ขาดทุนมา 10 ปี วันนี้ ‘กาแฟพันธุ์ไทย’ กลับมาเติบโตแล้วใน 9 เดือนแรก ทำยอดขาย 1,540 ล้านบาท โต 75.1% ย้ำ ‘คัลแลน-พี่จอง’ พรีเซนเตอร์คนแรก มีส่วนช่วยดึงคนรุ่นใหม่เข้าร้าน จากนี้ตั้งเป้าจะเป็นเบอร์ 1 ในแง่ของจำนวนสาขา แซงหน้าคู่แข่งอย่าง Café Amazon ภายใน 3 ปี
พิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมากาแฟพันธุ์ไทยขาดทุนมาตลอด แต่วันนี้กลับมาเติบโตและทำกำไรได้แล้ว สะท้อนได้จากตัวเลขการเติบโต 9 เดือนแรกที่ทำรายได้ไป 1,540 ล้านบาท เติบโต 75.1%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- กาแฟพันธุ์ไทยจะไม่เป็นแค่เบอร์ 2 ขอท้าชิงส่วนแบ่งตลาดกาแฟให้ได้ 45% พร้อมเปิดตัว ‘กาแฟดริป’ รับโอกาสตลาด Home Coffee โตแรง
- PTG รุกธุรกิจเช่าซื้อรถบรรทุกมือสอง เจียดงบ 825 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้น ‘ไพศาล แคปปิตอล’ ในสัดส่วน 33.33%
- ‘Subway’ ในมือเจ้าของปั๊ม PT จะแจ้งเกิดได้หรือไม่? หลังเปิดมา 20 กว่าปี แต่คนไทยยังไม่ค่อยรู้จักเท่าไรนัก
ส่วนใหญ่มาจากยอดขายของสาขาเดิม (Same-Store Sales Growth) ที่ยังคงเติบโตระหว่าง 20-30% และขายเครื่องดื่มได้ 100-120 แก้วต่อวันต่อสาขา โดยสิ้นปีนี้คาดว่าจะปิดยอดรายได้รวมกว่า 2,000 ล้านบาท
อีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตคือการพยายามสร้าง DNA ให้กับแบรนด์มาโดยตลอด และเมื่อไม่นานมานี้ก็เปิดตัว ‘คัลแลน-พี่จอง’ ยูทูเบอร์ชื่อดังเข้ามาช่วยสื่อสารแบรนด์และนับเป็นครั้งแรกที่พันธุ์ไทยเลือกใช้พรีเซนเตอร์
ต้องยอมรับว่าภาพลักษณ์และฐานแฟนคลับของคัลแลน-พี่จองเข้ามาช่วยเพิ่มความโดดเด่นและสร้าง Brand Awareness ให้กับแบรนด์ได้เป็นอย่างดี และหลังจากเปิดตัวมาก็ทำให้ฐานลูกค้าสมาชิกของแบรนด์เพิ่มขึ้นถึง 25% ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อายุน้อยกว่า 30 ปี จากนี้จะมีการต่อยอดหาแคมเปญการตลาดใหม่ๆ เข้ามาเพื่อให้มีความต่อเนื่อง
ถึงวันนี้กาแฟพันธุ์ไทยไม่จำกัดอยู่แค่เพียงการเป็นร้านในปั๊มน้ำมัน แม้ปัจจุบันสัดส่วนของสาขาตอนนี้เป็นร้านที่ตั้งอยู่ในปั๊ม 60% และนอกปั๊ม 40% ซึ่งกลยุทธ์ใหญ่ๆ ของกาแฟพันธุ์ไทยคือการเร่งขยายสาขาไปในพื้นที่ทราฟฟิกสูง โดยปีนี้ตั้งเป้าเปิดสาขาใหม่ให้ครบ 1,282-1,300 สาขา ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 1,126 สาขา
เป้าใหญ่ใน 3 ปีที่ตั้งใจจะเปิดให้ได้ 5,000 สาขา แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจริงๆ การเปิดสาขาจำนวนมากขนาดนี้มีปัญหาเรื่องการพัฒนาพนักงาน และต้องใช้คนจำนวนมาก ซึ่งถ้าเปิดได้ครบก็จะเป็นแซงหน้าคู่แข่งที่อยู่ในตลาดเดียวกันได้เลย และ “เราตั้งใจจะเป็นเบอร์ 1 ในแง่ของจำนวนสาขาให้ได้” พิทักษ์ระบุ
ขณะเดียวกันในแง่ของภาพลักษณ์กาแฟพันธุ์ไทยจะมีวาไรตี้และมีลูกค้าตั้งแต่ผู้ใหญ่ถึงวัยรุ่น และสิ่งที่บริษัทวาดฝันไว้คืออยากให้ร้านกาแฟพันธุ์ไทยเป็นร้านกาแฟระดับภูมิภาค เป็น Soft Power ให้ต่างชาตินึกถึงเมื่อมาเที่ยวประเทศไทย
