×

PwC แนะจับตา ‘7 ข้อผ่อนปรนทางบัญชี’ เสี่ยงกระทบงบการเงิน บจ. ในระยะข้างหน้า

โดย THE STANDARD TEAM
18.11.2020
  • LOADING...
PWC แนะจับตา ‘7 ข้อผ่อนปรนทางบัญชี’ เสี่ยงกระทบงบการเงิน บจ. ในระยะข้างหน้า

PwC ชวนจับตา 7 มาตรการผ่อนปรนทางบัญชี ที่จะสิ้นสุดลงในปลายปีนี้ อาจส่งผลกระทบต่องบการเงิน บจ. ในปี 2564 พร้อมแนะนักบัญชี บจ. ควรจัดทำบัญชี-งบการเงิน สะท้อนผลกระทบจากโควิด-19 ให้มากที่สุด ป้องกันการเกิดภาวะ ‘ช็อก’ 

 

สำรวจข้อมูลพบ ‘กลุ่มอาหารและเครื่อง-แบงก์-สถาบันการเงิน’ นำใช้มาตรการผ่อนปรน 100% 

 

PwC ประเทศไทย นำโดย สินสิริ ทังสมบัติ หัวหน้าสายงานตรวจสอบบัญชีและหุ้นส่วน และ วันดี ลีวรรัตน์ ผู้อำนวยการ นำเสนอข้อมูลเรื่อง ‘ผลกระทบต่องบการเงิน บจ. ไทยปี 2564 หลังมาตรการผ่อนปรนทางบัญชีสิ้นสุดปลายปีนี้’ ซึ่งครอบคลุม 7 เรื่องต่อไปนี้ 

 

  1. การวัดมูลค่าผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยวิธีอย่างง่าย (TFRS 9)
  2. การวัดมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนในตราสารทุนที่ไม่อยู่ในความต้องการของตลาด (TFRS 9)
  3. การวัดมูลค่ายุติธรรมสำหรับรายการสินทรัพย์ทางการเงิน และสินทรัพย์ที่ไม่ใช่สินทรัพย์ทางการเงิน (TFRS 13)
  4. การเปลี่ยนแปลงสัญญาเช่า (TFRS 16)
  5. การกลับรายการสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี (TAS 12)
  6. การประเมินข้อบ่งชี้การด้อยค่าของสินทรัพย์ (TAS 36)
  7. การประมาณการหนี้สิน (TAS 37)

 

PwC ระบุว่า หากมาดูในรายละเอียดซึ่งผ่อนปรนที่ให้ ส่วนใหญ่กระทบกับการประมาณการ ซึ่งขึ้นกับเหตุการณ์ในอนาคต และการประมาณการดังกล่าวส่วนใหญ่กระทบกับการแสดงมูลค่าของสินทรัพย์ในงบการเงิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการคิดค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งปกติในการประมาณการจะต้องใช้ข้อมูลในอดีต สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และต้องคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดในอนาคต ซึ่งในข้อยกเว้นกำหนดทางเลือกที่จะไม่ต้องนำข้อมูลที่มีการคาดการณ์ในอนาคต (Forward-looking information) มาใช้ในการคิดมูลค่าของผลขาดทุนทางด้านเครดิต 

 

นอกจากนั้น ยังมีข้อผ่อนปรนสำหรับการวัดมูลค่ายุติธรรม เช่น การที่กิจการสามารถเลือกวัดมูลค่ายุติธรรมของตราสารทุนในแต่ละรอบระยะเวลาสิ้นไตรมาสและสิ้นปีของปี พ.ศ. 2563 ด้วยมูลค่ายุติธรรม ณ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 แทนการวัดมูลค่ายุติธรรมใหม่ทุกไตรมาส ซึ่ง ณ เวลานั้นในการคาดการณ์มูลค่ายุติธรรม อาจยังไม่ได้มีผลกระทบจากโควิด-19 มากนัก รวมทั้งในการจัดทำมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ที่ไม่ใช่สินทรัพย์ทางการเงิน และสินทรัพย์ทางการเงินบางประเภทที่ต้องใช้การประมาณการ กิจการสามารถให้น้ำหนักของข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 เป็นน้ำหนักน้อย 

 

