×

วิเคราะห์ความเป็นไปได้ ปูตินกดปุ่มสงครามนิวเคลียร์ ทำจริงหรือแค่ขู่?

28.02.2022
  • LOADING...
KEY MESSAGES

ท่าทีของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ที่ประกาศคำสั่งเตรียมความพร้อมกองกำลังป้องปรามนิวเคลียร์ (Nuclear Deterrent Forces) ส่งผลให้ทั่วโลกแสดงความกังวลว่า ผู้นำรัสเซียกำลังส่ง ‘สัญญาณ’ หรือ ‘คำขู่’ ที่จะยกระดับสถานการณ์ตึงเครียดของปฏิบัติการทางทหารในยูเครน ไปสู่สงครามอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อตอบโต้ท่าทีรุกรานและมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ และชาติตะวันตก

 

ถ้อยแถลงอันแข็งกร้าวของปูตินเมื่อวานนี้ (27 กุมภาพันธ์) กล่าวโทษแถลงการณ์เชิงรุกรานจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของชาติสมาชิกหัวแถวของ NATO พร้อมทั้งการกระทำอัน ‘ไม่เป็นมิตร’ ของชาติตะวันตก ที่ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินขั้นรุนแรงต่อรัสเซีย รวมถึงคว่ำบาตรตัวเขาโดยตรง ซึ่งปูตินมองว่าเป็นการกระทำที่ ‘ไม่ชอบด้วยกฎหมาย’

 

โอกาสและความเป็นไปได้ที่ปูตินจะขยายความขัดแย้งนี้ไปสู่จุดสูงสุดด้วยอาวุธนิวเคลียร์ถูกจับตามองจากนานาชาติ ซึ่งนักวิเคราะห์และสื่อมวลชนได้ให้ความเห็นถึงแนวโน้มและความเสี่ยงที่ผู้นำรัสเซียจะกดปุ่มเปิดฉากสงครามนิวเคลียร์ไว้ดังนี้

 

วลี “ไม่มีทางทำ” ใช้ไม่ได้กับปูติน

 

  • สตีฟ โรเซนเบิร์ก ผู้สื่อข่าวประจำกรุงมอสโกของ BBC หยิบยกบทเรียนจากในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งมีหลายครั้งที่เขาคิดว่า “ปูตินจะไม่มีวันทำสิ่งนี้” แต่ท้ายที่สุดเขากลับตัดสินใจทำมันจริงๆ ตัวอย่างเช่น

 

“เขาไม่มีทางผนวกรวมไครเมียแน่นอน” – เขาทำ

“เขาไม่มีทางเริ่มสงครามในดอนบาส” – เขาทำ

“เขาไม่มีทางทำสงครามเต็มรูปแบบในยูเครน” – เขาทำ

 

  • ข้อสรุปที่ได้คือวลี “จะไม่มีทางทำ” นั้นใช้ไม่ได้กับปูติน และนั่นทำให้เกิดคำถามที่ไม่ค่อยสบายใจนักสำหรับทั่วโลกคือ “เขาจะไม่มีทางกดปุ่มยิงนิวเคลียร์ก่อน จริงไหม?”

 

  • คำถามนี้ไม่ใช่คำถามในเชิงทฤษฎี เนื่องจากปูตินเพิ่งประกาศให้กองกำลังนิวเคลียร์ของเขาเตรียมความพร้อม ‘เป็นพิเศษ’ และต่อว่าแถลงการณ์เชิงรุกรานของมหาอำนาจ NATO 

 

  • ซึ่งหากตั้งใจฟังในสิ่งที่ปูตินกล่าวเมื่อตอนประกาศเปิดฉากทำสงครามในยูเครน หรือที่เขาเรียกว่า ‘ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร’ เมื่อวันพฤหัสบดี (24 กุมภาพันธ์) ที่ผ่านมา เขาได้ส่งข้อความเตือนที่รุนแรงไปยังชาติตะวันตกหรือประเทศใดก็ตามที่คิดแทรกแซงการทำสงครามในยูเครนครั้งนี้

 

“สำหรับใครก็ตามที่คิดจะแทรกแซงจากภายนอก หากคุณทำ คุณจะเผชิญกับผลที่ตามมา ซึ่งยิ่งใหญ่กว่าสิ่งใดก็ตามที่คุณเคยเผชิญมาในประวัติศาสตร์” 

 

ไม่มีรัสเซีย จะมีโลกไปทำไม

 

  • ดีมิทรี มูราตอฟ หัวหน้าบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รัสเซีย Novaya Gazeta และผู้ชนะรางวัลโนเบลสันติภาพในปี 2021 กล่าวว่า ข้อความของปูตินเป็นเหมือนการขู่ทำสงครามนิวเคลียร์โดยตรง และมองการแถลงของปูตินว่า “เขาไม่ได้ทำตัวเหมือนเป็นเจ้านายของรัสเซีย แต่เป็นเจ้านายของทั้งโลก เขาพูดหลายต่อหลายครั้งว่าหากไม่มีรัสเซีย จะมีโลกไปทำไม?” ซึ่งแม้จะไม่มีใครสนใจ แต่นี่คือคำขู่ว่า “หากรัสเซียไม่ได้รับการปฏิบัติตามที่เขาต้องการ ทุกอย่างจะพังทลาย”

 

  • ย้อนกลับไปในสารคดีเรื่องหนึ่งเมื่อปี 2018 มีการแสดงความเห็นของปูตินที่กล่าวไว้คล้ายกันว่า “ถ้ามีคนตัดสินใจจะทำลายล้างรัสเซีย เรามีสิทธิ์ตามกฎหมายที่จะตอบโต้, ใช่ มันจะเป็นหายนะสำหรับมนุษยชาติและต่อโลก แต่ผมเป็นพลเมืองของรัสเซียและผู้นำแห่งรัฐ ทำไมเราถึงต้องการโลกที่ไม่มีรัสเซียอยู่ในนั้น” 

