วันนี้ (10 สิงหาคม) พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา ระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนและกลุ่มต่อต้านลักษณะม็อบชนม็อบว่า ความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างเป็นเรื่องปกติในทางประชาธิปไตย แต่อยากให้ระมัดระวังในการใช้โซเชียลมีเดีย เพราะเท่าที่ติดตามบางข้อมูลก็บิดเบือนจากความจริง ทำให้สร้างความสับสน ทำให้คนออกมาชุมนุมเพราะทราบข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้มองว่าการออกมาแสดงออกในพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่ที่ได้รับอนุญาต ก็ยังสามารถแสดงสิทธิของตนเองได้ แต่ต้องไม่เกิดการปะทะของสองฝ่ายและอยู่ในกรอบกฎหมาย
“เราเห็นแตกต่างทางการเมืองได้ แต่ไม่ควรล่วงเกินหรือละเมิดสิทธิ์ของคนอื่น รวมไปถึงสถาบันหลักของประเทศ เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ต้องช่วยกันปกป้องคุ้มครองสถาบันหลักของประเทศ ประเทศเรามาวันนี้ได้ มีที่มาที่ไป มีหลายเรื่องที่เราควรเรียนรู้ เพราะถ้าไปละเมิดสถาบันหลักของประเทศ ผมคิดว่าใครก็คงยอมรับไม่ได้” พุทธิพงษ์กล่าว
พุทธิพงษ์กล่าวต่อไปว่า เขายังเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ และเป็นไปได้น้อยที่จะมีการปะทะกันของทั้งสองม็อบ และหากสองฝั่งแสดงความคิดเห็นในกรอบกฎหมาย คิดเห็นต่างตามรัฐธรรมนูญก็ทำได้ แต่การปะทะกันไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ จากอดีตที่ผ่านมาหลายยุคหลายสมัย การปะทะมีแต่ความเสียหาย มีแต่ความสูญเสีย หากแสดงออกอย่างคนรุ่นใหม่โดยเหตุและผลก็ยังรับได้
พุทธิพงษ์กล่าวด้วยว่า สำหรับการดำเนินคดีกับแอ็กเคานต์ที่กระทำความผิดและไม่เหมาะสมในออนไลน์นั้น ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีหลายพันเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามา ซึ่งได้ส่งศาลไปแล้วประมาณ 700 เรื่อง รวมถึงแอ็กเคานต์ก่อนหน้านี้อีก 3,100 เรื่อง และศาลก็มีคำสั่งออกมา ก็ดำเนินการส่งต่อให้แพลตฟอร์มต่างประเทศได้ทราบคำสั่งศาลไทยให้ปิดหรือลบตามคำสั่ง ซึ่งจากเดิมเคยส่งไปแล้วเขาไม่ทำอะไรก็ปล่อยทิ้งไว้ แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่จะใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 27 หากภายใน 15 วัน ทั้งเฟซบุ๊ก ยูทูบ ทวิตเตอร์ ไม่ดำเนินการ ก็จะเริ่มดำเนินคดีกับแพลตฟอร์มต่างประเทศ โดยนับวันนี้วันแรก ซึ่งบ่ายวันนี้จะส่งจดหมายเตือนไป หากไม่ดำเนินการมีโทษทางอาญาและโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท และปรับรายวันอีกไม่เกิน 5,000 บาท มีกี่เนื้อหาที่ไม่ทำตามก็คูณเข้าไป โดยจะดำเนินการทั้งไอพีที่อยู่ในไทยและต่างประเทศ
ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์แกนนำกลุ่มปกป้องสถาบัน และปรากฏภาพหมู่ที่ถ่ายร่วมกับรัฐมนตรี กปปส. จนนำไปเชื่อมโยงกันนั้น พุทธิพงษ์ยืนยันว่า ได้เห็นรูปดังกล่าวแล้ว ส่วนตัวยืนยันว่าไม่รู้จักกัน เรื่องนี้อธิบายยาก เวลาไปในที่คนเยอะๆ ไม่ได้รู้จักทุกคน โอกาสรู้จักจริงน้อยมาก แต่ต้องสอบต่อไปว่าเกี่ยวโยงหรือไม่ และเมื่อเวลาผ่านไปบางคนก็สามารถเปลี่ยนแนวความคิดไปสนับสนุนใครก็ได้ เป็นสิทธิของทุกคน ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องผูกมัด แต่พฤติกรรมต่างหากที่ต้องดู ถ้าคิดร้ายต่อบ้านเมืองแบบนี้ถือว่าน่ากังวล
เมื่อถามว่าวันนี้ กปปส. ยังมีอยู่หรือไม่ พุทธิพงษ์ย้ำว่า กปปส. ไม่เคยหมดไป แต่เป็นความทรงจำในการต่อสู้ในอดีต วันนี้ก็เป็นเพื่อนกัน แต่ถ้าจะไปรวบรวมจัดตั้งเพื่อมาต่อสู้กับใคร ตนคิดว่าไม่มี ส่วนหากมีเรื่องที่ไม่ถูกต้องในบ้านเมืองจะนำไปสู่การออกมาหรือไม่ ก็เป็นเรื่องความรู้สึกของคนไทยทุกคน หากมีอะไรไม่ถูกต้องก็คงจะออกมาเสมอ ไม่ว่าฝั่งใดก็ตาม
“ตนในฐานะคนที่เคยออกมา ก็อยากเตือนไปถึงน้องๆ ว่า การออกมาชุมนุมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อเสียคือมีความสูญเสียเกิดขึ้น หากจะทำอะไรต้องตัดสินใจให้อยู่ในกฎหมาย และการชุมนุมทุกครั้งจะต้องถูกดำเนินคดี ขึ้นโรงขึ้นศาล ใช้เวลานานจนกว่าทุกอย่างจะคลี่คลาย เสียเวลา เสียโอกาสในหลายๆ เรื่อง” พุทธิพงษ์กล่าวในที่สุด
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า