ด้าน สุขวสา ภูชัชวนิชกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันกาแฟพันธุ์ไทยถือส่วนแบ่งตลาดกาแฟในไทยอยู่ราวๆ 12% หลังจากเดินหน้าตามแผนการขยายสาขาได้ มั่นใจว่าจะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้ ซึ่งจะสอดรับกับสิ่งที่พิทักษ์ หัวเรือใหญ่ของ PTG เคยประกาศเอาไว้เมื่อปีที่แล้วว่ากาแฟพันธุ์ไทยต้องการส่วนแบ่งในตลาดกาแฟถึง 45% ซึ่งทีมผู้บริหารคาดว่าจะทำได้ในอีก 6-7 ปีข้างหน้า
เมื่อเจาะลึกดูเทรนด์การเติบโตของตลาดกาแฟไทย ปัจจุบันมีมูลค่าอยู่ที่ 6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นกาแฟในบ้าน 3.3 ล้านบาท และกาแฟนอกบ้าน 2.7 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่ปี 2564-2566 มีการเติบโตเฉลี่ย 8.55% ต่อปี ผู้บริโภคดื่มกาแฟเพิ่มขึ้น
แต่ที่เห็นเปลี่ยนแปลงไปคือไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่ต้องการสัมผัสประสบการณ์รสชาติกาแฟที่หลากหลายขึ้น และที่ได้รับการตอบรับดีก็คือกาแฟชนิดพิเศษ (Specialty Coffee) มีการเติบโตสูงเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5-10% ต่อปี และคิดเป็นสัดส่วน 11% ของตลาดกาแฟทั้งหมดและกาแฟชนิดพิเศษ รวมถึงการขายที่ราคาเริ่มต้น 180-500 บาทต่อแก้วซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดกาแฟด้วย
สอดคล้องกับตลาดกาแฟพิเศษในตลาดโลกและเมล็ดกาแฟที่มาจากแหล่งเพาะปลูกเดียว (Single Origin) ก็เติบโตเช่นกันโดยมีสัดส่วน 20% ของตลาดกาแฟทั่วโลก จากเทรนด์ของกาแฟที่โตขึ้นทำให้ PTG ร่วมมือกับ กรีโนเวท ส่งเสริมเกษตรกรในตำบลปางหินฝน อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ผ่าน ‘โครงการพัฒนาและส่งเสริมการปลูกกาแฟอะราบิก้าบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน’
ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วม 24 ราย ปลูกกาแฟ 68,000 ต้น บนพื้นที่กว่า 200 ไร่ และมีการส่งเสริมการปลูกกาแฟไปแล้ว 1,400 ไร่ รวม 420,000 ต้น โดยมีเกษตรกรกว่า 400 รายเข้าร่วม และมีเป้าหมายคือการรับซื้อกาแฟสารให้ได้ 8,000 ตันจากพื้นที่กว่า 55,000 ไร่
สำหรับการร่วมมือดังกล่าวจะทำให้ต้นน้ำซึ่งเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบของกาแฟพันธุ์ไทยมีความแข็งแกร่ง และเพียงพอต่อความต้องการตลาด
อย่างไรก็ตาม PTG ทำธุรกิจหลากหลาย เช่น กลุ่มธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิงและธุรกิจค้าปลีก, ก๊าซ LPG, พลังงานทดแทนและการลงทุน รวมทั้งอาหารและเครื่องดื่ม
นอกจากจะมีแบรนด์กาแฟพันธุ์ไทยแล้วยังมีแบรนด์ Coffee World ซึ่งเป็นร้านกาแฟพรีเมียม ปัจจุบันมี 22 สาขา วางแผนจะขยายเพิ่มอย่างน้อย 5 สาขา และอยู่ระหว่างการปรับธุรกิจเพื่อรุกตลาดมากขึ้น
สุดท้ายความต่างของ Coffee World และกาแฟพันธุ์ไทย คือเรื่อง Customer Profile โดยราคาของ Coffee World เริ่มต้นที่ 100 บาท มีคู่แข่งเป็นแบรนด์ Starbucks โดยตรง ส่วนพันธุ์ไทยจะเริ่มต้นที่ 70 บาท มีคู่แข่งเป็นแบรนด์ Café Amazon