 

ปูตินไม่มีทางเลือกมากนัก

 

  • ในสงครามยูเครนครั้งนี้ ปูตินได้เปิดฉากการบุกเต็มรูปแบบ แต่เผชิญการต่อต้านอย่างรุนแรงจากกองทัพรัฐบาลยูเครน ในขณะที่ชาติตะวันตกก็สร้างความประหลาดใจแก่เครมลิน ด้วยการจับมือคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการเงินขั้นรุนแรงจนถึงขั้นอาจทำให้เศรษฐกิจของรัสเซียล่มสลาย ซึ่งอาจส่งผลให้ระบบปกครองของปูตินถูกตั้งคำถาม

 

  • พาเวล เฟลเจนฮอยเออร์ นักวิเคราะห์ด้านการป้องกันประเทศในมอสโก เชื่อว่าปูตินกำลังอยู่ในจุดที่ถูกบีบคั้นและไม่มีตัวเลือกหลงเหลือมากนักในการตอบโต้ชาติตะวันตก 

 

“เขาไม่มีทางเลือกมากนัก เมื่อชาติตะวันตกอายัดทรัพย์สินของธนาคารกลางรัสเซียและระบบการเงินของรัสเซียล่มสลายขึ้นมาจริงๆ นั่นจะทำให้ระบบปกครองของปูตินใช้งานไม่ได้”

 

  • เฟลเจนฮอยเออร์ชี้ว่า หนึ่งในทางเลือกของปูตินคือการตัดการส่งก๊าซธรรมชาติไปยังยุโรป ซึ่งจะส่งผลกระทบหนักต่อประชาชนในยุโรปที่พึ่งพิงก๊าซจากรัสเซียกว่า 40% ของปริมาณก๊าซที่นำเข้าทั้งหมด

 

  • ส่วนอีกทางเลือกคือการยิงระเบิดนิวเคลียร์ไปยังสถานที่ใดสักแห่งในทะเลเหนือ ระหว่างอังกฤษและเดนมาร์กเพื่อดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น โดยเฟลเจนฮอยเออร์แสดงความสงสัยว่า หากปูตินเลือกข้อนี้ จะมีใครที่อยู่รอบตัวเขาพยายามห้ามปรามหรือหยุดยั้งการกระทำของเขาหรือไม่? 

 

  • แต่ในยุคที่ปูตินครองอำนาจแบบเบ็ดเสร็จทั้งหมด เป็นไปได้สูงที่จะ ‘ไม่มีใครกล้าขวางปูติน’ ซึ่งเฟลเจนฮอยเออร์มองว่าสถานการณ์ตอนนี้กำลังอยู่ในจุดที่ ‘อันตราย’

 

  • ขณะที่มูราตอฟชี้ว่า “กลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองของรัสเซียนั้นไม่เคยอยู่ข้างประชาชน และพวกเขาจะยืนอยู่ข้างผู้ปกครองอำนาจเสมอ” 

 

  • สำหรับสถานการณ์สงครามในยูเครนนั้น จะเรียกว่าเป็นสงครามของปูตินก็ไม่ผิดนัก ซึ่งหากผู้นำรัฐบาลเครมลินบรรลุเป้าหมายทางทหารในการบุกครั้งนี้ อนาคตของยูเครนในฐานะประเทศอธิปไตยก็อาจมีความไม่แน่นอน 

 

  • แต่หากเป็นฝ่ายมอสโกที่ประสบความพ่ายแพ้และล้มเหลวในการยึดครองยูเครน และได้รับความสูญเสียอย่างหนักในการรบครั้งนี้ สิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งคือผู้นำเครมลินอาจตัดสินใจใช้มาตรการที่สิ้นหวัง เช่นการยิงอาวุธนิวเคลียร์เพื่อตอบโต้ เพราะหากไม่ทำ ก็อาจจะ ‘ไม่มีโอกาสได้ทำอีกต่อไป’

 

ชาติตะวันตกและ NATO ต้องยับยั้งชั่งใจ แต่ไม่ปราณี

 

  • แดริล คิมบัลล์ กรรมการบริหารสมาคมควบคุมอาวุธ (Arms Control Association: ACA) ของสหรัฐฯ กล่าวว่า คำสั่งของปูตินที่ให้กองกำลังป้องปรามนิวเคลียร์เตรียมความพร้อมเข้าสู่ ‘โหมดพิเศษของภารกิจการรบ’ นั้นเป็นสิ่งที่น่าเสียใจ แต่ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจนัก เนื่องจากก่อนหน้านี้เขาเคยขู่จะตอบโต้ประเทศใดก็ตามที่พยายามยับยั้งปฏิบัติการของรัสเซียในยูเครน 

 

  • แต่การใช้อาวุธนิวเคลียร์ในสงครามยูเครน ณ จุดนี้ ถือเป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่ง ซึ่งเขามองว่ารัฐบาลวอชิงตัน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และ NATO ต้องดำเนินการด้วยความยับยั้งชั่งใจอย่างสูงสุด ในขณะที่ไม่ตอบโต้ด้วยความปราณี

 

“นี่เป็นช่วงเวลาที่อันตรายมากในวิกฤตนี้ และเราจำเป็นต้องเรียกร้องให้ผู้นำของเราเดินกลับจากปากหลุมของสงครามนิวเคลียร์” เขากล่าว

 

ภาพ: Photo by Konstantin Zavrazhin / Getty Images, TASS\TASS via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X