ส่วนในเรื่องของการประเมินการด้อยค่าได้ให้ข้อผ่อนปรนสองส่วน ส่วนแรกเป็นการให้ทางเลือกที่จะไม่นำสถานการณ์โควิด-19 มาถือเป็นข้อบ่งชี้ของการด้อยค่า ซึ่งหากไม่มีข้อผ่อนปรนดังกล่าว การเกิดสถานการณ์โควิด-19 ถือเป็นสถานการณ์ทางด้านลบ ซึ่งถือเป็นเหตุให้กิจการต้องทำการทดสอบการด้อยค่า การให้ข้อยกเว้นในข้อนี้ ทำให้กิจการไม่ต้องทำการทดสอบการด้อยค่า 

 

ส่วนที่สองของการให้ข้อผ่อนปรนที่เกี่ยวข้องกับการด้อยค่า คือการผ่อนปรนในเรื่องของการที่กิจการสามารถเลือกที่จะไม่ต้องนำข้อมูลจากสถานการณ์โควิด-19 ที่อาจกระทบต่อการพยากรณ์ทางการเงินในอนาคตมาใช้ประกอบการทดสอบการด้อยค่าได้ สำหรับสินทรัพย์บางกลุ่มที่ต้องทำการทดสอบการด้อยค่าเป็นประจำทุกปี ถึงแม้ว่าจะไม่มีข้อบ่งชี้ของการด้อยค่าก็ตาม 

 

ซึ่งสินทรัพย์ดังกล่าว ครอบคลุมถึงค่าความนิยม สินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่มีอายุการให้ประโยชน์ไม่ทราบแน่นอน และสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่ยังไม่พร้อมใช้งาน นอกจากนั้น ข้อผ่อนปรนดังกล่าวยังให้ทางเลือกกับกิจการในการที่จะไม่นำข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ที่มีความไม่แน่นอน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการประมาณกำไรทางภาษีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมาเป็นข้อมูลในการประมาณความเพียงพอของกำไรทางภาษีที่จะเกิดขึ้น เพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี และรับรู้เป็นสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีได้

 

จากข้อมูลข้างต้นจะพบว่า การให้ข้อผ่อนปรนดังกล่าว ส่งผลกระทบกับมูลค่าสินทรัพย์รายการใหญ่หลายรายการในงบการเงิน เช่น ลูกหนี้การค้า ลูกหนี้สัญญาเช่า ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ สินทรัพย์ไม่มีตัวตน สินทรัพย์ทางการเงินทั้งตราสารหนี้ ตราสารทุน ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี และค่าความนิยม ซึ่งมักเป็นรายการที่มีสาระสำคัญในงบการเงิน 

 

ดังนั้น หากการผ่อนปรนหมดอายุลง ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563 นั่นแปลว่า ในการจัดทำงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลาสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2564 จะต้องทำให้กิจการหยุดการปฏิบัติตามข้อผ่อนปรน และต้องกลับไปใช้หลักการตามปกติที่กำหนดอยู่ในมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ซึ่งอาจส่งผลให้มูลค่าของสินทรัพย์ที่แสดงอยู่เปลี่ยนแปลงไป 

 

“ฉะนั้น ผู้จัดทำงบการเงินควรประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่ากระทบกิจการมากที่สุดแค่ไหน อะไรบ้าง และบันทึกส่วนผลกระทบไป เพื่อให้ผู้อ่านงบการเงินได้พิจารณาจากข้อเท็จจริง และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้เกิดภาวะช็อก หลังจากมาตรการผ่อนปรนต่างๆ สิ้นสุดลง และต้องกลับไปจัดทำงบบัญชีการเงินตามกฎระเบียบเดิมแบบไม่มีข้อผ่อนปรน” 

 

ทั้งนี้ PwC ได้สำรวจสถิติการใช้มาตรการผ่อนปรนของ TFAC 2 ฉบับของ SET100 ในงบการเงินไตรมาส 2/63 พบว่า กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มสถาบันการเงิน และกลุ่มการเงินและหลักทรัพย์ ต่างใช้มาตรการผ่อนปรนครบ 100% (นัยว่าใช้ทุกข้อผ่อนปรน) ขณะที่กลุ่มอื่น เช่น ไอทีและสื่อสาร กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ กลุ่มพาณิชย์ ก็มีการใช้ข้อผ่อนปรนทางบัญชีเช่นเดียวกัน ดังตาราง

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising