ในอนาคตอีก 33 ปีข้างหน้า โลกที่เรารู้จักอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก เรื่องเศรษฐกิจเองก็หนีไม่พ้น โดยรายงานจาก PricewaterhouseCoopers (PwC) ได้คาดการณ์ถึงความก้าวหน้าและถดถอยของประเทศต่างๆ 32 อันดับ
บริษัทที่ปรึกษาการเงินชื่อดังใช้มุมมองจากภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ (PPP) ที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์มหภาคนำมาใช้วิเคราะห์มาตรฐานการดำรงชีวิตและผลิตภาพทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ
ระหว่างปี 2016 ถึง 2050 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) รวมทั่วโลกจะเติบโตขึ้น 130% โดยยักษ์ใหญ่อย่างจีนยังคงครองอันดับ 1 และแบ่งพื้นที่ค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมเทียบตามหลักภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ หรือ GDP (PPP) ไปถึง 20% จากสัดส่วนทั้งหมด
ขณะที่อินเดียจะเติบโตจาก 7% ไป 15% ถีบสหรัฐอเมริการ่วงมาอยู่อันดับ 3 ที่ร้อยละ 12 ส่วนสหภาพยุโรป 27 ประเทศ ที่ตัดสหราชอาณาจักรออกไปกลับมีขนาดเล็กลงอย่างต่อเนื่องจนถึง 9% ในปี 2050
สำหรับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ 7 ประเทศ (E7) ที่เคยมีขนาดครึ่งหนึ่งของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ (G7) จะขยายตัวเป็นสองเท่าของคู่แข่งภายในปี 2040
PwC คาดการณ์อีกว่า เวียดนาม อินเดีย และบังกลาเทศ จะเป็นสามประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุดในช่วงดังกล่าว ด้วยค่าเฉลี่ย GDP ที่ 5.0% 4.9% และ 4.8% ตามลำดับ
สำหรับประเทศไทยที่ปัจจุบันอยู่อันดับที่ 20 จะค่อยๆ ร่วงลงมาที่อันดับ 22 ในปี 2030 และตกต่อเนื่องจนถึงอันดับที่ 26 ในปีสุดท้ายของรายงาน จนโดนฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซียแซงหน้าไปในที่สุด อันเนื่องมาจากค่า GDP เฉลี่ยไม่ได้เติบโตมากเพียงแค่ 2.6%
นอกจากนี้ ไทยยังจะประสบปัญหาจากอัตราประชากรที่ติดลบ 0.3% รั้งอันดับ 3 ในประเด็นปัญหาดังกล่าวให้หลังญี่ปุ่นและโปแลนด์ จนนำไปสู่ปัญหาของการเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมที่มีค่าเฉลี่ยจริง 2.9%
อันดับ (PPP):
32. เนเธอร์แลนด์ (1.496 ล้านล้าน)
31. โคลัมเบีย (2.074 ล้านล้าน)
30. โปแลนด์ (2.103 ล้านล้าน)
29. อาร์เจนตินา (2.365 ล้านล้าน)
29. ออสเตรเลีย (2.564 ล้านล้าน)
27. แอฟริกาใต้ (2.57 ล้านล้าน)
26. สเปน (2.732 ล้านล้าน)
25. ไทย (2.782 ล้านล้าน)
24. มาเลเซีย (2.815 ล้านล้าน)
23. บังกลาเทศ (3.064 ล้านล้าน)
22. แคนาดา (3.1 ล้านล้าน)
21. อิตาลี (3.115 ล้านล้าน)
20. เวียดนาม (3.176 ล้านล้าน)
19. ฟิลิปปินส์ (3.334 ล้านล้าน)
18. เกาหลีใต้ (3.539 ล้านล้าน)
17. อิหร่าน (3.9 ล้านล้าน)
16. ปากีสถาน (4.236 ล้านล้าน)
15. อียิปต์ (4.333 ล้านล้าน)
14. ไนจีเรีย (4.348 ล้านล้าน)
13. ซาอุดีอาระเบีย (4.694 ล้านล้าน)
12. ฝรั่งเศส (4.705 ล้านล้าน)
11. ตุรกี (5.184 ล้านล้าน)
10. สหราชอาณาจักร (5.369 ล้านล้าน)
9. เยอรมนี (6.138 ล้านล้าน)
8. ญี่ปุ่น (6.779 ล้านล้าน)
7. เม็กซิโก (6.863 ล้านล้าน)
6. รัสเซีย (7.131 ล้านล้าน)
5. บราซิล (7.54 ล้านล้าน)
4. อินโดนีเซีย (10.502 ล้านล้าน)
3. สหรัฐอเมริกา (34.102 ล้านล้าน)
2. อินเดีย (44.128 ล้านล้าน)
1. จีน (58.499 ล้านล้าน)
ภาพประกอบ: Karin Foxx
อ้างอิง: