Control Body (CFCB) จะต้องดำเนินการตรวจสอบในเรื่องนี้ว่าเป็นเจ้าของเดียวกันหรือไม่ โดยจะพิจารณาจากจำนวนหุ้นว่าเป็นหุ้นใหญ่ของสโมสร หรือมีความสามารถในการแต่งตั้งหรือถอดถอนสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ หรือ “สามารถตัดสินใจเรื่องของสโมสรได้” 

 

จุดที่อาจจะเป็นช่องโหว่คือข้อความสุดท้ายที่เชื่อกันว่าทางกาตาร์พยายามล็อบบี้ UEFA ให้ปรับเปลี่ยนรายละเอียดในกฎตรงนี้อยู่ แต่ก็ไม่ได้มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ เป็นเพียงการคาดการณ์จากสื่อระดับชั้นนำเท่านั้น

 

เคยมีกรณีปัญหาแบบนี้หรือไม่?

เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เพิ่งเคยเกิด เพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้วในฤดูกาล 2017/18 เมื่อทีมเรดบูล ซัลซ์บวร์ก จากออสเตรีย และแอร์เบ ไลป์ซิก จากเยอรมนี ได้สิทธิ์ลงแข่งขันในรายการยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกด้วยกัน ซึ่งทั้งสองสโมสรมีเจ้าของเดียวกันคือ Red Bull GmbH 

 

ในครั้งนั้น UEFA ได้ทำการตรวจสอบ แต่ CFCB พบว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะเชื่อว่าทั้งสองสโมสรมีอิทธิพลต่อกัน หลังจากที่สตาฟฟ์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ Red Bull ได้ถูกโยกย้าย และข้อตกลงการกู้ยืมเงินต่างๆ ระหว่างสองสโมสรได้ยกเลิกไป

 

แบบนี้แปลว่าการเทกโอเวอร์ของกาตาร์เป็นไปได้?

ในวงการฟุตบอลทุกอย่างเกิดขึ้นได้ 0-0 (เสมอ!)

 

จุดที่น่าสังเกตคือการที่ นาสเซอร์ อัล เคไลฟี ประธานของปารีส แซงต์ แชร์กแมง นั่งแท่นเป็นผู้บริหารของ UEFA ด้วย อีกทั้งเคยได้รับการชื่นชมจาก อเล็กซานเดอร์ เซเฟริน ประธาน UEFA ว่าเป็น ‘คนที่ยอดเยี่ยม’ ที่เคารพ ‘เกมฟุตบอลและคุณค่าของมัน’ จากการปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกับยูโรเปียนซูเปอร์ลีก เมื่อปี 2021

 

นั่นหมายความว่าโอกาสที่การเทกโอเวอร์จะเกิดขึ้นนั้นเป็นไปได้ ต่อให้จะมีข้อบังคับอะไรห้ามไว้ ก็อาจจะมีอำนาจพิเศษบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงมันได้เสมอ

 

นอกจากกาตาร์ ใครที่ต้องการเทกโอเวอร์แมนฯ ยูไนเต็ด อีก

นับจากที่ครอบครัวเกลเซอร์ประกาศในเดือนพฤศจิกายนว่าต้องการหาคนมาลงทุนใหม่ก็มีกลุ่มทุนที่ให้ความสนใจมากมาย

 

หนึ่งในคนที่ออกตัวมาก่อนและออกตัวแรงคือ เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ มหาเศรษฐีหมายเลขหนึ่งของอังกฤษ ซึ่งเป็นแฟนบอล ‘ปีศาจแดง’ มาตลอดชีวิต ที่ประกาศพร้อมนำ INEOS เข้ามาเจรจาเทกโอเวอร์สโมสรอันเป็นที่รักกลับคืน

 

นอกจากนี้ คาดว่าจะมีกลุ่มทุนจากสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมวงด้วย ซึ่งความชัดเจนคาดว่าจะเริ่มเห็นได้ชัดขึ้นในช่วงสัปดาห์หน้าที่เป็นสัปดาห์สุดท้ายก่อนที่ Raine Group จะปิดรับข้อเสนอ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X