×

พุทธิพงษ์ถก กสทช. ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต กวาดล้างพนันออนไลน์ ส่งหนังสือเตือนแพลตฟอร์มเผยแพร่เนื้อหาผิดกฎหมาย

โดย THE STANDARD TEAM
09.09.2020
  • LOADING...

วันนี้ (9 กันยายน) พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้เป็นประธานการประชุมหารือแก้ไขปัญหาการพนันออนไลน์ร่วมกับ กสทช. กับไอเอสพี (ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต) และโอเปอเรเตอร์ทุกราย เพื่อหาแนวทางความร่วมมือแก้ปัญหาที่แพร่กระจายอย่างกว้างขวาง 

 

โดยในช่วงเดือนที่ผ่านมา ดีอีเอสระบุว่าได้ประสานงานและทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนสามารถดำเนินการจับกุมพนันออนไลน์กว่า 20 รายใหญ่ทั่วประเทศ วงเงินหมุนเวียนกว่า 1,000 ล้านบาท ตามกฎหมายพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 

 

พุทธิพงษ์กล่าวว่า “กระทรวงดีอีเอสตระหนักถึงปัญหาการพนันออนไลน์ที่มีผลกระทบมากมายทั้งต่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงสร้างความเดือดร้อนแก่คนในครอบครัว ด้วยเหตุนี้จึงได้หารือกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา) และผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข) ในการปราบปรามและทำการสืบสวนจนนำไปสู่การจับกุม”

 

ทั้งนี้พุทธิพงษ์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการแก้ไขปัญหาพนันออนไลน์ต้องมีการ ‘บูรณาการเพื่อร่วมกันออกมาตรการในการแก้ไขปัญหา’ เนื่องจากปัจจุบันการพนันออนไลน์ถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4 ทวิ และผู้ที่ทำการโฆษณาหรือชักชวนผู้อื่นเล่นพนันมีความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน และมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (แก้ไข พ.ศ. 2560) มาตรา 20 (3) 

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจุบันพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ฯ ในมาตรา 20 ไม่ได้ให้อำนาจกระทรวงในเรื่องนี้ แต่ระบุให้ต้องมีหน่วยงานอื่นมาแจ้งความก่อน และบทลงโทษต้องใช้กฎหมายอื่นมาประกอบ พร้อมกันนี้ได้เปิดช่องทางให้ประชาชนในการแจ้ง หากพบเห็นสื่อโฆษณาหรือโพสต์ชักชวนให้เล่นการพนันออนไลน์ สามารถแคปเจอร์หน้าจอพร้อมแจ้งลิงก์หรือยูอาร์แอลเว็บไซต์นั้นๆ ส่งมาโดยตรงที่เพจ ‘อาสา จับตา ออนไลน์’ ทางอินบ๊อกซ์ (m.me/DESMonitor) จะมีเจ้าหน้าที่รับเรื่องตลอด 24 ชั่วโมง โดยจะนำข้อมูลเบาะแสส่งให้ตำรวจพิจารณาหาตัวผู้กระทำความผิดต่อไป ในส่วนของดีอีเอส เมื่อได้รับการยืนยันความผิดจากตำรวจแล้วก็จะดำเนินการปิดเว็บไซต์พนันดังกล่าวต่อไป

 

ก่อนหน้านี้มีการเปิดเผยข้อมูลในระหว่างงานเสวนาที่จัดโดยกลุ่มสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย และเครือข่ายเยาวชนรวม 6 เครือข่าย เกี่ยวกับผลสำรวจพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนกับการใช้สื่อออนไลน์ในช่วงโควิด-19 พบว่าช่องทางที่พบเห็นโฆษณาให้เล่นพนันเป็นเฟซบุ๊กมากที่สุด 76.53% รองลงมาคือเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม 70.64% และไลน์ 32.50%

 

พุทธิพงษ์กล่าวเพิ่มว่า ส่วนการดำเนินการแจ้งเตือนผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับเนื้อหาผิดกฎหมายเพิ่มเติม ล่าสุดกระทรวงเตรียมส่งหนังสือแจ้งเตือน (ชุดที่ 3) ไปยังเจ้าของแพลตฟอร์มที่เป็นช่องทางเผยแพร่รวม 3,097 รายการ (ยูอาร์แอล) แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก 1,748 ยูอาร์แอล, ยูทูบ 607 ยูอาร์แอล, ทวิตเตอร์ 261 ยูอาร์แอล และเว็บไซต์อื่นๆ 481 ยูอาร์แอล โดยเนื้อหาผิดกฎหมายเหล่านี้ครอบคลุมทั้งเรื่องหมิ่นสถาบัน ลามก การพนัน ยาเสพติด และลิขสิทธิ์

 

ส่วนเมื่อนับเฉพาะการแจ้งเบาะแสในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 29 สิงหาคม ถึง 7 กันยายน 2563) มีข้อมูลแจ้งจำนวน 1,541 ยูอาร์แอล โดยเป็นรายการที่ซ้ำซ้อน/ไม่เข้าข้อกฎหมาย จำนวน 1,331 ยูอาร์แอล และตรวจสอบพบว่าเข้าข้อกฎหมาย 210 ยูอาร์แอล ประกอบด้วย เฟซบุ๊ก 161 ยูอาร์แอล, ยูทูบ 29 ยูอาร์แอล, ทวิตเตอร์ 2 ยูอาร์แอล และเว็บไซต์/อื่นๆ 18 ยูอาร์แอล โดยศาลมีคำสั่งแล้วจำนวนรวม 106 ยูอาร์แอล และอยู่ระหว่างยื่นขอหมายศาล 104 ยูอาร์แอล

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising