ตามข้อมูลจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ระบุว่า ในไตรมาส 2 เป็นไตรมาสที่มีหุ้นกู้จ่อครบกำหนดสูงสุดของปีนี้ มูลค่าถึง 2.49 แสนล้านบาท ขณะที่ยอดมูลค่าคงค้างหุ้นกู้ที่มีปัญหา ณ สิ้นไตรมาสแรกของปีนี้ ขยายตัวแตะ 5.39 หมื่นล้านบาท จากระดับ 3.94 หมื่นล้านบาทในไตรมาสก่อน
วันนี้ (4 เมษายน) อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า ไตรมาส 2-4 ปี 2024 มีมูลค่าหุ้นกู้ระยะยาวครบกำหนดรวม 696,411 ล้านบาท อย่างไรก็ดี 90% ของหุ้นกู้ครบกำหนดในไตรมาส 2-4 ปีนี้ยังอยู่ในกลุ่ม Investment Grade
โดยไตรมาส 2 เป็นไตรมาสที่มีหุ้นกู้จ่อครบกำหนดสูงสุดของปีนี้ มูลค่าถึง 2.49 แสนล้านบาท ขณะที่ในไตรมาส 3 และ 4 มียอดหุ้นกู้ครบกำหนดอยู่ที่ 2.33 แสนล้านบาท และ 2.13 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับแนวโน้มสถานการณ์หุ้นกู้ในระยะต่อไป อริยามองว่า ความหวังยังมีอยู่ แม้ว่า มูลค่าคงค้างหุ้นกู้ที่มีปัญหา ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ได้ขยายตัวแตะ 5.39 หมื่นล้านบาท จากระดับ 3.94 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 โดยจำนวนหุ้นกู้มีปัญหาที่เพิ่มขึ้นราว 1.45 หมื่นล้านบาทนี้ ส่วนใหญ่มาจากกรณี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ ITD ที่ขอเลื่อนจ่ายหนี้หุ้นกู้
“เราไม่ได้บอกว่าปัญหาจะหมดไปในเร็ววัน ปัญหาอาจจะยังมีอยู่ แต่ไม่ใช่ความเสี่ยงเชิงระบบ (Systematic Risk) เนื่องจากหุ้นกู้ส่วนใหญ่ที่เป็นปัญหาคือ หุ้นกู้ผลตอบแทนสูง (High Yield) และเป็นปัญหาสะสมมาตั้งแต่ช่วงโควิด เนื่องมาจากสภาพคล่องที่หายไป ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ถูกปรับขึ้น เพราะฉะนั้นจึงอาจต้องใช้เวลาเพื่อรอให้ธุรกิจค่อยๆ ฟื้นตัว และรอให้อัตราดอกเบี้ยปรับลดลง”
นอกจากนี้อริยายังระบุอีกว่า ตราบใดที่บริษัทหุ้นกู้ที่มีปัญหามีความจริงใจในการแก้ปัญหาและไปขอเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ เช่น ขอยืดอายุ เราเชื่อว่าธุรกิจเหล่านี้ก็ยังมีความหวังอยู่ โดยเฉพาะเมื่อธุรกิจเริ่มฟื้นและอัตราดอกเบี้ยลดลง