วันนี้ (13 กุมภาพันธ์) การศึกษาจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (UM) ของสหรัฐอเมริกา บ่งชี้หลักฐานว่า วิธีลงโทษอย่าง ‘การตี’ และ ‘การมีประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก’ (ACE) ส่งผลกระทบต่อปัญหาพฤติกรรมการแสดงออกที่ก้าวร้าว ขาดการควบคุม (EB) ในเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี
การมีประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก ครอบคลุมการทำร้ายทางร่างกายและจิตใจ การเพิกเฉยละเลย การใช้ความรุนแรงในคู่รัก (IPV) ปัญหาสุขภาพจิตของพ่อแม่ การใช้สารเสพติดของพ่อแม่ กรณีพ่อแม่ต้องโทษจำคุก และกรณีพ่อแม่เสียชีวิต
คณะนักวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลจาก 2,380 ครอบครัวของการศึกษาครอบครัวเปราะบาง และความเป็นอยู่ที่ดีของเด็ก (Fragile Families and Child Wellbeing Study) โดยกลุ่มคุณแม่รายงานปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าว และพฤติกรรมเก็บกดในเด็กอายุ 5 ปี และการมีประสบการณ์เลวร้าย และการถูกตีในเด็กอายุ 3 ปี
การศึกษาพบว่า เด็กอายุ 3 ปีที่มีประสบการณ์เลวร้าย และถูกลงโทษด้วยการตี สุ่มเสี่ยงจะมีปัญหาพฤติกรรมการแสดงออกที่ก้าวร้าว ขาดการควบคุมเพิ่มขึ้นเมื่ออายุ 5 ปี โดยผลการศึกษานี้สนับสนุนข้อเรียกร้องพิจารณาการลงโทษทางร่างกาย เป็นหนึ่งในการมีประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก
จูเลีย มา ผู้เขียนหลักของงานวิจัย และเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านสังคมสงเคราะห์ ประจำมหาวิทยาลัยมิชิแกนในเมืองฟลินต์ รัฐมิชิแกน กล่าวว่า ผลการศึกษาบ่งชี้ว่า การตีและการมีประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก มีแนวโน้มส่งผลกระทบเชิงลบที่เป็นอันตรายเหมือนกัน
อนึ่ง ผลการศึกษาถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยฯ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และตีพิมพ์ลงในวารสารกุมารเวชศาสตร์ (Journal of Pediatrics)
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: สำนักข่าวซินหัว