วันนี้ (26 สิงหาคม) พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แถลงถึงกรณีที่ส่งหนังสือให้แพลตฟอร์มออนไลน์ปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลตามคำสั่งศาลในวันนี้อีกจำนวน 1,024 รายการ (URL) โดยแยกเป็น Facebook จำนวน 661 รายการ, YouTube 289 รายการ, Twitter 69 รายการ และเว็บไซต์อื่นๆ จำนวน 5 รายการ ซึ่งมีการติดตามให้ทุกแพลตฟอร์มต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาล หากไม่ปฏิบัติตามก็จะมีการดำเนินคดีกับแพลตฟอร์มตามกฎหมายต่อไป
พุทธิพงษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงมีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้ส่งหนังสือแจ้งเตือนผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและผู้ให้บริการบนแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์เป็นจำนวน 1,276 รายการ (URL) อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่า ยังอยู่ระหว่างดำเนินการจำนวน 1,129 รายการ ตามคำสั่งศาล 33 คำสั่งในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2563 ขณะที่ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา Facebook ได้ดำเนินการปิดกั้นครบแล้วในช่วงเวลาประมาณ 23.00 น. รวมถึงกลุ่ม ‘รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส’ ที่ขณะนี้ไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มนี้ได้อีกแล้ว
“ทางกระทรวงไม่ได้คิดเองนะครับ ไม่ได้ใช้ความคิดของตัวเองไปรังแกใคร เราใช้คำสั่งศาลภายใต้กฎหมายของประเทศไทย เราปกป้องอธิปไตยของไทย ซึ่งวันนี้ไม่ได้มาในรูปแบบพื้นที่ขอบเขตดินแดน เราใช้คำว่าอธิปไตยไซเบอร์” พุทธิพงษ์ กล่าว
พุทธิพงษ์ยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าของเพจอาสา จับตา ออนไลน์ หลังเปิดตัวเป็นช่องทางให้ประชาชนส่งข้อมูลแจ้งเบาะแสสื่อสังคมออนไลน์หรือเว็บไซต์ผิดกฎหมาย เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบทางกฎหมายว่า ตลอดกว่า 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มียอดแจ้งเบาะแสเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และพบว่าข้อความที่ตรวจสอบแล้วเข้าข่ายผิดกฎหมายเริ่มมีแนวโน้มลดลง
โดยสถิติระหว่างวันที่ 15-24 สิงหาคม 2563 มีผู้ส่งข้อมูลแจ้งเบาะแสสื่อสังคมออนไลน์หรือเว็บไซต์ผิดกฎหมายเข้ามาจำนวน 2,931 รายการ (URL) ในจำนวนนี้พบว่าเป็นรายการที่ซ้ำซ้อนหรือไม่เข้าข้อกฎหมาย จำนวน 1,891 รายการ โดยตรวจสอบแล้วเข้าข้อกฎหมายจำนวน 680 รายการ แบ่งเป็น Facebook จำนวน 434 รายการ, YouTube 63 รายการ, Twitter 50 รายการ และเว็บไซต์หรืออื่นๆ จำนวน 133 รายการ หลังผ่านกระบวนการตรวจสอบ ศาลมีคำสั่งแล้วทั้งสิ้นจำนวน 354 รายการ และอยู่ระหว่างดำเนินการยื่นขอศาล 326 รายการ ขณะที่คงเหลือข้อมูลที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบจำนวน 360 รายการ
สำหรับตัวเลขรวมที่ได้รับการแจ้งเบาะแสจากประชาชนนับตั้งแต่วันเปิดตัวเพจอาสา จับตา ออนไลน์ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ถึง 24 สิงหาคม 2563 มีผู้ส่งข้อมูลแจ้งเบาะแสสื่อสังคมออนไลน์หรือเว็บผิดกฎหมายเข้ามาทั้งสิ้น 5,943 รายการ ในจำนวนนี้พบว่าเป็นรายการซ้ำซ้อนหรือไม่เข้าข้อกฎหมาย 3,232 รายการ และตรวจสอบแล้วเข้าข้อกฎหมาย 2,260 รายการ โดยศาลมีคำสั่งแล้วจำนวน 1,781 รายการ อยู่ระหว่างดำเนินการยื่นขอศาล 479 รายการ และอยู่ระหว่างการตรวจสอบ 451 รายการ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการปิดกั้นกลุ่ม ‘รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส’ มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันหรือไม่ พุทธิพงษ์กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการให้ทาง Facebook ปิดกั้นการเข้าถึงนั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง
“เคยมีการส่งหนังสือให้ Facebook ปิดกั้นกลุ่มดังกล่าวตามคำสั่งศาลมาแล้ว 3 ครั้ง เพียงแต่ก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการแจ้งว่าหากไม่ดำเนินการตามคำสั่งศาลภายใน 15 วันจะมีการดำเนินคดีกับทางแพลตฟอร์ม แต่ล่าสุดได้มีการยื่นหนังสือให้ทาง Facebook ปิดกั้นภายใน 15 วัน จึงมีการปิดกั้นเกิดขึ้น หากมีการตั้งกลุ่มใหม่และมีเนื้อหาผิดกฎหมาย ก็จะมีการดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป” พุทธิพงษ์ กล่าว
ส่วนการดำเนินคดีกับทางแพลตฟอร์มนั้น หากครบระยะเวลา 15 วันแล้วไม่มีการดำเนินการตามคำสั่งศาล ก็จะมีการนำหลักฐานส่งให้ตำรวจแล้วดำเนินการตามมาตรา 27 ของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และตำรวจก็จะมีการดำเนินการต่อไปตามกฎหมาย โดยเฉพาะในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล
เมื่อถามถึงกรณีที่ Facebook เตรียมฟ้องรัฐบาลไทย เนื่องจากกดดันให้มีการปิดกั้นกลุ่ม ‘รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส’ ซึ่งทาง Facebook แถลงว่าอาจขัดต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และขัดต่อการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พุทธิพงษ์กล่าวว่า ตนมั่นใจว่า Facebook ไม่น่าจะทำอย่างนั้น เนื่องจากคนไทยใช้ Facebook เยอะ มีการค้าขายออนไลน์ และคำสั่งศาลที่ส่งไปแล้วนั้น Facebook ก็ร่วมมือเป็นอย่างดี
“ในความร่วมมือนี้เราเชื่อว่าเขาเข้าใจระดับหนึ่งว่าเราทำตามกฎหมาย ไม่ใช่เป็นคำขอส่วนตัว ไม่ใช่เพราะรัฐบาลขอ บางทีสื่อก็ไปเขียนพลาดนิดหน่อยว่ารัฐบาลกดดันหรือไปสั่งเขา ซึ่งมันไม่ใช่ เราดำเนินการตามคำสั่งศาลตลอด” พุทธิพงษ์ กล่าว
ส่วนกรณีที่หากผู้ใช้เฟซบุ๊กอยู่ในกลุ่มที่ผิดกฎหมาย พุทธิพงษ์กล่าวว่า หากเข้าไปอยู่เฉยๆ ไม่ได้โพสต์ ส่งต่อ หรือกระทำใดๆ ที่ผิดกฎหมาย ก็ถือว่ายังไม่มีความผิด ซึ่งโดยปกติ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ก็จะเน้นที่ตัวผู้นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จก่อน นี่เป็นที่มาของการดำเนินคดีกับแอดมินก่อน ส่วนคนที่แชร์หรือกดไลก์ ความผิดอาจยังไปไม่ถึง แต่ถ้าส่งต่อ หมายถึงกลายเป็นคนนำเข้าข้อมูลเท็จก็อาจผิดได้
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า