กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ เปิดเผยรายงานตัวเลขประมาณการครั้งที่ 3 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ประจำไตรมาส 3/23 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (21 ธันวาคม) โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถขยายตัวที่ 4.9% ต่ำกว่าตัวเลขที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 5.1%
ขณะที่ตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 อยู่ที่ระดับ 4.9% และครั้งที่ 2 อยู่ที่ระดับ 5.2% ตามลำดับ
ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการขยายตัว 2.2% ในไตรมาสแรก และ 2.1% ในไตรมาสที่ 2 ของปี
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในภาพรวม การเติบโตในไตรมาสที่ 3 นั้นยังคงแข็งแกร่งที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี เนื่องจากชาวอเมริกันใช้เวลาไปกับการแสดงคอนเสิร์ต ภาพยนตร์ และสินค้าต่างๆ และแม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวจากการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงต้นปี แต่ทั้งการจ้างงานและการใช้จ่ายยังคงแข็งแกร่ง
ประมาณการขั้นสุดท้ายของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ยังคำนึงถึงการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ลดลง การลงทุนสินค้าคงคลัง และการส่งออก ขณะเดียวกันก็แก้ไขค่าใช้จ่ายของรัฐบาลและการลงทุนทางธุรกิจให้สูงขึ้น ขณะที่ในส่วนของการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งคิดเป็นประมาณ 2 ใน 3 ของผลผลิตทางเศรษฐกิจ ถูกปรับลดลงเหลือ 3.1% จาก 3.6%
กระนั้นข้อเท็จจริงที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวต่ำกว่าคาดในไตรมาส 3 ได้กลายเป็นปัจจัยหนุนให้นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า
รายงานระบุว่า นักลงทุนหลายสำนักเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้นที่ Fed จะหั่นดอกเบี้ยภายในเวลาเพียงไม่กี่เดือนนับจากนี้ แม้ว่า Fed จะพยายามเน้นย้ำไม่ให้นักลงทุนมองโลกในแง่ดีจนเกินไป ขณะที่บางส่วนเชื่อว่า การที่เศรษฐกิจอยู่ท่ามกลางการชะลอตัว คือสัญญาณที่อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย 2% ของ Fed ยิ่งเมื่อบวกกับการที่ไม่มีการว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็ยิ่งทำให้ Fed มีพื้นที่หั่นดอกเบี้ยได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์และนักลงทุนในตลาดต่างจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันนี้ (22 ธันวาคม) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ Fed ให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี PCE ทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 2.8% ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เมื่อเทียบเป็นอัตรารายปี จากระดับ 3.0% ในเดือนตุลาคม ขณะที่เมื่อเทียบเป็นอัตรารายเดือน คาดว่าดัชนี PCE ทั่วไป ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเดือนพฤศจิกายน
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน คาดว่าปรับตัวขึ้น 3.4% ในเดือนพฤศจิกายน เมื่อเทียบเป็นอัตรารายปี จากระดับ 3.5% ในเดือนตุลาคม ขณะที่เมื่อเทียบเป็นอัตรารายเดือน คาดว่าดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนพฤศจิกายน หลังจากปรับตัวขึ้น 0.2% เช่นกันในเดือนตุลาคม
ด้านตัวเลขขอรับสวัสดิการความช่วยเหลือจากการว่างงาน ซึ่งโดยทั่วไปเป็นสัญญาณเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในตลาดงาน ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว แต่กลับต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ โดยล่าสุด กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ระบุว่า ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานอยู่ที่ 205,000 คน ในช่วงสัปดาห์ที่สิ้นสุดในวันที่ 16 ธันวาคม ซึ่งเพิ่มขึ้น 2,000 คน จากยอดรวมที่ได้รับการแก้ไขในสัปดาห์ก่อนจำนวน 203,000 คน
ทั้งนี้ แม้ว่าภาพรวมตัวเลขจะเป็นไปในทางบวก แต่นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งออกโรงเตือนว่า ยังคงมีอุปสรรคทางเศรษฐกิจรออยู่ข้างหน้า ซึ่งรวมถึงหนี้ของชาวอเมริกันซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้น ในขณะที่นโยบายพักชำระหนี้ของรัฐบาลก็กำลังจะสิ้นสุดลงในไม่ช้านี้
อ้างอิง: